คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8794/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยจัดอาหารและหอพักให้พนักงานอาศัยเป็นสวัสดิการโดยคำนวณเป็นค่าอาหารและค่าหอพักเพื่อถือเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษี จึงเป็นเพียงสวัสดิการที่จำเลยจัดให้แก่ลูกจ้างเท่านั้นมิใช่ค่าจ้างตามความหมายของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระบุว่าค่าบริการเป็นเงินที่นายจ้างเรียกเก็บจากแขกผู้มาใช้บริการร้อยละสิบแล้วนำมาจ่ายให้แก่ลูกจ้างทุกคนจำนวนตั้งแต่ร้อยละเจ็ดสิบของค่าบริการทั้งหมดในปี 2540 จนถึงร้อยละเก้าสิบของค่าบริการทั้งหมดตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมาส่วนที่เหลืออีกร้อยละสิบนั้นจำเลยหักไว้เพื่อเป็นต้นทุนของสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ที่แตกหักชำรุดเสียหายในแต่ละเดือน เมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างแต่ละคราวจำเลยจะนำเงินค่าบริการมาแบ่งเฉลี่ยแก่ลูกจ้างคนละเท่าๆ กัน ดังนั้น การที่ลูกจ้างจะได้รับค่าบริการมากน้อยเพียงใดจึงขึ้นอยู่กับจำนวนค่าใช้จ่ายของลูกค้าเป็นสำคัญ การที่จำเลยเป็นผู้เรียกเก็บจากลูกค้าและเป็นผู้จัดแบ่งให้แก่ลูกจ้างเป็นกรณีที่จำเลยทำแทนลูกจ้างเพื่อความสะดวกและเพื่อให้กิจการของจำเลยดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ค่าบริการจึงมิใช่ค่าจ้างตามความหมายของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2546 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลได้รับเงินเดือนละ 51,303 บาท ค่าบริการเฉลี่ยเดือนละ 4,500 บาท ค่าอาหารเดือนละ 832 บาท รวมเป็นค่าจ้างเดือนละ 56,635 บาท ต่อมาวันที่ 8 ธันวาคม 2548 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยให้เหตุผลว่าโจทก์ไม่ผ่านการประเมินผลงาน ไม่สามารถทำงานกับผู้อื่นได้ดี มีปัญหาและอุปสรรคในการประสานงาน ใช้วาจาไม่สุภาพกับเพื่อนร่วมงาน โดยเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2548 โจทก์ไม่ได้กระทำการใดตามเหตุผลที่จำเลยเลิกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์แล้วแต่ไม่ครบถ้วน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มจำนวน 8,801 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าชดเชยเพิ่มจำนวน 15,996 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 679,620 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 51,303 บาท เท่านั้น ส่วนค่าอาหารและค่าบริการเป็นสวัสดิการที่จำเลยให้แก่โจทก์ไม่ใช่ค่าจ้างตามกฎหมาย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายแรงงาน ชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เป็นธรรมต่อโจทก์แล้วเพราะโจทก์ไม่ผ่านการประเมินผลงาน ประกอบกับโจทก์มีพฤติกรรมไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี โดยโจทก์ใช้กิริยาท่าทางวาจาที่ไม่สุภาพดุด่าเพื่อนร่วมงาน จำเลยจึงมีหนังสือบอกเลิกจ้างโจทก์โดยจ่ายค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะเรียกให้จำเลยรับผิดใช้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหาย และค่าเสียหายโอกาสพร้อมดอกเบี้ยได้อีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ตามข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานภาค 8 ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2546 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลได้รับเงินเดือนเดือนละ 51,303 บาท ค่าอาหารเดือนละ 832 บาท และค่าบริการที่เก็บจากลูกค้าเฉลี่ยจ่ายให้ประจำเดือนจำนวนไม่เท่ากันในแต่ละเดือนโดยค่าอาหารที่จ่ายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เอกสารหมาย ล.2 ซึ่งจำเลยไม่ได้จ่ายเป็นเงินให้แต่จัดเป็นอาหารให้พนักงานรับประทานส่วนค่าบริการที่จำเลยเก็บจากลูกค้าแล้วจะหักไว้ร้อยละสิบ แล้วจึงเฉลี่ยจ่ายให้พนักงานเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาจำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 โดยจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว และจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์จำนวน 153,909 บาท จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 89,366.39 บาท และศาลแรงงานภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่สามารถทำงานร่วมกับบุคคลอื่นในสถานประกอบการของจำเลยได้ดีเพียงพอเนื่องจากมักมีเหตุขัดแย้งกับผู้ร่วมงาน โดยโจทก์มีอารมณ์ฉุนเฉียวและใช้วาจาไม่สุภาพ จำเลยเลิกจ้างโจทก์มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
โจทก์อุทธรณ์ประการแรกตามข้อ 2.1 โดยยกคำพยานโจทก์ปากต่างๆ ขึ้นอ้างว่าข้อเท็จจริงโจทก์สามารถทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานหรือกรรมการลูกจ้างจนเกิดผลเป็นอย่างดี การกระทำของโจทก์ต่อพนักงานจำเลยเพียงแต่แสดงกิริยากวดขัน เข้มงวดเป็นคุณลักษณะที่ดีเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพและถูกต้อง และสาเหตุที่แท้จริงที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะจำเลยรับนางสาวภูริดามาทำหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลซ้ำซ้อนกับตำแหน่งของโจทก์ ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งของโจทก์ต่อไปนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 8 และยกข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายตามข้อ 2.2 ถึงข้อ 2.4 ว่า ค่าบริการและค่าอาหารที่จำเลยให้โจทก์เป็นค่าจ้างหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ค่าบริการเป็นเงินที่จำเลยเก็บรวบรวมจากลูกค้าที่มาใช้บริการโรงแรมในแต่ละเดือนก่อนที่จะแบ่งเฉลี่ยจ่ายแก่พนักงานทุกคน จำเลยได้หักค่าบริการไว้ร้อยละสิบเป็นต้นทุนสิ่งของที่แตกหักชำรุด จึงเป็นเงินที่จำเลยตกลงจ่ายเงินแก่พนักงานหลังหักต้นทุนแล้ว ส่วนค่าอาหารเป็นเงินที่จำเลยตกลงจ่ายแก่โจทก์ทุกเดือน จำนวนเท่ากันและจำเลยนำค่าอาหารเป็นฐานคำนวณรายได้ประจำปีเพื่อเสียภาษีจึงเป็นค่าจ้างที่ต้องคำนวณเป็นค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มแก่โจทก์นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 บัญญัติว่า “ค่าจ้าง หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวันรายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันหยุด และวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้” ค่าจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงมีสาระสำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรก ค่าจ้างต้องเป็นเงินที่นายจ้างกับลูกจ้างตกลงจ่ายกันตามสัญญาจ้าง ประการที่สอง เงินที่จ่ายดังกล่าวนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานหรือผลงานที่ลูกจ้างทำได้สำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงาน ประการที่สาม เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เมื่อปรากฏว่าในส่วนของค่าอาหารนั้นจำเลยไม่ได้จ่ายเป็นเงินให้แก่พนักงานเพียงแต่จัดเป็นอาหารให้คำนวณต่อคนเป็นค่าอาหารละ 832 บาท เท่านั้น จึงไม่ใช่ “เงิน” ที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้าง และปรากฏตามเอกสารเรื่องการปรับราคาค่าอาหารและหอพักเพื่อคำนวณภาษีว่าจำเลยได้จัดอาหารและหอพักให้พนักงานอาศัยเป็นสวัสดิการโดยคำนวณเป็นค่าอาหารและค่าหอพักเพื่อถือเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษี ค่าอาหารดังกล่าวจึงเป็นเพียงสวัสดีการที่จำเลยจัดให้แก่ลูกจ้างเท่านั้น มิใช่ค่าจ้างตามความหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ส่วนค่าบริการนั้นตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.2 ระบุว่าเป็นเงินที่นายจ้างเรียกเก็บเงินจากแขกผู้มาใช้บริการร้อยละสิบแล้วนำมาจ่ายให้แก่ลูกจ้างทุกคนจำนวนตั้งแต่ร้อยละเจ็ดสิบของค่าบริการทั้งหมดในปี 2540 จนถึงร้อยละเก้าสิบของค่าบริการทั้งหมดตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมาและปรากฏตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าส่วนที่เหลืออีกร้อยละสิบนั้นจำเลยหักไว้เพื่อเป็นต้นทุนของสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ที่แตกหักชำรุดเสียหายในแต่ละเดือน เมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างแต่ละคราวจำเลยก็จะนำเงินค่าบริการมาแบ่งเฉลี่ยแก่ลูกจ้างคนละเท่าๆ กัน ดังนั้น การที่ลูกจ้างโจทก์จะได้รับค่าบริการมากน้อยเพียงใดจึงขึ้นอยู่กับจำนวนค่าใช้จ่ายของลูกค้าเป็นสำคัญ ทั้งไม่ปรากฏว่าหากเป็นกรณีที่จำเลยไม่ได้รับเงินค่าบริการไว้หรือเงินค่าบริการที่รับไว้มีจำนวนน้อยกว่าอัตราเฉลี่ยที่จ่ายประจำเดือนแล้วจำเลยจะต้องจ่ายเงินของจำเลยเพิ่มให้ลูกจ้างแต่อย่างใด การหักค่าบริการไว้ร้อยละสิบในแต่ละเดือนก็เป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเพื่อชดเชยความชำรุดของทรัพย์สินที่อาจเสียหายจากการทำงานของลูกจ้างตามปกติของการทำงาน จำเลยจึงไม่ได้มีส่วนได้เสียกับค่าบริการ การที่จำเลยเป็นผู้เรียกเก็บจากลูกค้าและเป็นผู้จัดแบ่งให้แก่ลูกจ้างเป็นกรณีที่จำเลยทำแทนลูกจ้างเพื่อความสะดวกและเพื่อให้กิจการของจำเลยดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยดังนั้น ค่าบริการจึงมิใช่เงินของนายจ้างที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานหรือผลงานที่ลูกจ้างทำได้สำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างมิได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ค่าบริการจึงมิใช่ค่าจ้างตามความหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 เช่นกัน จำเลยจึงไม่ต้องนำค่าอาหารและค่าบริการเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยและสินค้าแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่ม ที่ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share