แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.วิ.พ. มาตรา 175 ไม่ได้ห้ามโจทก์ถอนฟ้องหลังจากชี้สองสถาน แม้จำเลยคัดค้านก็อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ถอนฟ้องก็ได้ ซึ่งดุลพินิจของศาลมาจากการพิจารณาข้อเท็จจริงในสำนวนประกอบเหตุผลในคำร้องขอถอนฟ้องและคำคัดค้านของจำเลย ตลอดจนความสุจริตในการดำเนินคดีของทั้งสองฝ่าย เมื่อการที่ฟ้องไม่ถูกต้องครบถ้วนและคำขอบังคับไม่อาจบังคับได้ไม่ใช่เกิดจากความผิดของฝ่ายโจทก์และ ป.วิ.พ. มาตรา 176 ไม่ได้ห้ามโจทก์ที่ถอนฟ้อง ยื่นฟ้องใหม่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ ศาลจึงไม่อาจนำข้อกฎหมายเรื่องกำหนดเวลาในการขอแก้ไขคำฟ้องซึ่งต้องขอก่อนการชี้สองสถานตามมาตรา 180 และการที่ถอนคำฟ้องเพื่อไปแก้ไขข้อบกพร่องแล้วยื่นฟ้องจำเลยเข้ามาเป็นคดีใหม่มาเป็นเงื่อนไขในการสั่งคำร้องขอถอนฟ้อง ทั้งคดีนี้ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีการนำพยานหลักฐานเข้าสืบ จึงฟังไม่ได้ว่าการถอนฟ้องทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี กรณีมีเหตุสมควรอนุญาตให้ถอนฟ้องได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งห้าฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 4228 และ 17654 จากนางแป้งล่ำ เป็นของนางรัญจวน เมื่อวันที่ 12 และ 15 พฤศจิกายน 2536 และในส่วนที่โอนใส่ชื่อจำเลยเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2560 โดยให้ใส่ชื่อนางแป้งล่ำเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามเดิม และให้จำเลยเป็นฝ่ายชำระค่าฤชาธรรมเนียม หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า
1.โจทก์ทั้งห้ามีอำนาจฟ้องหรือไม่
2.การจดทะเบียนในที่ดินโฉนดเลขที่ 4288 และ 17654 ในชื่อนางรัญจวน เป็นการจดทะเบียนโอนที่ดินที่แบ่งปันมรดกโดยถูกต้อง โดยให้เป็นของนางรัญจวนหรือเป็นการโอนใส่ชื่อนางรัญจวนเพื่อเป็นตัวแทนในการดำเนินการเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินพิพาท
3.จำเลยต้องโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 4228 และ 17654 มาเป็นของโจทก์ทั้งห้าหรือไม่
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายโจทก์ทั้งห้ายื่นคำร้องขอถอนฟ้องอ้างว่า ฟ้องโจทก์ทั้งห้าไม่ถูกต้องครบถ้วน ขอถอนฟ้องเพื่อดำเนินการยื่นฟ้องจำเลยใหม่
จำเลยแถลงคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ทั้งห้าถอนฟ้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ คืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ทั้งห้า 64,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งห้าถอนฟ้อง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
โจทก์ทั้งห้าฎีกา ศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกาและรับฎีกาเฉพาะข้อ 1 ของโจทก์ทั้งห้าที่ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งห้าถอนคำฟ้องเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 4228 ชอบหรือไม่ไว้พิจารณา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าที่ศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งห้าถอนคำฟ้องเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 4228 นั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า ในเรื่องถอนฟ้องนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 ไม่ได้ห้ามโจทก์ถอนฟ้องหลังจากชี้สองสถาน โดยบังคับศาลเพียงว่า ห้ามไม่ให้อนุญาตโดยมิได้ฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอดถ้าหากมีก่อน ดังนั้น แม้โจทก์ทั้งห้าขอถอนฟ้องหลังจากชี้สองสถานและจำเลยคัดค้านก็อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งห้าถอนฟ้องก็ได้ ซึ่งดุลพินิจของศาลดังกล่าวย่อมมาจากการพิจารณาข้อเท็จจริงในสำนวนความประกอบเหตุผลในคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ทั้งห้าและคำคัดค้านของจำเลยตลอดจนความสุจริตในการดำเนินคดีของทั้งสองฝ่ายนั่นเอง สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การเกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้ความว่า โจทก์ทั้งห้ากล่าวอ้างว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางแป้งล่ำ ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ทั้งห้ากับนางรัญจวน ภริยาของจำเลย เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงใหญ่ของนางแป้งล่ำ ต่อมาที่ดินถูกเวนคืนบางส่วนโดยกรมทางหลวง นางแป้งล่ำจึงรังวัดแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวและนำที่ดินส่วนที่ไม่ถูกเวนคืนไปออกเอกสารสิทธิใหม่เป็นโฉนดเลขที่ 17654 แต่นางแป้งล่ำไม่ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งคงเหลือเฉพาะที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนให้กรมทางหลวงเพราะยังไม่ได้รับเงินค่าทดแทนการเวนคืน โดยนางแป้งล่ำไม่ได้จดทะเบียนโอนจนกระทั่งนางแป้งล่ำถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่ถูกเวนคืนและสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนไว้ ต่อมาทายาททุกคนตกลงกันให้นายเจือ บิดาเป็นผู้จัดการมรดกของนางแป้งล่ำและยินยอมให้นายเจือจดทะเบียนใส่ชื่อนายเจือในฐานะผู้จัดการมรดกไว้ หลังจากนั้นนางรัญจวน ซึ่งเป็นพี่สาวคนโตอาสาจะดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าทดแทนการเวนคืนจากกรมทางหลวง นายเจือจึงจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้นางรัญจวนมีชื่อในโฉนดที่ดินแทนทายาททุกคนเพื่อความสะดวกในการดำเนินการฟ้องร้องกรมทางหลวง ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2560 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมทางหลวงจ่ายเงินค่าทดแทนแก่เจ้าของที่ดินพิพาท แต่ปรากฏว่านางรัญจวนถึงแก่ความตายไปก่อน โดยถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 จำเลยในฐานะทายาทของนางรัญจวนได้ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนจากกรมทางหลวงและขอจดทะเบียนโอนใส่ชื่อจำเลยในโฉนดที่ดินเพื่อนำไปขอรับเงินค่าทดแทน แต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการให้ และแจ้งให้โจทก์ทั้งห้าในฐานะทายาทของนางแป้งล่ำทราบซึ่งโจทก์ทั้งห้าได้ยื่นคำคัดค้านไว้แล้ว ขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งห้าในโฉนดที่ดินพิพาทเลขที่ 4228 หากไม่ดำเนินการขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยให้การว่า คดีขาดอายุความ คำฟ้องของโจทก์ทั้งห้าเป็นความเท็จ ความจริงนายเจือในฐานะผู้จัดการมรดกของนางแป้งล่ำได้จัดการแบ่งมรดกของนางแป้งล่ำโดยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้นางรัญจวน ภริยาของจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว เนื่องจากโจทก์ทั้งห้าไม่สนใจที่จะรับมรดกที่ดินแปลงนี้เพราะเข้าใจว่าไม่ได้เงินค่าทดแทนการเวนคืน จึงเลือกรับมรดกเป็นที่ดินแปลงอื่น คำขอบังคับของโจทก์ทั้งห้าที่ให้บังคับจำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งห้าในโฉนดที่ดินพิพาทไม่อาจบังคับได้ เพราะจำเลยจดทะเบียนโอนเปลี่ยนชื่อจากจำเลยเป็นกรมทางหลวงแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นก็กำหนดประเด็นข้อพิพาทไปตามคำฟ้องและคำให้การดังกล่าว แต่ก่อนการกำหนดประเด็นข้อพิพาทมีข้อเท็จจริงปรากฏจากคำร้องขอถอนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาของโจทก์ทั้งห้าและรายงานกระบวนพิจารณาในวันไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างการพิจารณา ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2560 ว่าโจทก์ทั้งห้าเพิ่งทราบจากการตรวจเอกสารว่าจำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 4228 ให้แก่กรมทางหลวงไปแล้ว โดยจำเลยและทนายจำเลยแถลงยอมรับต่อศาลว่าจำเลยโอนไปภายหลังวันฟ้องไม่กี่วัน ซึ่งก็ปรากฏจากสำเนาโฉนดที่ดินดังกล่าวที่โจทก์ทั้งห้าส่งมาเป็นเอกสารท้ายฟ้องหมายเลขที่ 5 ว่าขณะที่โจทก์ยื่นคำฟ้องเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 นั้นนางรัญจวนยังมีชื่ออยู่ในโฉนดที่ดินพิพาท ข้อเท็จจริงที่ว่ามีการโอนให้กรมทางหลวงแล้วเพิ่งปรากฏจากคำให้การของจำเลยและสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทที่จำเลยส่งเป็นเอกสารท้ายคำให้การว่ามีการจดทะเบียนโอนที่ดินไปเป็นของกรมทางหลวงแล้วเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2560 แสดงว่าพฤติการณ์ในการโอนที่ดินดังกล่าวเกิดจากการกระทำของจำเลยซึ่งอยู่นอกเหนือการรู้เห็นของโจทก์ทั้งห้า ทั้งเกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ยื่นคำฟ้องแล้ว การที่ฟ้องของโจทก์ทั้งห้าไม่ถูกต้องครบถ้วนและคำขอบังคับของโจทก์ทั้งห้าในส่วนนี้ไม่อาจบังคับได้จึงไม่ใช่เกิดจากความผิดของโจทก์ทั้งห้า การที่โจทก์ทั้งห้าขอถอนฟ้องโดยระบุเหตุผลมาชัดเจนว่า ขอถอนฟ้องเนื่องจากฟ้องของโจทก์ทั้งห้าไม่ถูกต้องครบถ้วน จึงขอถอนฟ้องคดีนี้เพื่อดำเนินการยื่นฟ้องจำเลยใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 ก็ไม่ได้ห้ามโจทก์ที่ถอนฟ้องยื่นฟ้องใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ และมาตรา 175 ก็ไม่ได้ห้ามโจทก์ถอนฟ้องหลังจากชี้สองสถาน ศาลจึงไม่อาจนำข้อกฎหมายเรื่องกำหนดเวลาในการขอแก้ไขคำฟ้องซึ่งต้องขอก่อนการชี้สองสถานตามมาตรา 180 และการที่ถอนคำฟ้องเพื่อไปแก้ไขข้อบกพร่องแล้วยื่นฟ้องจำเลยเข้ามาเป็นคดีใหม่มาเป็นเงื่อนไขในการสั่งคำร้องขอถอนฟ้องได้ ทั้งคดีนี้ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้มีการนำพยานหลักฐานเข้าสืบให้อีกฝ่ายเห็นข้อเท็จจริงที่เป็นการสนับสนุนข้ออ้างตามคำฟ้องและข้อเถียงตามคำให้การของฝ่ายตนแต่อย่างไร จึงฟังไม่ได้ว่าการถอนฟ้องของโจทก์ทั้งห้าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี กรณีมีเหตุสมควรอนุญาตให้โจทก์ทั้งห้าถอนฟ้องเกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้ แต่เนื่องจากคำฟ้องมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงอื่นซึ่งก็เป็นทรัพย์มรดกของนางแป้งล่ำเช่นเดียวกัน จึงเห็นควรอนุญาตให้โจทก์ทั้งห้าถอนคำฟ้องไปทั้งหมดในคราวเดียวกัน เพื่อให้โจทก์ทั้งห้านำไปรวมฟ้องเป็นคดีเดียวกันต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งห้าฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า อนุญาตให้โจทก์ทั้งห้าถอนฟ้อง จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ คืนค่าขึ้นศาลชั้นศาลชั้นต้นให้โจทก์ทั้งห้า 64,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ