คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7810/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การของรัฐบาลพ.ศ. 2496 โดยจัดตั้งขึ้นตาม พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ. 2517 โจทก์จึงมีอำนาจเป็นตัวการที่จะกระทำ การใดหรือทำนิติกรรมใด ๆ ได้ด้วยตัวเองตามกฎหมาย เป็นการ ดำเนินการในฐานะตัวแทนของ รัฐบาลและกระทรวง ทบวง กรม ที่รับนโยบายรัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม มาปฏิบัติในนามของโจทก์เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร หาใช่โจทก์กระทำการใด ๆ ในฐานะที่เป็นตัวแทนกระทำการแทนตัวการที่ต้องมีหนังสือมอบอำนาจตั้งตัวแทนไม่ โจทก์จึงมีอำนาจกระทำนิติกรรมใด ๆ กับจำเลยได้ โดยไม่ต้องได้รับมอบอำนาจจากกระทรวงทบวง กรม แต่อย่างใด และมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ตามกฎหมาย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรโจทก์มีอำนาจกระทำการใด ๆหรือนิติกรรมใด ๆ ได้ด้วยตนเองตามกฎหมายแล้ว เมื่อป. ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการของโจทก์ ป. จึงมีอำนาจกระทำการใดหรือทำนิติกรรมใด ๆ รวมทั้งการฟ้องคดีและอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับกิจการของโจทก์ตามวัตถุประสงค์ที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ. 2517 แทนโจทก์ได้ โดยไม่ต้องได้รับมอบอำนาจแต่งตั้ง เป็นตัวแทนของกระทรวง ทบวง กรมใด ๆ จำเลยทำสัญญาซื้อเชื่อปุ๋ยจากโจทก์และได้รับปุ๋ยจากโจทก์ทุกครั้ง อีกทั้งตามข้อบังคับของจำเลยได้ระบุผู้ที่มีอำนาจลงลายมือชื่อในนิติกรรมและเอกสารทั้งปวงแทนจำเลยว่าจะต้องเป็นประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการหรือเลขานุการหรือเหรัญญิกหรือผู้จัดการคนใดคนหนึ่ง เมื่อตามสัญญาซื้อเชื่อปุ๋ยดังกล่าวมี ผ.ประธานกรรมการและส.เลขานุการเป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาตามความประสงค์ในการประชุมคณะกรรมการของจำเลย สัญญาซื้อเชื่อปุ๋ยดังกล่าวจึงมีผลผูกพันจำเลยตามกฎหมาย แม้ในการซื้อปุ๋ยแต่ละครั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะนายทะเบียนกลุ่มเกษตรกรไม่เคยอนุมัติวงเงินซื้อปุ๋ยและไม่เคยให้ความเห็นชอบให้จำเลยซื้อเชื่อปุ๋ยก็ตาม ก็เป็นเรื่องไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของจำเลยเท่านั้น หามีผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของสัญญาซื้อเชื่อปุ๋ยระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรพ.ศ. 2517 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 (1) (8) หาใช่ประกอบ การค้าโดยทำการซื้อสินค้ามาแล้วขายไปเพื่อหากำไรตามปกติ จึงมิใช่เป็นพ่อค้าตามมาตรา 165 (1) จะนำอายุความ 2 ปี มาใช้บังคับในกรณีขอให้ลูกหนี้ชำระค่าปุ๋ยไม่ได้ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164 (เดิม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ.2496 โดยจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ. 2517 มีวัตถุประสงค์ให้การช่วยเหลือเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในการผลิตและการจำหน่ายซึ่งผลิตผลของเกษตรกรดำเนินการในฐานะตัวแทนของรัฐบาลและกระทรวง ทบวง กรมเพื่อจัดหาปัจจัยในการผลิตและเครื่องอุปโภคอันจำเป็นจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในราคาอันสมควรปัจจุบันมีร้อยตรีประจวบ บุรพรัตน์เป็นผู้อำนวยการทำหน้าที่บริหารงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสหกรณ์พ.ศ. 2511 โดยจดทะเบียนเป็นกลุ่มเกษตรกรต่อนายทะเบียนกลุ่มเกษตรกรจังหวัดนนทบุรีและมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกดำเนินกิจการร่วมกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการประกอบอาชีพเกษตรกร รวมทั้งซื้อผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากบุคคลอื่นมาจัดการหรือแปรรูปออกขายเท่าที่จำเป็นแก่การดำเนินงานโดยประหยัดและจัดหาสิ่งที่สมาชิกต้องการมาจำหน่าย มีคณะกรรมการดำเนินการเป็นผู้ดำเนินกิจการทั้งปวงและในการดำเนินกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก คณะกรรมการดำเนินการจะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 17 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ค่าซื้อปุ๋ยของจำเลยที่ 1 กับโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1ชำระต้นเงินพร้อมทั้งดอกเบี้ยจำนวน 2,586,719.37 บาทโดยให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมรับผิดจำนวน 999,962.11 บาทให้จำเลยที่ 6 ถึงที่ 11 ร่วมรับผิดจำนวน 814,146.30 บาทและให้จำเลยที่ 12 ถึงที่ 17 ร่วมรับผิดจำนวน 185,815.81 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับจำเลยที่ 1จากต้นเงินจำนวน 1,576,286 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5จากต้นเงินจำนวน 609,155 บาท จำเลยที่ 6 ถึงที่ 11จากต้นเงินจำนวน 492,400 บาท และจำเลยที่ 12 ถึงที่ 17จากต้นเงินจำนวน 116,755 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 7 ให้การว่า หนี้ของโจทก์ทั้งหมดที่ฟ้องขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 7 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 และที่ 8 ถึงที่ 17 ให้การว่าร้อยตรีประจวบ บุรพรัตน์ มิได้เป็นผู้อำนวยการซึ่งทำหน้าที่บริหารงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและฟ้องโจทก์ล่วงเลยกำหนดอายุความ 2 ปีแล้ว นับแต่วันที่โจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปุ๋ยให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าปุ๋ยในปี 2520 จำนวน 967,131 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2524เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 619,626.26 บาท ให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้ค่าปุ๋ยในปี 2522 จำนวน 492,400 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2523เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 321,746.30 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ชำระแทน และให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าปุ๋ยในปี 2524 จำนวน 166,755 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 69,060.81 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 และจำเลยที่ 12 ถึงที่ 17 ชำระแทน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การของรัฐบาลพ.ศ. 2496 โดยจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ. 2517 มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในการผลิตการจำหน่ายซึ่งผลิตผลเกษตรกรรมของเกษตรกรดำเนินการในฐานะตัวแทนของรัฐบาลและกระทรวง ทบวง กรมเพื่อจัดหาปัจจัยในการผลิตเครื่องอุปโภคและบริโภคอันจำเป็นจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในราคาอันสมควร โจทก์จึงมีอำนาจเป็นตัวการที่จะกระทำการใดหรือทำนิติกรรมใด ๆ ได้ด้วยตัวเองตามกฎหมาย เป็นการดำเนินการในฐานะตัวแทนของรัฐบาลและกระทรวง ทบวง กรมที่รับนโยบายรัฐบาลกระทรวง ทบวง กรม มาปฏิบัติในนามของโจทก์เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร หาใช่โจทก์กระทำการใด ๆ ในฐานะที่เป็นตัวแทนกระทำการแทนตัวการที่ต้องมีหนังสือมอบอำนาจตั้งตัวแทนตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่ โจทก์จึงมีอำนาจกระทำนิติกรรมใด ๆ กับจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่ต้องได้รับมอบอำนาจจากกระทรวง ทบวง กรมแต่อย่างใด และมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ได้ตามกฎหมาย และเมื่อโจทก์มีอำนาจกระทำการใด ๆ หรือนิติกรรมใด ๆ ได้ด้วยตนเองตามกฎหมายแล้วเมื่อร้อยตรีประจวบ บุรพรัตน์ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการของโจทก์ ร้อยตรีประจวบจึงมีอำนาจกระทำการใดหรือทำนิติกรรมใด ๆ เช่น การขายปุ๋ยให้แก่กลุ่มเกษตรกร การฟ้องคดีและอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับกิจการของโจทก์ตามวัตถุประสงค์ที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ. 2517 แทนโจทก์ได้ โดยไม่ต้องได้รับมอบอำนาจแต่งตั้งเป็นตัวแทนของกระทรวง ทบวง กรมใด ๆ
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อต่อไปมีว่าการที่จำเลยที่ 1 ซื้อปุ๋ยและรับปุ๋ยไปจากโจทก์ทุกครั้งโดยนายทะเบียนกลุ่มเกษตรกรประจำจังหวัดนนทบุรีคือผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรียังไม่ได้อนุมัติวงเงินซื้อปุ๋ยให้จำเลยที่ 1 จะถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ซื้อปุ๋ยและรับมอบปุ๋ยจากโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อเชื่อปุ๋ยจากโจทก์และได้รับปุ๋ยจากโจทก์ทุกครั้ง เมื่อปรากฏว่าตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 71(2) ได้ระบุผู้ที่มีอำนาจลงลายมือชื่อในนิติกรรมและเอกสารทั้งปวงแทนจำเลยที่ 1 ว่าจะต้องเป็นประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการหรือเลขานุการหรือเหรัญญิกหรือผู้จัดการคนใดคนหนึ่ง ซึ่งตามสัญญาซื้อเชื่อปุ๋ยดังกล่าวมีนายผล พรหมยิ้มแย้ม ประธานกรรมการ และนายสุข น้อยลา เลขานุการเป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาเหล่านั้นตามความประสงค์ในการประชุมคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 สัญญาซื้อเชื่อปุ๋ยดังกล่าวจึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 1ตามกฎหมาย แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าในการซื้อปุ๋ยแต่ละครั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีในฐานะนายทะเบียนกลุ่มเกษตรกรไม่เคยอนุมัติวงเงินซื้อปุ๋ยและไม่เคยให้ความเห็นชอบให้จำเลยที่ 1 ซื้อเชื่อปุ๋ยก็ตาม ก็เป็นเรื่องไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 เองเท่านั้น หามีผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของสัญญาซื้อเชื่อปุ๋ยระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้ายมีว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ประเด็นข้อนี้จำเลยที่ 1อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2ไม่รับวินิจฉัยให้ซึ่งเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อจำเลยที่ 1ได้ยกประเด็นดังกล่าวเป็นข้อฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นข้อนี้เสียเองโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่ และเห็นว่าองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ. 2517 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6(1)(8) หาใช่ประกอบการค้าโดยทำการซื้อสินค้ามาแล้วขายไปเพื่อหากำไรตามปกติ จึงมิใช่เป็นพ่อค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 165(1) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น จะนำอายุความ 2 ปี มาใช้บังคับในกรณีขอให้ลูกหนี้ชำระค่าปุ๋ยไม่ได้ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164
พิพากษายืน

Share