คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6364/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อุทธรณ์ของโจทก์มิได้โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาเพียงแต่โต้แย้งในปัญหาข้อกฎหมายว่า จากข้อเท็จจริงที่ยุติดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย นอกจากโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจมีวัตถุประสงค์ ในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าและดำเนินธุรกิจ เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2506 มาตรา 6 แล้ว ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) ได้เปลี่ยนคำว่า “พ่อค้า” ตามมาตรา 165(1) เดิม เป็นคำว่า”ผู้ประกอบการค้า” ซึ่งมีความหมายกว้างขึ้น ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจึงตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ประกอบการค้า หนี้ค่ากระแสไฟฟ้าตามใบเสร็จรับเงินฉบับพิพาทได้มีการ จดหน่วยกระแสไฟฟ้าครั้งสุดท้ายวันที่ 12 เมษายน 2527 ซึ่งโจทก์อาจทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันดังกล่าว อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2527 เป็นต้นมา โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่ากระแสไฟฟ้าอันเป็น การเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2537 ย่อมเกินกว่า 2 ปี สิทธิเรียกร้องหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าตามเอกสารดังกล่าวจึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 มีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค เมื่อวันที่7 สิงหาคม 2510 จำเลยทำหนังสือเป็นผู้ขอเปลี่ยนแปลงการใช้ไฟฟ้าของโจทก์ โดยสัญญาว่าจะจ่ายเงินค่าแรงงาน ค่าสิ่งของและจะชำระค่าไฟฟ้าตามใบเก็บเงินทุก ๆ เดือน ในการใช้กระแสไฟฟ้าของโจทก์ผ่านเครื่องวัดหน่วยกระแสไฟฟ้าเลขที่ ต.-193 และจำเลยใช้กระแสไฟฟ้าที่โจทก์จำหน่ายผ่านเครื่องวัดหน่วยกระแสไฟฟ้าเลขที่ดังกล่าว จนกระทั่งจำเลยมีหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าค้างชำระต่อโจทก์เป็นเงิน 36,948.54 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 64,363.84 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน จำนวน36,948.54 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ทราบการกระทำผิดตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2527 แต่โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 15 เมษายน 2537 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน23,937.41 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยคืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์และจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหามาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.6 ตามฎีกาของโจทก์ว่าอุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าตามใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้าเอกสารหมาย จ.6 จำนวน 13,011.13 บาท ซึ่งได้มีการจดหน่วยการใช้กระแสไฟฟ้าครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2527 อายุความเริ่มนับแต่วันที่ 13 เมษายน 2527 ครบกำหนด 10 ปี ในวันที่13 เมษายน 2537 แต่วันที่ 12 ถึง 14 เมษายน 2537 เป็นวันหยุดราชการตามประเพณี โจทก์จึงยื่นฟ้องในวันที่ 15 เมษายน 2537 ได้นั้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายหรือไม่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้ประกอบการค้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) อายุความฟ้องเรียกหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าค้างชำระไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ซึ่งโจทก์อาจทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ตั้งแต่การจดหน่วยการใช้กระแสไฟฟ้าครั้งสุดท้ายของแต่ละครั้งเป็นเวลาแรก จึงเริ่มนับอายุความตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป เมื่อใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.6 ได้มีการจดหน่วยการใช้กระแสไฟฟ้าครั้งสุดท้ายวันที่ 12 เมษายน 2537อายุความจึงเริ่มนับจากวันที่ 13 เมษายน 2527 เป็นต้นมานับถึงวันฟ้องคือวันที่ 15 เมษายน 2537 ฟ้องโจทก์สำหรับหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าตามเอกสารหมาย จ.6 จึงขาดอายุความดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวโจทก์มิได้โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วแต่อย่างใด เพียงแต่โต้แย้งในปัญหาข้อกฎหมายว่าจากข้อเท็จจริงที่ยุติดังกล่าวฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ยังไม่ขาดอายุความจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้และพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยคดีไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ใหม่สำหรับปัญหาข้อกฎหมายในประเด็นที่ว่าสิทธิเรียกร้องหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.6 ขาดอายุความหรือไม่นั้น ในเบื้องต้นเห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์เป็น”ผู้ประกอบการค้า” ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(1) หรือไม่ พระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวงพ.ศ. 2501 มาตรา 6 บัญญัติว่า “ให้จัดตั้งการไฟฟ้าขึ้นเรียกว่า”การไฟฟ้านครหลวง”มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ (2) จัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าและ (3) ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การไฟฟ้านครหลวง” ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การไฟฟ้านครหลวงหรือโจทก์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจมีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าและดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) ได้เปลี่ยนคำว่า “พ่อค้า” ตามมาตรา 165(1) เดิม เป็นคำว่า”ผู้ประกอบการค้า” ซึ่งมีความหมายกว้างขึ้น ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจึงตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ประกอบการค้า ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) คดีนี้หนี้ค่ากระแสไฟฟ้าตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.6 ได้มีการจดหน่วยกระแสไฟฟ้าครั้งสุดท้าย วันที่ 12 เมษายน 2527ซึ่งโจทก์อาจทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันดังกล่าวอายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2527 เป็นต้นมาโจทก์ฟ้องเรียกเงินค่ากระแสไฟฟ้าอันเป็นการเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2537 ย่อมเกินกว่า 2 ปี สิทธิเรียกร้องหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าจำนวน 13,011.13 บาท ตามเอกสารหมาย จ.6 จึงขาดอายุความ
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่คงให้คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์และจำเลย

Share