คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่า จำเลยกู้เงินบ. โดยออกเช็คไว้ ต่อมาบ. ขอร่วมลงทุนทำการค้าโดยถือเอาเงินที่จำเลยเป็นเงินร่วมลงทุน และตกลงยกเลิกการกู้ยืม มูลหนี้ตามเช็คจึงระงับไป จำเลยอุทธรณ์และฎีกาว่า จำเลยออกเช็คโดยมีข้อตกลงในขณะ ออกเช็คไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินและนำเข้าบัญชี จึงเป็นข้อ ที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง เช็คเป็นตราสารเปลี่ยนมือที่ต้องการความเชื่อถือในระหว่าง ผู้สั่งจ่ายและผู้ทรงทั้งหลายว่า เมื่อนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แล้วจะมีการจ่ายเงินตามเช็ค ข้อกำหนดเงื่อนไขใด ๆ อันเป็น การห้ามหรือจำกัดการจ่ายเงินจะพึงมีได้จึงต้องเป็นไปตาม บทบัญญัติของกฎหมายการที่จำเลยขีดเส้นสีดำไว้ในช่องวันที่ การกระทำดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ว่า กระทำได้ ข้อความดังกล่าวจึงหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใด แก่เช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 899 จึงถือว่าจำเลยออกเช็คโดยมิได้ลงวันออกเช็คไว้ เมื่อโจทก์ ได้รับเช็คและนำเข้าบัญชี โจทก์หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารจึง ลงวันที่ในเช็คได้ตามมาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 898 โจทก์ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คผู้ถือ ต้องถือว่าเป็น การประกันหรืออาวัลผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 921 ประกอบมาตรา 989 เป็นการอาวัลตามผลของกฎหมายมิใช่การอาวัลตามมาตรา 939 จึง ไม่ต้องมีการเขียนข้อความระบุว่า ใช้ได้เป็นอาวัล โจทก์ต้อง รับผิดต่อ บ. ตามมาตรา 940 วรรคหนึ่ง และต้องชำระหนี้ไปตามความรับผิดที่มีต่อ บ. ตามตั๋วเงิน การชำระหนี้นี้โจทก์ไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบและจะถือว่าเป็นการชำระหนี้ โดยขืนใจลูกหนี้ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวน 708,836.30 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน700,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 8,836.30 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยออกเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่นายบุญเลี้ยง จิรวารศิริกุลหรือผู้ถือ ต่อมาโจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาจากนายบุญเลี้ยง แล้วนำไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาภาษีเจริญ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน มีปัญหาต้องพิจารณาตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าเช็คตามฟ้องมีมูลหนี้หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า เช็คพิพาทในช่องวันที่จำเลยเขียนเครื่องหมายขีดยาวประมาณ 1 เซนติเมตรแสดงเจตนาของจำเลยว่าเป็นการออกเช็คเพื่อประกันเงินกู้ของจำเลยเท่านั้น และการขีดเส้นในช่องวันที่ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยไม่ประสงค์จะให้มีการเติมวันที่ลงในเช็ค นอกจากนี้ในขณะออกเช็คจำเลยตกลงกับนายบุญเลี้ยง จิรวารศิริกุล รับเช็คว่าจะไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินนั้น เห็นว่า จำเลยให้การว่า จำเลยกู้เงินนายบุญเลี้ยงโดยออกเช็คหมาย จ.1ให้ไว้ ต่อมานายบุญเลี้ยงขอร่วมลงทุนทำการค้าปุ๋ยธรรมชาติเพื่อการเกษตรกับจำเลย โดยถือเอาเงินที่จำเลยกู้ยืมเป็นเงินร่วมลงทุน และตกลงยกเลิกการกู้ยืม มูลหนี้ตามเช็คจึงระงับไป ดังนั้น การที่จำเลยอุทธรณ์และฎีกาว่า จำเลยออกเช็คโดยมีข้อตกลงในขณะออกเช็คไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินและนำเข้าบัญชีจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาอ้างว่าการพิจารณาเช็คว่าจะใช้เงินได้หรือไม่ ต้องพิจารณาจากสภาพของตัวเช็คเมื่อมีเส้นสีดำขีดที่ช่องวันที่ แสดงว่าไม่ต้องการให้เรียกเก็บเงินนั้น เห็นว่า เช็คเป็นตราสารเปลี่ยนมือที่ต้องการความเชื่อถือในระหว่างผู้สั่งจ่ายและผู้ทรงทั้งหลายว่าเมื่อนำเช็คไปเรียกเก็บเงินแล้วจะมีการจ่ายเงินตามเช็คข้อกำหนดเงื่อนไขใด ๆ อันเป็นการห้ามหรือจำกัดการจ่ายเงินจะพึงมีได้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย การที่จำเลยขีดเส้นสีดำไว้ในช่องวันที่ การกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ว่ากระทำได้ ข้อความดังกล่าวจึงหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เช็คนั้นไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 899 กรณีจึงถือว่าจำเลยออกเช็คโดยมิได้ลงวันออกเช็คไว้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้รับเช็คหมาย จ.1 และนำเข้าบัญชี โจทก์หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารจึงลงวันที่ในเช็คได้ ตามมาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 989 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์ไม่อาจเรียกให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คได้ เพราะโจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินแล้วเจ้าหน้าที่ธนาคารให้โจทก์ลงชื่อไว้ด้านหลังเช็คเพื่อเรียกเก็บเงินเท่านั้น หาถือว่าเป็นการอาวัลผู้สั่งจ่ายไม่ เพราะการอาวัลจะต้องลงลายมือชื่อด้านหน้าเช็ค และเขียนข้อความว่าใช้ได้เป็นอาวัลไว้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 939 โจทก์ได้รับเช็คไว้โดยไม่ชอบเพราะมิได้ใช้เงินแก่นายบุญเลี้ยง อีกทั้งการที่โจทก์ไปชำระหนี้แทนจำเลยโดยจำเลยไม่ทราบ เป็นการชำระหนี้แทนจำเลยโดยจำเลยไม่ทราบ เป็นการชำระหนี้โดยขืนใจลูกหนี้ตามมาตรา 314 จึงใช้ไม่ได้นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์มีตัวโจทก์และนายบุญเลี้ยงเบิกความสอดคล้องกันว่า เมื่อจำเลยกู้เงินนายบุญเลี้ยงและมอบเช็คเอกสารหมาย จ.1 ให้นายบุญเลี้ยงไว้นายบุญเลี้ยงจึงให้โจทก์ลงชื่อสลักหลังในเช็คดังกล่าวไว้ ต่อมาจำเลยไม่คืนเงินที่ยืมไปนายบุญเลี้ยงเรียกให้โจทก์ชำระเงินตามเช็คแทน โจทก์ผ่อนชำระเงินให้นายบุญเลี้ยงจนครบถ้วนแล้ว นายบุญเลี้ยงจึงมอบเช็คให้โจทก์จำเลยเพียงแต่เบิกความลอย ๆ อ้างว่าโจทก์มิได้ชำระเงินแก่นายบุญเลี้ยง พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้ชำระหนี้ตามเช็คให้แก่นายบุญเลี้ยงและนายบุญเลี้ยงได้มอบเช็คให้แก่โจทก์ เมื่อได้ความว่า เช็คตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยมิได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก จึงเป็นเช็คผู้ถือโจทก์ผู้รับมอบเช็คตามมูลหนี้ที่โจทก์ได้ชำระหนี้แก่นายบุญเลี้ยง จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คได้ ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า โจทก์มิได้สลักหลังเช็คไว้ก่อน แต่เพิ่งจะสลักหลังเมื่อนำเช็คไปเรียกเก็บเงินแล้วเจ้าหน้าที่ของธนาคารให้โจทก์ลงลายมือชื่อไว้นั้นจำเลยหาได้ให้การต่อสู้ในข้อนี้ไว้ไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลย จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การที่โจทก์สลักหลังถือไม่ได้ว่าเป็นการอาวัล และการที่โจทก์ชำระหนี้ไปแทนจำเลยเป็นการชำระหนี้โดยขืนใจลูกหนี้นั้น เห็นว่า จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายระบุชื่อนายบุญเลี้ยงเป็นผู้รับเงิน แต่มิได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก แม้จำเลยอ้างว่าประสงค์จะออกเช็คระบุชื่อ แต่ด้วยความไม่สันทัดของจำเลยจึงมิได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออกก็ตาม ก็ต้องถือว่าเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 เป็นเช็คผู้ถือ ดังนั้น เมื่อโจทก์ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คผู้ถือ ผลจึงต้องถือว่าเป็นการประกันหรืออาวัลผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 921 ประกอบมาตรา 989 ซึ่งเป็นการอาวัลตามผลของกฎหมาย มิใช่การอาวัลตามมาตรา 939 จึงไม่ต้องมีการเขียนข้อความระบุว่า ใช้ได้เป็นอาวัล ดังที่จำเลยฎีกา การที่โจทก์ลงลายมือชื่อผูกพันตนให้รับผิดในฐานะผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่าย โจทก์จึงต้องรับผิดต่อนายบุญเลี้ยงตามมาตรา 940 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้แก่นายบุญเลี้ยง และนายบุญเลี้ยงทวงถามโจทก์ โจทก์จึงต้องชำระหนี้ไปตามความรับผิดที่โจทก์มีต่อนายบุญเลี้ยงตามตั๋วเงิน การชำระหนี้ดังกล่าวโจทก์จึงไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทราบ และจะถือว่าเป็นการชำระหนี้โดยขืนใจลูกหนี้หาได้ไม่ ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share