แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่างเป็นคู่ความในคดีแพ่งอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อและพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) โดยรับรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนไปในสภาพปัจจุบัน คดีถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสามในคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จะกล่าวอ้างหรือโต้เถียงให้ศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้แตกต่างไปจากเดิมไม่ได้ แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวด้วย เมื่อเป็นกรณีคำพิพากษาผูกพันคู่ความแล้วก็ต้องฟังว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้เพื่อให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้ออีก
โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่กำหนดให้จำเลยทั้งสามรับผิดชำระค่าเสียหาย 1,090,000 บาท แต่มาฎีกาโต้แย้งเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง การคำนวณทุนทรัพย์เพื่อเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาจึงต้องคำนวณจากทุนทรัพย์ 1,090,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่คู่ความยังโต้แย้งกันอยู่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2537 จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7 ฐ-0603 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ในราคา 2,757,009.23 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 46,728.97 บาท รวม 59 เดือน โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 32 โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่คืนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการนำรถออกให้เช่าซึ่งจะได้ค่าเช่าเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 10 เดือน เป็นเงิน 200,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,250,000 บาท และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ชำระค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาเสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์จริง โดยมีข้อตกลงว่าโจทก์จะเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้รับประกันภัยตลอดระยะเวลาที่เช่าซื้อ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของสัญญาทำให้จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ แต่โจทก์ผิดสัญญาไม่ทำสัญญาประกันภัยและชำระเบี้ยประกันภัยในปีที่ 3 จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาแล้วแต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ถึงงวดเดือนมีนาคม 2540 ต่อมาประมวณเดือนพฤษภาคม 2540 รถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดอุบัติเหตุได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ซ่อมแซมรถยนต์ที่เช่าซื้อให้อยู่ในสภาพเดิม แต่โจทก์ไม่ดำเนินการโดยอ้างว่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเบี้ยประกันภัย โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ค่าเช่าซื้อที่โจทก์ได้รับจากจำเลยคุ้มกับความเสียหายแล้ว จำเลยที่ 3 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 960,000 บาท ให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ 130,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 130,000 บาท นับแต่วันที่ 12 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ต่อไปอีกเดือนละ 13,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแต่ไม่เกิน 18 เดือน กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่โจทก์มิได้ฎีกาและจำเลยที่ 1 ยื่นคำแก้ฎีกาโต้แย้งกันว่า ภายหลังจากจำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ยื่ห้อ เบนซ์รุ่น อี 220 หมายเลขทะเบียน 7 ฐ-0603 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ 31 งวด ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2540 จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลย โดยอ้างว่าจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ที่เช่าซื้อตามที่ได้ตกลงกันไว้ในบันทึกต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อ ตามสำเนาคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 28326/2541 ของศาลชั้นต้น เอกสารหมาย ล.3 และต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2541 ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวพิพากษาให้จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) ชำระเงิน 758,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) และให้จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) รับรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนไปในสภาพปัจจุบัน จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) อุทธรณ์และฎีกา ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืนปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2962/2545 แนบท้ายคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ซึ่งคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว เห็นว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่างก็เป็นคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 28326/2541 ของศาลชั้นต้น ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อและพิพากษาให้จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) โดยรับรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนไปในสภาพปัจจุบัน ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน คดีถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าวจึงย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสามในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จะกล่าวอ้างหรือโต้เถียงให้ศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้แตกต่างไปจากเดิมไม่ได้ แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวด้วยก็ตาม เมื่อเป็นกรณีคำพิพากษาผูกพันคู่ความแล้วก็ต้องฟังว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้เพื่อให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้ออีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่กำหนดให้จำเลยทั้งสามรับผิดชำระค่าเสียหาย 1,090,000 บาท แต่มาฎีกาโต้แย้งเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง การคำนวณทุนทรัพย์เพื่อเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาจึงต้องคำนวณจากทุนทรัพย์ 1,090,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่คู่ความยังโต้แย้งกันอยู่ ที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจากทุนทรัพย์ 1,450,000 บาท เป็นการเสียที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์”
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในส่วนที่เสียเกินมาให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ