คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1107/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย การเรียกร้องหรือการได้มาซึ่งสิทธิทั้งสองประเภทจึงเป็นสิทธิของลูกจ้าง สิทธิดังกล่าวมิใช่สินสมรส ฟ้องของโจทก์จึงมิใช่ฟ้องเพื่อจัดการสินสมรสหรือฟ้องเกี่ยวแก่สินสมรส โจทก์มีอำนาจฟ้องตามลำพังตน ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามี

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวน ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาพิพากษา
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทุกคนเป็นลูกจ้างจำเลย เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๒๕ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทุกคนโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่คืนเงินประกันชุดทำงานและไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๔ และ พ.ศ. ๒๕๒๕ ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินประกันการเข้าทำงาน ค่าประกันชุดทำงาน ค่าชดเชย และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ทุกคน
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การเป็นทำนองเดียวกันว่า โจทก์ที่ ๔๒, ๕๓ และ ๕๔ซึ่งเป็นผู้เยาว์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะหนังสือให้ความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นเอกสารปลอม และโจทก์ที่ ๑๙, ๒๐, ๒๕, ๒๙, ๓๐, ๓๘ และ ๕๐ ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามี โจทก์ทุกคนยินยอมให้จำเลยเลิกสัญญาจ้างโดยสมัครใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย จำเลยมิได้เลิกจ้าง โจทก์ทุกคนจึงไม่มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย โจทก์ทุกคนได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายไม่มากเท่าที่ฟ้อง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เงินประกันการเข้าทำงาน ค่าประกันชุดทำงาน และค่าหยุดพักผ่อนประจำปี หากมี ก็ไม่มากเท่าที่ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา จำเลยแถลงรับว่าโจทก์ที่ ๕๓ และ ๕๔ ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมให้ฟ้องคดีแล้ว และโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖, ที่ ๘, ที่ ๑๒ ถึง ๑๔, ที่ ๑๖, ที่ ๑๘, ที่ ๓๑, ที่ ๓๔, ที่ ๓๗ ถึงที่ ๓๙, ที่ ๔๑ ถึงที่ ๔๓, ที่ ๔๖, ที่ ๔๘, ที่ ๕๐, ที่ ๕๕ และที่ ๕๗ขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าประกันการเข้าทำงาน ค่าประกันชุดทำงาน แก่โจทก์ที่ยังติดใจดำเนินคดี
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา แต่ศาลแรงงานกลางรับอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า โจทก์ซึ่งเป็นหญิงมีสามีฟ้องคดีนี้ต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามีก่อนหรือไม่
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย คือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ และตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ การเรียกร้องหรือการได้มาซึ่งสิทธิทั้งสองประเภทนั้น จึงเป็นสิทธิของลูกจ้าง สิทธิดังกล่าวหาใช่เป็นสินสมรสไม่ ฟ้องของโจทก์จึงมิใช่ฟ้องเพื่อจัดการสินสมรสหรือมิใช่ฟ้องเกี่ยวแก่สินสมรส โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามลำพังตน ไม่จำเป็นที่สามีต้องให้ความยินยอมเป็นหนังสือก่อน
พิพากษายืน

Share