แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดแล้วว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการของโจทก์ มีหน้าที่นำเงินกองทุนนิติบุคคล เงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางฝากธนาคาร จัดทำและเก็บรักษาสมุดรายงานการประชุม เอกสารทางบัญชี บัญชีรายรับรายจ่าย งบประมาณประจำปี งบดุล รายงานประจำปีที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแล้ว ต่อมาเมื่อโจทก์แต่งตั้ง อ. เป็นผู้จัดการของโจทก์แล้ว อ. ให้จำเลยทั้งสามส่งมอบเงินกองทุนนิติบุคคล เงินค่าใช้จ่ายส่วนกลาง รวมทั้งเอกสารทั้งหมดแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสามส่งมอบเงินที่เหลือพร้อมเอกสาร หากคืนเอกสารไม่ได้ให้ใช้ค่าเสียหาย ซึ่งเป็นการเพียงพอให้จำเลยที่ 3 เข้าใจและต่อสู้คดีได้แล้ว ส่วนจำเลยที่ 3 จะได้รับเงินจากเจ้าของร่วมแต่ละห้องเมื่อใดและกระทำผิดหน้าที่เมื่อใด โจทก์กำหนดค่าเสียหายอย่างไรนั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าการแต่งตั้ง อ. เป็นผู้จัดการของโจทก์ไม่ชอบ จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จำเลยที่ 3 ให้การในข้อนี้เพียงว่าที่ประชุมเจ้าของร่วมอาคารชุดที่พิพาทไม่ได้มีมติแต่งตั้งให้ อ. เป็นผู้จัดการของโจทก์ อ. ขอเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนข้อบังคับต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยพลการและไม่มีสิทธิจึงไม่มีอำนาจฟ้องเช่นนี้ ประเด็นในเรื่องอำนาจฟ้องจึงมีว่า ที่ประชุมเจ้าของร่วมของโจทก์มีมติแต่งตั้ง อ. เป็นผู้จัดการของโจทก์หรือไม่เท่านั้น แต่ไม่มีข้อเท็จจริงโต้แย้งกันว่า การประชุมเจ้าของร่วมของโจทก์ในการลงมติแต่งตั้งผู้จัดการของโจทก์ดังกล่าวมีองค์ประชุมไม่ครบตามข้อบังคับของโจทก์ แม้ข้อเท็จจริงฟังว่ามีเจ้าของร่วมของโจทก์เข้าร่วมประชุมจำนวนไม่ถึงหนึ่งในสามของจำนวนห้องชุดทั้งหมด ทำให้มีองค์ประชุมไม่ครบตามข้อบังคับของโจทก์ ซึ่งจะมีผลให้การแต่งตั้ง อ. เป็นผู้จัดการของโจทก์ไม่ชอบตามที่จำเลยที่ 3 ฎีกา แต่ก็เป็นการยกข้อเท็จจริงนอกประเด็นแห่งคดีที่จำเลยที่ 3 ได้ให้การไว้ แม้เรื่องอำนาจฟ้องจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งคู่ความอาจยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกาได้ก็ตาม แต่ก็ต้องเป็นข้อกฎหมายที่เกิดจากข้อเท็จจริงในกระบวนพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย จึงถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลอาคารชุดที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ประกอบการก่อสร้าง จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 แต่งตั้งนายธนวัฒน์เป็นผู้จัดการของโจทก์ ต่อมาเจ้าของร่วมมีมติแต่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการของโจทก์ และต่อมาเจ้าของร่วมมีมติแต่งตั้งดาบตำรวจอาชวินเป็นผู้จัดการของโจทก์ เมื่อดาบตำรวจอาชวินได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการของโจทก์แล้ว ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสามส่งมอบทรัพย์สินพร้อมเอกสารของโจทก์คืนแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามส่งมอบทรัพย์สินคืนเพียงบางส่วน โจทก์ตรวจสอบพบว่านับแต่โจทก์จดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2541 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2542 จำเลยทั้งสามเรียกเก็บเงินกองทุน เงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินค่าสาธารณูปโภคจากเจ้าของร่วมไปเป็นเงิน 2,658,111 บาท เมื่อหักรายจ่ายในการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางจำนวน 768,815.33 บาท กับทรัพย์สินที่ส่งคืนแล้วจำเลยทั้งสามต้องส่งมอบเงินคืนโจทก์ 1,673,412.93 บาท กับต้องส่งมอบสมุดรายงานการประชุมที่บันทึกมติของที่ประชุมไว้ เอกสารหลักฐานทางบัญชี รายละเอียดของทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด บัญชีรายรับรายจ่าย งบประมาณประจำปี งบดุลและรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของนิติบุคคลอาคารชุด ที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแล้วแก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสามเพิกเฉย การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการร่วมกันยักยอกทรัพย์ของโจทก์และกระทำผิดหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินโดยทุจริต ค่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,673,412.93 บาท นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2543 ถึงวันฟ้อง โจทก์ขอคิดเพียง 14 เดือน เป็นเงิน 146,423.62 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,819,836.55 บาท ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้เงิน 1,819,836.55 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,673,412.93 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเอกสารตามฟ้องแก่โจทก์ หากไม่คืนหรือคืนไม่ครบให้ใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามได้รับเงินจากเจ้าของร่วมแต่ละห้องเมื่อใดและกระทำผิดหน้าที่เมื่อใด กับไม่ปรากฏว่าโจทก์กำหนดค่าเสียหายจากฐานใด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะที่ประชุมเจ้าของร่วมไม่ได้แต่งตั้งดาบตำรวจอาชวินเป็นผู้จัดการของโจทก์ ดาบตำรวจอาชวินขอเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนข้อบังคับต่อเจ้าพนักงานที่ดิน กรุงเทพมหานคร สาขาดอนเมือง โดยพลการ นายธนวัฒน์ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการของโจทก์โดยชอบแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้จัดการของโจทก์และจำเลยทั้งสามไม่ได้ยักยอกทรัพย์สินของโจทก์ ดาบตำรวจอาชวินจัดทำบัญชีตามฟ้องไม่ถูกต้อง จำเลยทั้งสามไม่ได้รับเงินเป็นจำนวนตามบัญชีดังกล่าว เอกสารที่โจทก์อ้างอยู่ในความครอบครองของโจทก์ตลอดมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกจากจำเลยทั้งสาม โจทก์กำหนดค่าเสียหาย 100,000 บาท ขึ้นเองตามอำเภอใจ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้เงิน 1,506,102.93 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2543 จนกว่าชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 คืนสมุดรายงานการประชุมที่บันทึกมติของที่ประชุมไว้ เอกสารหลักฐานทางบัญชี รายละเอียดของทรัพย์ส่วนกลาง บัญชีรายรับรายจ่าย งบประมาณประจำปี งบดุล และรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของนิติบุคคลอาคารชุดที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแล้วแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 มีนาคม 2544) จนกว่าชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในศาลชั้นต้นและค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการ โดยกรรมการหนึ่งคนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารชุดและจำหน่ายอาคารชุดโครงการบ้านสวนแจ้งวัฒนะ เมื่อปี 2540 โจทก์ได้จดทะเบียนอาคารชุดเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 และแต่งตั้งนายธนวัฒน์เป็นผู้จัดการของโจทก์ ต่อมาปี 2542 ได้มีมติที่ประชุมใหญ่แต่งตั้งให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการของโจทก์ จนเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2543 ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมได้มีมติแต่งตั้งกรรมการจำนวน 9 คน และเลือกดาบตำรวจอาชวินเป็นผู้จัดการของโจทก์ จำเลยที่ 3 ได้มอบสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาแจ้งวัฒนะ ซอย 13 มีเงินฝากในบัญชีจำนวน 56,184.28 บาท และแคชเชียร์เช็คจำนวนเงิน 159,698.46 บาท รวมเป็นเงิน 218,882.74 บาท ให้แก่ดาบตำรวจอาชวิน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 3 ฎีกาในประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดแล้วว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการของโจทก์ ระหว่างวันที่ 13 มีนาคม 2542 ถึงวันที่ 8 มกราคม 2543 จำเลยที่ 3 มีหน้าที่นำเงินกองทุนนิติบุคคล เงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางฝากธนาคาร จัดทำและเก็บรักษาสมุดรายงานการประชุม เอกสารทางบัญชี บัญชีรายรับรายจ่าย งบประมาณประจำปี งบดุล รายงานประจำปีที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแล้ว ต่อมาเมื่อโจทก์แต่งตั้งดาบตำรวจอาชวินเป็นผู้จัดการของโจทก์แล้วดาบตำรวจอาชวินให้จำเลยทั้งสามส่งมอบเงินกองทุนนิติบุคคลเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางรวมทั้งเอกสารทั้งหมดแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสามส่งมอบเงินที่เหลือพร้อมเอกสาร หากคืนเอกสารไม่ได้ให้ใช้ค่าเสียหาย ซึ่งเป็นการเพียงพอให้จำเลยที่ 3 เข้าใจและต่อสู้คดีได้แล้ว ส่วนจำเลยที่ 3 จะได้รับเงินจากเจ้าของร่วมแต่ละห้องเมื่อใดและกระทำผิดหน้าที่เมื่อใด โจทก์กำหนดค่าเสียหายอย่างไรนั้นเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 3 ฎีกาในประการที่สองว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 ฎีกาว่าตามรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 2/2542 มีผู้เข้าร่วมประชุม 56 เสียง นับอัตราส่วนทรัพย์สินส่วนกลางได้ 218.64 ส่วนจากทรัพย์สินส่วนกลางทั้งสิ้น 1,000 ส่วนจึงมีจำนวนไม่ถึงหนึ่งในสามของจำนวนห้องชุดทั้งหมด ไม่ครบองค์ประชุมตามข้อบังคับของโจทก์ การแต่งตั้งดาบตำรวจอาชวินเป็นผู้จัดการของโจทก์ไม่ชอบ จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 3 ให้การในข้อนี้เพียงว่า ที่ประชุมเจ้าของร่วมอาคารชุดบ้านสวนแจ้งวัฒนะไม่ได้มีมติแต่งตั้งให้ดาบตำรวจอาชวินเป็นผู้จัดการของโจทก์ ดาบตำรวจอาชวินขอเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนข้อบังคับต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาดอนเมืองโดยพลการและไม่มีสิทธิจึงไม่มีอำนาจฟ้องเช่นนี้ ประเด็นในเรื่องอำนาจฟ้องจึงมีว่าที่ประชุมเจ้าของร่วมของโจทก์มีมติแต่งตั้งดาบตำรวจอาชวินเป็นผู้จัดการของโจทก์หรือไม่เท่านั้น แต่ไม่มีข้อเท็จจริงโต้แย้งกันวา การประชุมเจ้าของร่วมของโจทก์ในการลงมติแต่งตั้งผู้จัดการของโจทก์ดังกล่าวมีองค์ประชุมไม่ครบตามข้อบังคับของโจทก์ แม้ข้อเท็จจริงฟังว่ามีเจ้าของร่วมของโจทก์เข้าร่วมประชุมจำนวนไม่ถึงหนึ่งในสามของจำนวนห้องชุดทั้งหมดทำให้มีองค์ประชุมไม่ครบตามข้อบังคับของโจทก์ซึ่งจะมีผลให้การแต่งตั้งดาบตำรวจอาชวินเป็นผู้จัดการของโจทก์ไม่ชอบตามที่จำเลยที่ 3 ฎีกาแต่ก็เป็นการยกข้อเท็จจริงนอกประเด็นแห่งคดีที่จำเลยที่ 3 ได้ให้การไว้ แม้เรื่องอำนาจฟ้องจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งคู่ความอาจยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกาได้ก็ตาม แต่ก็ต้องเป็นข้อกฎหมายที่เกิดจากข้อเท็จจริงในกระบวนพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย จึงถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยชอบแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามที่จำเลยที่ 3 ฎีกาในประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด โจทก์มีดาบตำรวจอาชวินเป็นพยานเบิกความว่าหลังจากได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการของโจทก์แล้ว จำเลยทั้งสามส่งหลักฐานการเก็บเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ปี 2541 และปี 2542 พร้อมบัญชีรายรับรายจ่ายและใบเสร็จรับเงิน ปี 2542 และมอบสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาแจ้งวัฒนะ ซอย 13 มีเงินฝากในบัญชีจำนวน 56,184.28 บาท และแคชเชียร์เช็คจำนวนเงิน 159,698.46 บาท แก่โจทก์ พยานทำบัญชีรายรับรายจ่ายไว้ตามบัญชีเอกสารหมาย จ.6 โดยเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางปี 2541 และปี 2542 จำเลยที่ 2 ชี้แจงต่อพยานว่าเป็นเงินที่เก็บได้จากเจ้าของร่วมจำนวน 2,413,600 บาท เป็นเงินค่าน้ำประปาของปี 2542 จำนวน 88,077 บาท เป็นค่าโทรศัพท์ของปี 2542 จำนวน 156,434 บาท รวมรายรับ 2,658,111 บาท สำหรับรายจ่ายปี 2542 มีหลักฐานเป็นเงิน 768,815.33 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 นำสืบเพียงว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการโจทก์ต่อจากนายธนวัฒน์ที่แจ้งว่าเอกสารอยู่ในตู้เก็บในสำนักงานของโจทก์ แต่จำเลยที่ 3 ไม่ได้ตรวจสอบเอกสารและขณะที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการของโจทก์มีนางต่ายไม่ทราบชื่อสกุลเป็นผู้เก็บเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางจากเจ้าของร่วมนำไปฝากที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาแจ้งวัฒนะ ซอย 13 และมีนางน้อยไม่ทราบชื่อสกุลเป็นผู้เก็บเอกสาร เมื่อเปลี่ยนผู้จัดการของโจทก์ จำเลยที่ 3 แจ้งแก่ดาบตำรวจอาชวินว่าเอกสารอยู่ในตู้เก็บของสำนักงาน และมอบเงินสดพร้อมสมุดบัญชีเงินฝากให้เท่านั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 3 ยอมรับว่าเป็นผู้จัดการของโจทก์ต่อจากนายธนวัฒน์และนายธนวัฒน์แจ้งให้ทราบว่าเอกสารอยู่ในตู้เก็บเอกสารของโจทก์ต้องถือว่าจำเลยที่ 3 ได้รับเอกสารต่างๆ ของโจทก์จากนายธนวัฒน์ครบถ้วนแล้วทั้งยังยอมรับด้วยว่าเป็นผู้รับผิดชอบดูแลเอกสารเกี่ยวกับบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับการเงินของโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงมีหน้าที่ส่งมอบเอกสารหลักฐานและเงินกองทุนรวมทั้งเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เหลือจากหักค่าใช้จ่ายแล้วของโจทก์ให้แก่ดาบตำรวจอาชวินผู้จัดการของโจทก์คนต่อจากตน จำเลยที่ 3 จะอ้างว่าขณะรับมอบเอกสารจากนายธนวัฒน์ จำเลยที่ 3 ไม่ได้ตรวจสอบเอกสารหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่ได้รับมอบเอกสารคืนจึงทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และได้ความจากข้อนำสืบของโจทก์ว่าเอกสารที่จำเลยที่ 3 ไมได้ส่งมอบมีสมุดรายงานการประชุมเอกสารหลักฐานทางบัญชีรายละเอียดทรัพย์ส่วนกลาง บัญชีรายรับรายจ่ายประจำปีงบประมาณประจำปี งบดุลและรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของนิติบุคคลอาคารชุดที่ผ่านการตรวจสอบรับรองจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ซึ่งหากคืนไม่ได้โจทก์จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดทำเอกสารดังกล่าวขึ้นใหม่ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายกรณีไม่สามารถคืนเอกสารเป็นเงิน 30,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว สำหรับจำนวนเงินที่โจทก์ไม่ได้รับคืนนั้นได้ความจากดาบตำรวจอาชวิน พยานโจทก์เบิกความโดยจำเลยที่ 3 ไม่นำสืบโต้แย้งว่าได้มีการเรียกเก็บเงินค่าใช่จ่ายส่วนกลางและเงินค่าสาธารณูปโภคจากเจ้าของร่วม ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2541 จนถึงวันที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการของโจทก์ระหว่างวันที่ 13 มีนาคม 2542 ถึงวันที่ 8 มกราคม 2543 ส่วนรายละเอียดการเก็บเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางและบัญชีรายรับรายจ่ายตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 นั้น จำเลยที่ 3 ไม่ได้นำสืบปฏิเสธว่าไม่ถูกต้องอย่างไร แต่เมื่อพิจารณารายชื่อผู้ค้างชำระเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางและค่าสาธารณูปโภคตามเอกสารหมาย ล.11 และ ล.12 แล้ว พบว่ามีเจ้าของร่วมบางรายยังไม่ได้ชำระเงินดังกล่าสว ดังนี้ แสดงว่านอกจากเจ้าของร่วมที่มีรายชื่อตามเอกสารหมาย ล.11 แล้วได้มีการเก็บเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามเอกสารหมาย จ.7 จริง และศาลล่างทั้งสองคำนวณโดยหักเงินที่เจ้าของร่วมบางรายไม่ได้ชำระและหักค่าใช้จ่ายกับเงินที่โจทก์ได้รับบางส่วนแล้ว มีเงินที่โจทก์ยังไม่ได้รับคืน 1,506,102.93 บาท โดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้โต้แย้งว่าคำนวณไม่ถูกต้องอย่างไร พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ยังมีเงินที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดชอบส่งคืนโจทก์จำนวน 1,506,102.93 บาท ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ผู้จัดการคนก่อนไม่ได้จัดทำเอกสารต่างๆ ไว้ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดชอบคืนแก่โจทก์นั้น จำเลยที่ 3 ไม่ได้ให้การต่อสู้ในข้อนี้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ฎีกาจำเลยที่ 3 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ