คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8592/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยอมให้บุคคลอื่นเชิดตนเองเป็นตัวแทนของโจทก์ ดังนั้น แม้บันทึกข้อตกลงจะไม่มีข้อความระบุชัดแจ้งว่าโจทก์มอบอำนาจบุคคลอื่นกระทำการแทนตนเอง โจทก์ก็ต้องมีความผูกพันตามข้อตกลงในบันทึกข้อตกลง ถือว่าบุคคลภายนอกเป็นตัวแทนเชิดของโจทก์และการเป็นตัวแทนเชิดหาจำต้องมีการมอบอำนาจต่อกันเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 4,270,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนอาคารสิ่งก่อสร้างที่เชื่อมต่อเกาะเกี่ยวกับอาคารโจทก์โดยให้แยกโครงสร้างเป็นอิสระจากอาคารโจทก์และมิให้เกิดความเสียหายใด ๆ แก่อาคารโจทก์ ให้จำเลยทั้งสามยอมให้โจทก์หรือตัวแทนเข้าไปในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 เพื่อทำการซ่อมแซมอาคารโจทก์ให้กลับสู่สภาพเดิมจนกว่าจะแล้วเสร็จ หากไม่ยินยอมให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันรื้อถอนส่วนของอาคารเลขที่ 408 ของจำเลยที่ 1 ที่สัมผัสเกาะเกี่ยวกับอาคารเลขที่ 410 ของโจทก์ และแยกโครงสร้างของอาคารเลขที่ 408 ออกจากอาคารเลขที่ 410 กับให้ร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี กำหนดค่าทนายความ 40,000 บาท คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 2614 ตำบลจักวรรดิ์ อำเภอจักรวรรดิ์ (สามเพ็ง) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์เลขที่ 410 ซอยอิศรานุภาพ ถนนเยาวราช แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร อาคารพาณิชย์เลขที่ 408 เป็นอาคารมีผนังด้านหนึ่งติดกับอาคารดังกล่าวของโจทก์ ส่วนผนังอีกด้านหนึ่งติดกับอาคารพาณิชย์เลขที่ 406 ซึ่งเจ้าของเดิมได้รับอนุญาตให้ใช้เสา คาน และคานคอดินร่วมกัน จำเลยที่ 1 ซื้ออาคารเลขที่ 408 มาจากเจ้าของเดิมเมื่อประมาณปลายปี 2529 ต่อมาประมาณเดือนเมษายน 2532 จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 3 รื้อถอนอาคารเลขที่ 408 และก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่ ระหว่างที่จำเลยที่ 3 รื้อถอนและก่อสร้างอาคารเลขที่ 408 อาคารเลขที่ 410 ของโจทก์แตกร้าวเสียหาย โจทก์ร้องเรียนต่อกรุงเทพมหานครและสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์จนมีการสั่งให้หยุดก่อสร้าง และเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2532 สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอาคารเพื่อตรวจสอบโครงสร้างอาคารยุติการร้องเรียนกล่าวโทษ ต่อมาวันที่ 25 กันยายน 2532 คณะกรรมการดังกล่าวได้จัดให้มีการทำบันทึกข้อตกลงระหว่างเจ้าของอาคารเลขที่ 406 และ 410 กับเจ้าของอาคารเลขที่ 408 โดยมีนางสาวอารีพร อมรเกียรติขจร พี่สาวของโจทก์ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงในฐานะเจ้าของอาคารเลขที่ 410 นายสุพัฒน์ มหาภิรมย์ ลงชื่อในฐานะเจ้าของอาคารเลขที่ 406 และนางสิริรัตน์ วรปราชญา ลงชื่อแทนจำเลยที่ 1 เจ้าของอาคารเลขที่ 408 ตามบันทึกข้อตกลง
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า บันทึกข้อตกลงเกิดขึ้นจากคณะกรรมการที่สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ตั้งขึ้นตามคำสั่งสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ที่ 103/2532 ลงวันที่ 21 กันยายน 2532 ได้เชิญตัวแทนของผู้ร้องเรียนและผู้ถูกร้องเรียนทั้งสามฝ่ายมาทำความตกลงกัน ณ สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ มีข้อความระบุว่า ผู้ร้องเรียนคือนางสาววรรณวิภา เจ้าของอาคารเลขที่ 406 และนางสาวอารีพรเจ้าของอาคารเลขที่ 410 นายสำเภา หัวหน้างานโยธา สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ พยานโจทก์เบิกความว่า นางสาวอารีพรเคยร้องเรียนต่อสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ 2 ครั้ง โดยระบุว่า เป็นเจ้าของอาคารเลขที่ 410 คนหนึ่ง แสดงว่า นางสาวอารีพรได้เชิดตนเองเป็นผู้ร้องเรียนต่อสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ในฐานะเป็นเจ้าของอาคารเลขที่ 410 เมื่อข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของโจทก์สอดรับกับทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ว่า ภริยาของโจทก์ร่วมไปกับนางสาวอารีพรและรู้เห็นขณะมีการทำบันทึกข้อตกลง แต่ภริยาของโจทก์ก็มิได้ทักท้วงห้ามมิให้นางสาวอารีพรลงชื่อในฐานะเจ้าของอาคารเลขที่ 410 ในบันทึกดังกล่าว ประกอบกับแถลงการณ์ปิดคดีของโจทก์ ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2540 โจทก์ยอมรับว่ามีการทำบันทึกขึ้นเพื่อให้จำเลยที่ 1 ทำการแก้ไขโดยแยกโครงสร้างอาคารของจำเลยที่ 1 ออกไปจากอาคารของโจทก์ เช่นนี้ พฤติการณ์แสดงให้เห็นได้ว่า โจทก์ยินยอมให้นางสาวอารีพรเชิดตนเองเป็นตัวแทนของโจทก์เจ้าของอาคารเลขที่ 410 ทำความตกลงเพื่อยุติการร้องเรียนตามบันทึกข้อตกลง ถือว่านางสาวอารีพรเป็นตัวแทนเชิดของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 ซึ่งการเป็นตัวแทนเชิดหาจำต้องมีการมอบอำนาจต่อกันเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น แม้บันทึกข้อตกลงจะไม่มีข้อความระบุชัดเจนว่าโจทก์เป็นเจ้าของอาคารเลขที่ 410 และโจทก์มอบอำนาจให้นางสาวอารีพรกระทำการแทน โจทก์ก็ต้องมีความผูกพันตามข้อตกลงในบันทึกข้อตกลง เมื่อบันทึกข้อตกลงมีข้อความว่า คู่กรณีทุกฝ่ายทำบันทึกข้อตกลงนี้ขึ้นเพื่อยุติการร้องเรียน โดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 แก้ไขการก่อสร้างอาคารเลขที่ 408 มิให้เกาะเกี่ยวกับอาคารเลขที่ 406 และอาคารเลขที่ 410 ของโจทก์ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน หากดำเนินการแล้วเสร็จ โจทก์และเจ้าของอาคารเลขที่ 406 จะไม่ดำเนินคดีทางอาญาและทางแพ่งแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ในส่วนความเสียหายของอาคารของโจทก์และอาคารเลขที่ 406 ให้คนกลางมาตีราคาค่าซ่อมแซม โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดค่าเสียหายส่วนนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาของคู่กรณีว่าประสงค์จะระงับข้อพิพาทเดิมทั้งปวงตามข้อร้องเรียน แล้วให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผูกพันต้องดำเนินการต่าง ๆ เฉพาะตามที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงเท่านั้น บันทึกข้อตกลงจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มีผลให้การเรียกร้องซึ่งแต่ฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และมาตรา 852 ดังนั้น หากโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลงหรืออีกนัยหนึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดสัญญาประนีประนอมยอมความข้อใดข้อหนึ่ง กรณีก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์หามีอำนาจนำคดีมูลละเมิดเดิมซึ่งสละแล้วโดยสัญญาประนีประนอมยอมความมาฟ้องร้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นคดีนี้อีกได้ไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ประการอื่นอีก
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share