แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกา เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกาแล้ว จำเลยที่ 1อาจยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลฎีกาภายในกำหนดเจ็ดวัน นับแต่วันมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 156 วรรคท้าย เพราะเป็นเรื่องอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยที่1กลับอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบ ซึ่งศาลอุทธรณ์ชอบที่จะส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไปให้ศาลฎีกาพิจารณาสั่งต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำร้องนั้นจึงไม่ชอบปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ดังกล่าวศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5),246 และ 247ให้เพิกถอนคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่สั่งยกคำร้อง แม้จำเลยที่ 1 จะอยู่ในฐานะลำบาก กิจการที่ดำเนินการอยู่ต้องลดสัดส่วนและต้องนำรายได้มาเป็นค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างประมาณ 100 คน มีหนี้สินถูกฟ้องหลายคดีทุนทรัพย์ประมาณ 1,000 ล้านบาทหลักทรัพย์ถูกยึดเป็นประกันหนี้จำนองและมีราคาลดลง กับจำเลยที่ 1 ยังมีภาระอุปการะเลี้ยงดูบุตรก็ตาม แต่จำเลยที่ 1ก็ยังดำเนินกิจการมีรายได้ตลอดจนมีทรัพย์สินอยู่ ประกอบกับในชั้นอุทธรณ์จำเลยก็สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลได้จึงยังไม่เป็นที่พอใจว่าจำเลยที่ 1เป็นคนยากจนไม่สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลได้
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ค่าจ้างทำของแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ย แต่ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ให้จำเลยที่ 1 นำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกามาวางศาลภายใน 15 วัน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกา ผู้ขออาจยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคท้ายแต่คดีนี้จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งขอให้ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกา ซึ่งศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจที่จะอนุญาตเช่นนั้นได้ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยที่ 1 ขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกาแล้วจำเลยที่ 1 อาจยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลฎีกาภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคท้ายเพราะเป็นเรื่องอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 กลับอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบ กรณีเช่นนี้ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไปให้ศาลฎีกาพิจารณาสั่งต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำร้องนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1มิได้ฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ดังกล่าว ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5), 246, และ 247 จึงให้เพิกถอนคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่สั่งยกคำร้องดังกล่าวเนื่องจากจำเลยที่ 1 ฎีกาและเนื้อหาฎีกาดังกล่าวพอถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นอันเป็นเรื่องอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลฎีกาเพราะจำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นภายในกำหนดแล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1ฉบับลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2541 ในปัญหาดังกล่าว เห็นว่า แม้ปัจจุบันจำเลยที่ 1จะอยู่ในฐานะลำบาก กิจการที่ดำเนินการอยู่ต้องลดสัดส่วนและต้องนำรายได้มาเป็นค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างประมาณ 100 คน ทั้งมีหนี้สินถูกฟ้องหลายคดีทุนทรัพย์ประมาณ 1,000 ล้านบาท หลักทรัพย์ถูกยึดเป็นประกันหนี้จำนองและมีราคาลดลง นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังมีภาระอุปการะเลี้ยงดูบุตรก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังดำเนินกิจการมีรายได้ตลอดจนมีทรัพย์สินอยู่ ประกอบกับในชั้นอุทธรณ์จำเลยก็สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ จึงยังไม่เป็นที่พอใจว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนยากจนไม่สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลได้”
จึงให้ยกคำสั่งศาลอุทธรณ์และยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถ้าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปให้นำเงินค่าธรรมเนียมชั้นฎีกามาชำระต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษานี้