แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ปรากฏตามคำขอท้ายฟ้องว่า โจทก์ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61, 73 (กฏหมายเดิม) แต่ขณะจำเลยกระทำความผิด กฎหมายได้แก้ไขให้ยกเลิกความในมาตราดังกล่าวและให้ใช้ความใหม่แทนแต่ยังคงบัญญัติเป็นบทความผิดเช่นเดียวกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยตามฟ้องยังคงถือเป็นความผิดตามบทบัญญัติกฎหมายที่แก้ไขใหม่ เพียงแต่มาตรา 73/2 (ที่แก้ไขใหม่) กำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหนักกว่าโทษตามมาตรา 73 ของกฎหมายเดิม ที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การที่โจทก์ยังคงขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา61 และมาตรา 73 เป็นเพียงการอ้างบทบัญญัติกฎหมายผิดพลาดไปเท่านั้น แม้โจทก์จะไม่อ้างบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ใหม่ แต่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วตามคำขอท้ายฟ้อง จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นมาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2550 เวลากลางวัน จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 80-3012 ตราด ซึ่งมี 3 เพลา 6 ล้อ ยาง 10 เส้น ชนิดเพลาท้าย (เพลาที่ 2 และที่ 3) เป็นเพลาคู่ ใช้ยางคู่ บรรทุกรถแบ็กโฮมีน้ำหนักยานพาหนะรวมน้ำหนักสิ่งของที่บรรทุก 31,270 กิโลกรัม เดินบนทางหลวงแผ่นดินสายกันทรลักษ์ – เดชอุดม หมายเลข 24 กิโลเมตรที่ 277 ถึง 278 ซึ่งมีน้ำหนักเกินกว่าประกาศของผู้อำนวนการทางหลวงไป 6,270 กิโลกรัม อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61, 73
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61 วรรคหนึ่ง, 73 จำคุก 2 เดือน ปรับ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพแต่ไม่สมควรลดโทษให้ โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยโดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 1 ครั้ง ตามที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด และให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงสุดเขต 3 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับ ไม่คุมความประพฤติและไม่รอการลงโทษจำคุก จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง 1 เดือน แทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า แม้จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกสิ่งของ โดยมีน้ำหนักรถยนต์รวมน้ำหนักสิ่งของที่บรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จำนวน 6,270 กิโลกรัม แต่หลังจากถูกจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพมาโดยตลอด อันแสดงว่าจำเลยยังรู้สำนึกในความผิดแห่งตน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติจำเลยไว้ เพื่อให้มีเจ้าพนักงานคอยแนะนำ ช่วยเหลือ ตักเตือน หรือสอดส่องดูแล ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมมากกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รอการลงโทษให้จำคุกให้แก่จำเลย แต่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำและป้องปรามมิให้จำเลยกระทำความผิดทำนองนี้อีก เห็นสมควรวางโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง และกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี
อนึ่ง ปรากฏตามคำขอท้ายฟ้องว่า โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61, 73 แต่ขณะจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2550 มีพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 ออกใช้บังคับโดยมาตรา 25 และมาตรา 29 ให้ยกเลิกความในมาตรา 61 และมาตรา 73 เดิม และให้ใช้ความใหม่แทนโดยมาตรา 61 ทั้งพระราชบัญญัติทางหลวงฉบับเดิมและฉบับที่มีการแก้ไขใหม่ยังบัญญัติเป็นบทความผิดห้ามการใช้ยานพาหนะบนทางหลวงโดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนัก น้ำหนักบรรทุก หรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ผู้อำนวยการทางหลวงได้ประกาศกำหนดเช่นเดียวกัน ส่วนบทกำหนดโทษตามมาตรา 73 (เดิม) ได้แก้ไขและมีบทบัญญัติเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 มาตรา 30 เป็นมาตรา 73/2 ดังนั้น การกระทำของจำเลยตามฟ้องยังคงถือเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ เพียงแต่มาตรา 73/2 กำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหนักกว่าโทษตามมาตรา 73 ของกฎหมายเดิมที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การที่โจทก์ยังคงขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 61 และมาตรา 73 เป็นเพียงการอ้างบทบัญญัติกฎหมายผิดพลาดไปเท่านั้นแม้โจทก์จะไม่อ้างบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ แต่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วตามคำขอท้ายฟ้อง จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นมาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่), 73/2 (ที่แก้ไขใหม่) ไม่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทน แต่ให้วางโทษปรับจำเลย 6,000 บาท อีกสถานหนึ่งลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษปรับจำเลย 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดทำนองเดียวกันนี้อีก กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3