แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 65 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง มิใช่บทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้อง และเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากคำที่นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าว่าจะสามารถสื่อให้สาธารณชนทราบหรือเข้าใจถึงสินค้าได้เพียงใด หากสาธารณชนสามารถทราบหรือเข้าใจได้ทันทีเพราะคำดังกล่าวเป็นคำสามัญทั่วไปสำหรับสินค้าหรือใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถทราบหรือเข้าใจได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นเป็นสินค้าประเภทหรือชนิดใด เพราะคำดังกล่าวเป็นคำพรรณนาสำหรับสินค้าแล้ว คำที่นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวย่อมเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง แต่หากสาธารณชนยังต้องใช้วิจารณญาณพอสมควรในการพิจารณาจึงจะเข้าใจได้ว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสื่อให้ทราบถึงสินค้าประเภทหรือชนิดใด เพราะคำดังกล่าวเป็นเพียงคำแนะนำของสินค้าแล้ว คำที่นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวยังไม่อาจถือว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงได้
เครื่องหมายการค้าคำว่า “AQUAFEED” ไม่มีความหายหรือคำแปลในพจนานุกรม แต่เป็นการนำคำ 2 คำ มารวมกัน คือคำว่า “AQUA” กับ “FEED” ซึ่งจำเลยเองนำสืบว่า “AQUA” มีความหมายว่า “น้ำ” ส่วนคำว่า “FEED” มีความหมายว่า “ให้อาหาร, เลี้ยง, เลี้ยงให้อ้วน” เมื่อนำมารวมกันแล้ว หากให้ความหมายหรือคำแปลเพียงในทำนองว่า “การให้อาหารสำหรับ/เกี่ยวกับ/ของน้ำ” จึงเห็นได้ชัดเจนว่าคำนี้ไม่ใช่คำสามัญทั่วไปของสินค้าอาหารสัตว์ และไม่อาจถือว่าเป็นคำพรรณนาสำหรับสินค้าอาหารสัตว์ด้วย เพราะไม่ได้พรรณนาถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าอาหารสัตว์โดยตรง หากจะคิดพิจารณาต่อไปว่าเป็นคำที่กล่าวถึง “อาหารสำหรับสัตว์น้ำ” ก็จะต้องเชื่อมโยงคำว่า “AQUA” กับสัตว์น้ำ หาใช่ว่าจะสามารถทราบหรือเข้าใจได้ในทันที หรือเมื่อใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยตามที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ ดังนั้น เครื่องหมายการค้าคำว่า “AQUAFEED” จึงไม่ถือว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง และถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับโอนเครื่องหมายการค้าคำว่า “AQUAFEED” ทะเบียนเลขที่ ค.8998 เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 31 รายการ สินค้า อาหารกุ้ง จากบริษัทแอควาสตาร์ จำกัด ต่อมาบริษัทคาร์กิลล์ อินคอร์ปอเรเต็ด ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ เพราะไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ โจทก์ไม่เห็นด้วย เนื่องจากบริษัทคาร์กิลล์ อินคอร์ปอเรเต็ด ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายและใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยตัวเองและโดยการใช้ ขอให้พิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “AQUAFEED” ทะเบียนเลขที่ ค.8998 ของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 5/2548 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและให้โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “AQUAFEED” ทะเบียนเลขที่ ค.8998 ต่อไป
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งโดยสุจริต ถูกต้องตามหลักกฎหมาย ตรงต่อข้อเท็จจริง และเป็นธรรมแล้ว บริษัทคาร์กิลล์ อินคอร์ปอเรเต็ด เป็นผู้ผลิตอาหารเสริมสำหรับสัตว์ และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “CARGILL AQUAFEED” ต่อมาได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “CARGILL AQUAFEED” ประกอบกับรูปปลาในลักษณะประดิษฐ์ แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาเห็นว่าไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนให้ เพราะเหมือนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว รวมทั้งเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.8998 และให้ปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในคำว่า “AQUAFEED” การใช้สิทธิขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าเป็นไปโดยสุจริต คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจาณาแล้วเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ นอกจากนี้ หลักฐานของโจทก์ไม่อาจรับฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีการโฆษณาหรือใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ซึ่งเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 5/2548 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2548 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีมีข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์รับโอนเครื่องหมายการค้าคำว่า “AQUAFEED” ทะเบียนเลขที่ ค.8998 จากบริษัทแอควาสตาร์ จำกัด ต่อมาบริษัทคาร์กิลล์ อินคอร์ปอเรเต็ด ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ โจทก์ยื่นหนังสือชี้แจง แต่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ เพราะไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เนื่องจากโจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นระยะเวลา 90 วัน ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 65 นั้น เห็นว่า มาตรา 65 วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้ร้องขอให้เพิกถอน เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น หรือผู้ได้รับอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งต่อศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการ ถ้าไม่อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคำสั่งของคณะกรรมการเป็นที่สุด” ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง มิใช่บทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้อง และเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้น แม้จำเลยจะไม่ได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงแห่งคดีปรากฏว่า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งเพิกถอนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2548 จำเลยให้การรับอยู่ว่า มีการแจ้งให้โจทก์ทราบคำสั่งดังกล่าว ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2548 ซึ่งหลักฐานทางไปรษณีย์ตามเอกสารท้ายคำให้การของจำเลยปรากฏว่า โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2548 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 28 พฤศจิกายน 2548 จึงถือว่าโจทก์ฟ้องคดีภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อมามีว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “AQUAFEED” ของโจทก์ เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่โดยจำเลยอุทธรณ์ในทำนองว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง เห็นว่า การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากคำที่นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าว่าจะสามารถสื่อให้สาธารณชนทราบหรือเข้าใจถึงสินค้าได้เพียงใด หากสาธารณชนสามารถทราบหรือเข้าใจได้ในทันที เพราะคำดังกล่าวเป็นคำสามัญทั่วไปสำหรับสินค้าหรือใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถทราบหรือเข้าใจได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นเป็นสินค้าประเภทหรือชนิดใด เพราะคำดังกล่าวเป็นคำพรรณนาสำหรับสินค้าแล้ว คำที่นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวย่อมเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง แต่หากสาธารณชนยังต้องใช้วิจารณญาณพอสมควรในการพิจาณาจึงจะเข้าใจได้ว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสื่อให้ทราบถึงสินค้าประเภทหรือชนิดใด เพราะคำดังกล่าวเป็นเพียงคำแนะนำของสินค้าแล้ว คำที่นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเพียงคำแนะนำของสินค้าแล้ว คำที่นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงได้ สำหรับคดีนี้เครื่องหมายการค้าคำว่า “AQUAFEED” ไม่มีความหมายหรือคำแปลในพจนานุกรมแต่เป็นการนำคำ 2 คำ มารวมกัน คือคำว่า “AQUA” กับ “FEED” ซึ่งจำเลยเองนำสืบว่า “AQUA” มีความหมายว่า “น้ำ” ส่วนคำว่า “FEED” มีความหมายว่า “ให้อาหาร, เลี้ยง, เลี้ยงให้อ้วน” เมื่อนำมารวมกันแล้ว หากให้ความหมายหรือคำแปลตามรูปไวยากรณ์ของภาษาอังกฤษ ก็จะมีความหมายหรือคำแปลเพียงในทำนองว่า “การให้อาหารสำหรับ/เกี่ยวกับ/ของน้ำ” จึงเห็นได้ชัดเจนว่าคำนี้ไม่ใช่คำสามัญทั่วไปของสินค้าอาหารสัตว์ และไม่อาจถือว่าเป็นคำพรรณนาสำหรับสินค้าอาหารสัตว์ด้วย เพราะไม่ได้พรรณนาถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าอาหารสัตว์โดยตรง หากจะคิดพิจารณาต่อไปว่าเป็นคำที่กล่าวถึง “อาหารสำหรับสัตว์น้ำ” ก็จะต้องเชื่อมโยงคำว่า “AQUA” กับสัตว์น้ำ หาใช่ว่าจะสามารถทราบหรือเข้าใจได้ในทันที หรือเมื่อใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยตามที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ ดังนั้น เครื่องหมายการค้าคำว่า “AQUAFEED” จึงไม่ถือว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง และถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) ดังนั้น การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์จึงไม่ชอบ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ