แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พนักงานรัฐวิสาหกิจฟ้องเรียกค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน หลังจาก พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มีผลใช้บังคับ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน เลิกจ้างเพราะลูกจ้างมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ หาใช่ลูกจ้างออกจากงานไปเองไม่ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 38,040 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย การที่โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ เป็นเรื่องที่โจทก์พ้นจากตำแหน่งโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นการเลิกจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ทั้งก่อนที่โจทก์ออกจากงานมีพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ออกมาบังคับใช้ ซึ่งกำหนดให้กิจการรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ไม่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ที่ศาลแรงงานกลาง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน38,040 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยเข้าทำงานตั้งแต่ พ.ศ. 2511 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2534จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุตามประกาศเขตบำรุงทางกรุงเทพฯ และบัญชีแนบท้ายตามเอกสารท้ายฟ้อง เห็นว่า ตามประกาศเขตบำรุงทางกรุงเทพฯ และบัญชีแนบท้ายดังกล่าว จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์กับพวกพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ เนื่องจากมีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามความในมาตรา 33 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 และตามมาตรา 11วรรคสุดท้ายแห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้มีคำสั่งให้เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์มีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หาใช่โจทก์ออกจากงานไปเองไม่ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุ 60 ปี บริบูรณ์ มีผลเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยแม้ขณะที่โจทก์ออกจากงานได้มีพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 กำหนดมิให้พนักงานรัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 แต่สิทธิการรับค่าชดเชยของโจทก์มิได้เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 แต่อย่างใด เป็นสิทธิของโจทก์ที่เรียกร้องตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานการที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตาม มาตรา 8(2)แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง และศาลแรงงานกลางมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้…”
พิพากษายืน.