คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3516/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยรับฝากอาวุธปืนของกลางไว้จาก ป. แล้วนำไปเก็บไว้ในช่องเก็บของในรถยนต์ของ ม. โดยจำเลยนั่งไปด้วย ถือได้ว่าจำเลยพาอาวุธปืนของกลางติดตัวไปด้วย เมื่อจำเลยนั่งโดยสารรถยนต์ของ ม. จากร้านอาหาร จ. ไปตามถนนจรัญสนิทวงศ์ถึงบริเวณที่เกิดเหตุสี่แยกบรมราชชนนี อันเป็นเมืองและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนที่จำเลยอ้างว่าอาวุธปืนของกลางเป็นของ ส. ได้นำมาฝาก บ. ไว้จะไปทำธุระในเมือง แต่ บ. กลัวว่าบุตรของตนซึ่งยังเล็กและซุกซนจะได้รับอันตรายจึงฝากจำเลยไว้ ก็มิใช่กรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนต้องมีอาวุธปืนของกลางติดตัวไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 288 ริบอาวุธปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายชัยยศผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น ส่วนข้อหามีและพาอาวุธปืนไม่อนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ริบอาวุธปืนของกลาง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม (ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่น) จำคุก 9 เดือน และปรับ 3,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 2,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นคนดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คืนของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งในชั้นฎีกาว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยรับฝากอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไว้จากนายบันเทิงแล้วนำไปเก็บไว้ในช่องเก็บของในรถยนต์ของนายมนัสเพื่อนำไปเก็บไว้ที่บ้านของตน แต่ระหว่างที่นายมนัสขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่บ้านนั้นถูกรถยนต์ของโจทก์ร่วมชนท้าย แล้วโจทก์ร่วมกับนายมนัสทะเลาะวิวาทกัน จำเลยจึงใช้อาวุธปืนของกลางขู่โจทก์ร่วม คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยรับฝากอาวุธปืนของกลางไว้จากนายบันเทิงแล้วนำไปเก็บไว้ในช่องเก็บของในรถยนต์ของนายมนัส โดยจำเลยนั่งไปด้วย ถือได้ว่าจำเลยพาอาวุธปืนของกลางติดตัวไปด้วย เมื่อจำเลยนั่งโดยสารรถยนต์ของนายมนัสจากร้านอาหารเจ้าพระยาคาเฟ่ไปตามถนนจรัญสนิทวงศ์ถึงบริเวณที่เกิดเหตุสี่แยกบรมราชชนนี อันเป็นเมืองและทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนที่จำเลยอ้างว่าอาวุธปืนของกลางเป็นของนายสมบัติได้นำมาฝากนายบันเทิงไว้จะไปทำธุระในเมือง แต่นายบันเทิงกลัวว่าบุตรของตนซึ่งยังเล็กและซุกซนจะได้รับอันตรายจึงฝากจำเลยไว้ ก็มิใช่กรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนต้องมีอาวุธปืนของกลางติดตัวไป การที่จำเลยใช้อาวุธปืนขู่โจทก์ร่วมเพื่อมิให้ทะเลาะวิวาทกับนายมนัสนั้น ก็เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังซึ่งไม่มีผลลบล้างความผิดที่จำเลยได้กระทำไปสำเร็จแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง และ 72 ทวิ วรรคสอง ฐานพาอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นติดตัวไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และไม่มีเหตุอันสมควรอีกกระทงหนึ่ง จำคุก 9 เดือน และปรับ 3,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 2,000 บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นแล้ว คงจำคุก 12 เดือน และปรับ 4,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นคนดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share