แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายเป็นหนี้มารดาของจำเลย และผิดนัดไม่ชำระหนี้อันเป็นกรณีที่มารดาของจำเลยถูกโต้แย้งสิทธิและต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้ผู้เสียหายให้ชำระหนี้ตามที่บัญญัติในมาตรา 55 และบทบัญญัติทั้งปวงแห่ง ป.วิ.พ.ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยในการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมหรือจะยอมชำระหนี้นั้นให้มารดาจำเลย และไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 337 กลายเป็นการกระทำที่ไม่เป็นความผิด
ย่อยาว
คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 776/2544 แต่คดีสำนวนดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2543 เวลากลางวันจำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน คือ จำเลยมีอาวุธปืนสั้นออโตเมติกไม่ทราบชนิดและขนาด 1 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุนปืนใช้ยิงได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่และจำเลยพาอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ บริเวณป้อมมหากาฬ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ทั้งไม่เป็นกรณีที่จำเลยต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ และไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวจ่อเล็งที่หน้าอกและศีรษะนางสาวชลีพร ผู้เสียหายและขู่เข็ญผู้เสียหายให้ยอมให้เงินจำนวน 12,000 บาท แก่มารดาจำเลยเพื่อชำระหนี้ ถ้าไม่นำเงินไปชำระหนี้ให้แก่มารดาจำเลย จำเลยจะฆ่าผู้เสียหายอันเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายจนผู้เสียหายกลัวจะเกิดอันตรายต่อชีวิต จึงยอมมอบเงินให้มารดาจำเลยจำนวน 12,000 บาท ตามที่จำเลยขู่เข็ญ จากนั้นจำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงผู้เสียหายที่ศีรษะโดยเจตนาฆ่า จำเลยได้ลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้วแต่ไม่บรรลุผลเนื่องจากกระสุนปืนไม่ลั่นและมีบุคคลอื่นมานำจำเลยออกไป ผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 288, 337 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และนับโทษของจำเลยต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 690/2544 (ที่ถูกเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 776/2544) ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคสอง, 371 (ที่ถูกต้องระบุเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91) จำเลยอายุไม่เกิน 20 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานกรรโชกทรัพย์ลงโทษจำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมืองโดยไม่มีเหตุอันสมควรปรับ 60 บาท รวมจำคุก 2 ปี ปรับ 60 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ไม่ลงโทษปรับจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าและความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ไม่อุทธรณ์ความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยผิดกฎหมาย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นไม่ลงโทษ โจทก์ไม่ฎีกา ความผิดดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีคงมีปัญหาในชั้นฎีกาตามที่จำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานกรรโชกโดยขู่ว่าจะฆ่าผู้เสียหาย หรือมีอาวุธปืนติดตัวมาขู่เข็ญตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาหรือไม่ และมีเหตุสมควรรอการลงโทษแก่จำเลยหรือไม่
ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้เถียงกันฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นหลานของนางสาวชุลีพรผู้เสียหายโดยจำเลยเป็นบุตรของนางฐิติพรซึ่งเป็นบุตรของนางอรุณ และนางอรุณเป็นน้องของบิดาของผู้เสียหาย เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2543 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา จำเลยไปพบผู้เสียหายที่ร้านขายดอกไม้ไฟของผู้เสียหายซึ่งตั้งอยู่ที่ชุมชนป้อมมหากาฬ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร จำเลยทวงถามผู้เสียหายให้ชำระเงินที่ผู้เสียหายค้างชำระแก่นางฐิติพร แต่ผู้เสียหายปฏิเสธว่ายังไม่มีเงิน จำเลยจึงออกไปจากร้านของผู้เสียหาย จากนั้นผู้เสียหายกับจำเลยต่างไปที่บ้านของนางอรุณซึ่งอยู่ใกล้เคียงแล้วเกิดโต้เถียงกัน แต่มีผู้เข้าห้ามปราม นายอาทิตย์พวกของจำเลยที่มากับจำเลยได้ท้าท้ายผู้เสียหายให้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ แล้วจำเลยกับพวกพากันขึ้นรถยนต์กระบะขับจากไป ส่วนผู้เสียหายโทรศัพท์แจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ เวลาต่อมาร้อยตำรวจเอกเฉลิมพล กับพวกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์เดินทางมาถึงที่เกิดเหตุแล้วออกติดตามไปจับกุมจำเลยได้ขณะกำลังเดินทางไปในรถยนต์กระบะร่วมกับนายอาทิตย์ โดยพบกระสุนปืนจำนวนหนึ่งอยู่ในรถยนต์กระบะดังกล่าวจึงยึดเป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเป็นคดีนี้…
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า พยานโจทก์มีผู้เสียหาย นางศรินทร์ทิพย์ นางพัชรี และนางสาวประภาภรณ์เป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันตรงกันว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยเดินเข้าไปในร้านของผู้เสียหายพูดคุยกับผู้เสียหายครู่หนึ่งแล้วเดินทางออกจากร้านไปประมาณ 10 นาที จำเลยเดินทางกลับมาหาผู้เสียหายใหม่ มีการโต้เถียงกันระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยและจำเลยชักอาวุธปืนสั้นออกมาจ้องไปที่ผู้เสียหายก่อนเดินออกจากร้านไป ส่วนผู้เสียหายก็เดินออกจากร้านไปในเวลาไล่เลี่ยกัน จำเลยไม่ได้ปฏิเสธว่า นางศรินทร์ทิพย์ นางพัชรี และนางสาวประภาภรณ์ประจักษ์พยานโจทก์ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุในขณะเกิดเหตุ จึงเชื่อได้ว่าประจักษ์พยานโจทก์ดังกล่าวรู้เห็นเหตุการณ์ตามที่เบิกความ การที่ประจักษ์พยานโจทก์ดังกล่าวเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายหาได้แสดงว่าประจักษ์พยานโจทก์ดังกล่าวจะต้องเบิกความไม่ตรงตามความเป็นจริงแต่เบิกความปรักปรำจำเลยไปตามคำเบิกความของผู้เสียหายดังที่จำเลยฎีกาเสมอไปไม่ การที่ผู้เสียหายออกจากร้านของผู้เสียหายไปบ้านของนางอรุณ แทบจะทันทีทันใดหลังจากที่จำเลยก่อเหตุในร้านของผู้เสียหาย และจำเลยเข้าไปหาผู้เสียหายในบ้านของนางอรุณจนเกิดโต้เถียงกันขึ้นอีก ตลอดจนการท้าทายผู้เสียหายให้แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของนายอาทิตย์พวกของจำเลย และเจ้าพนักงานตำรวจมายังที่เกิดเหตุแทบจะทันที่ทันใดที่ได้รับแจ้งเหตุแล้วติดตามไปจับกุมจำเลยทันทีตามที่จำเลยนำสืบ ล้วนเจือสมสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหาย เป็นเหตุผลสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหาย และประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสามให้มีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัย เพราะผู้เสียหายเป็นญาติผู้ใหญ่ของจำเลย หากจำเลยไม่ใช้อาวุธปืนข่มขู่ผู้เสียหายดังที่โจทก์นำสืบ ย่อมไม่มีเหตุผลที่ผู้เสียหายจะละทิ้งบุตรที่ผู้เสียหายกำลังดูแลอยู่ในขณะนั้นแล้วไปยังบ้านนางอรุณผู้เป็นยายของจำเลยทันทีทั้งไม่มีเหตุที่ทำให้นายอาทิตย์พวกของจำเลยท้าทายผู้เสียหายให้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ เพราะลำพังการโต้เถียงทะเลาะหรือด่าทอกันเนื่องจากทวงหนี้โดยไม่มีการกระทำที่มีลักษณะเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายร่างกายซึ่งกันและกันหรือมีอาวุธ ย่อมไม่ถึงขนาดเป็นเหตุให้เห็นว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การที่ร้อยตำรวจเอกเฉลิมพลกับพวกออกติดตามและจับกุมจำเลยได้ทันทีหลังจากไม่พบจำเลยในที่เกิดเหตุ ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนให้เชื่อว่าผู้เสียหายกับประจักษ์พยานโจทก์อื่นได้ยืนยันต่อร้อยตำรวจเอกเฉลิมพลกับพวกว่าจำเลยใช้อาวุธปืนในการกระทำความผิด เพราะหากเป็นเพียงการโต้เถียงทะเลาะหรือด่าทอกันเนื่องจากการทวงหนี้ดังที่จำเลยอ้าง เมื่อเหตุการณ์ยุติลงโดยไม่มีเหตุร้ายใดๆ เกิดขึ้นและจำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีก็ไปจากที่เกิดเหตุแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องติดตามไปจับกุมจำเลยในทันที สำหรับบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งไม่ได้ระบุว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีอาวุธปืนติดตัวมานั้นอาจสืบเนื่องจากร้อยตำรวจเอกเฉลิมพลไม่พบอาวุธปืนที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดจึงไม่นับเป็นพิรุธถึงกับทำให้พยานหลักฐานของโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ ส่วนการไม่พบอาวุธปืนที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดก็ไม่ใช่ข้อที่แสดงว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าผู้เสียหายรับว่าเป็นหนี้มารดาของจำเลยจริง การกระทำของจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าผู้เสียหายเป็นหนี้มารดาของจำเลย และผิดนัดไม่ชำระหนี้ก็เป็นกรณีที่มารดาของจำเลยถูกโต้แย้งสิทธิและต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้ผู้เสียหายให้ชำระหนี้ ตามที่บัญญัติในมาตรา 55 และบทบัญญัติทั้งปวงแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หาก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยในการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมหรือจะยอมชำระหนี้นั้นไม่ และไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดฐานนั้นไม่ และไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 กลายเป็นการกระทำที่ไม่เป็นความผิด”
พิพากษายืน.