คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 859/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะถือว่าผู้ใดเป็นผู้ผลิตตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 77นั้น นอกจากจะหมายถึงว่า ผู้นั้น ทำการเกษตร หรือขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบแปรรูป แปรสภาพสินค้า แล้วยังให้รวมถึงการที่ผู้ใดทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีขึ้นซึ่งสินค้าไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ด้วย ซึ่งการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีขึ้นซึ่งสินค้าดังกล่าวนั้น มีความหมายว่าทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดสินค้าใหม่ขึ้นมา ซึ่งอาจใช้วัตถุดิบของสินค้าเดิมมาทำเป็นสินค้าใหม่โดยไม่แปรเปลี่ยนสภาพของสินค้าเดิมก็ได้และไม่จำต้องคำนึงว่าสินค้าใหม่นั้นอาจแปรเปลี่ยนกลับคืนมาเป็นสินค้าเดิมได้หรือไม่ ดังนั้น การที่โจทก์ใช้ลวดซึ่งเป็นสินค้าเดิมที่โจทก์ซื้อมาเข้าเครื่องปั๊มออกมาเป็นลวดเสียบกระดาษซึ่งเป็นสินค้าใหม่โดยลวดซึ่งเป็นวัตถุดิบนั้นยังมีสภาพเป็นลวดเช่นเดิมอยู่ เพียงแต่ใช้เครื่องปั๊มตัดและดัดงอให้อยู่ในสภาพเป็นของใช้เสียบกระดาษตามที่โจทก์ต้องการแล้วนำสินค้าลวดเสียบกระดาษนั้นไปจำหน่ายทั่วไปถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ผลิตสินค้าลวดเสียบกระดาษตาม มาตรา 77 ตามบัญชีที่ 1 หมวดที่ 9 ได้กำหนดลักษณะของสินค้าอื่น ๆ ไว้ว่า”เครื่องมือ เครื่องใช้…ของใช้ใด ๆ ทั้งนี้เฉพาะที่ผลิตจาก…โลหะหรือโลหะเคลือบอย่างใดอย่างหนึ่ง…” และคำว่า “ของใช้”นั้น ประมวลรัษฎากรไม่ได้วิเคราะห์ศัพท์ไว้ แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายคำว่าของใช้ไว้ว่า”ของสำหรับใช้” ซึ่งเป็นที่เข้าใจของคนทั่ว ๆ ไปว่า ของใช้ที่ว่านี้ประชาชนทั่วไปที่มีของนั้นอยู่สามารถนำของนั้นไปใช้ประโยชน์ได้ทันทีโดยลำพัง ไม่ต้องนำไปประกอบกับสิ่งของอื่นเสียก่อนจึงจะนำไปใช้ได้ สำหรับลวดเสียบกระดาษรายนี้ ผู้ใดมีอยู่ในความครอบครองย่อมสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันทีโดยลำพัง จึงเป็นของใช้ตามบัญชีที่ 1 ดังกล่าว เมื่อได้ความว่าลวดเสียบกระดาษนี้ผลิตจากโลหะเคลือบจึงเป็นของใช้ผลิตจากโลหะเคลือบอันเข้าลักษณะสินค้าอื่น ๆ ในหมวด 9 บัญชีที่ 1 ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 54)พ.ศ. 2517 แต่โจทก์ผลิตขายในราชอาณาจักร จึงต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 9 ของรายรับ คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้ผลิตลวดเสียบกระดาษหรือไม่และลวดเสียบกระดาษเป็นของใช้หรือไม่ เมื่อตามคำฟ้องและคำให้การฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ผลิตสินค้าลวดเสียบกระดาษ และคำฟ้องโจทก์กับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญได้ความว่า ลวดเสียบกระดาษรายนี้เป็นของใช้ที่ผลิตจากโลหะเคลือบ เช่นนี้ ข้อเท็จจริงย่อมเพียงพอที่ศาลจะพิพากษาได้แล้ว แม้จะทำการสืบพยานคู่ความต่อไปก็ไม่อาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นเปลี่ยนแปลงไป คดีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะทำการสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป ศาลภาษีอากรกลางชอบที่จะสั่งงดสืบพยานได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามแบบ ภ.ค. (พ) 8 ที่ 1047/3/09308 ลงวันที่ 9 มกราคม 2533และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เลขที่384/2533/1 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2533
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกมีว่า การทำลวดเสียบกระดาษของโจทก์ถือเป็น “ผลิต” ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา 77 หรือไม่เห็นว่า การที่จะถือว่าผู้ใดเป็นผู้ผลิตตามบทกฎหมายดังกล่าวนอกจากจะหมายถึงว่า ผู้นั้น ทำการเกษตร หรือขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบแปรรูป แปรสภาพสินค้า แล้วยังให้รวมถึงการที่ผู้ใดทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีขึ้นซึ่งสินค้าไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ด้วย ซึ่งการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีขึ้นซึ่งสินค้าดังกล่าวนั้น มีความหมายว่าทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดสินค้าใหม่ขึ้นมา ซึ่งอาจใช้วัตถุดิบของสินค้าเดิมมาทำเป็นสินค้าใหม่โดยไม่แปรเปลี่ยนสภาพของสินค้าเดิมก็ได้ และไม่จำต้องคำนึงว่าสินค้าใหม่นั้นอาจแปรเปลี่ยนกลับคืนมาเป็นสินค้าเดิมได้หรือไม่ การที่โจทก์ในคดีนี้ใช้ลวดซึ่งเป็นสินค้าเดิมที่โจทก์ซื้อมาเข้าเครื่องปั๊มออกมาเป็นลวดเสียบกระดาษซึ่งเป็นสินค้าใหม่ โดยลวดซึ่งเป็นวัตถุดิบนั้นยังมีสภาพเป็นลวดเช่นเดิมอยู่ เพียงแต่ใช้เครื่องปั๊มตัดและดัดงอให้อยู่ในสภาพเป็นของใช้เสียบกระดาษตามที่โจทก์ต้องการแล้วนำสินค้าลวดเสียบกระดาษนั้นไปจำหน่ายทั่วไป ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ผลิตสินค้าลวดเสียบกระดาษตามความหมายของมาตรา 77 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า ลวดเสียบกระดาษตามฟ้องเข้าลักษณะเป็นสินค้าอื่น ๆ ตามหมวด 9 ของบัญชีที่ 1ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 หรือไม่ พิเคราะห์แล้วตามบัญชีที่ 1 หมวดที่ 9 ได้กำหนดลักษณะของสินค้าอื่น ๆ ไว้ว่า”เครื่องมือ เครื่องใช้ ของใช้ใด ๆ ทั้งนี้เฉพาะที่ผลิตจากโลหะหรือโลหะเคลือบ อย่างใดอย่างหนึ่ง…” ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่าลวดเสียบกระดาษรายนี้เป็นของใช้หรือไม่ คำว่า “ของใช้” นั้นประมวลรัษฎากรไม่ได้วิเคราะห์ศัพท์ไว้ แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายคำว่าของใช้ไว้ว่า”ของสำหรับใช้” ซึ่งเป็นที่เข้าใจของคนทั่ว ๆ ไปว่า ของใช้ที่ว่านี้ประชาชนทั่วไปที่มีของนั้นอยู่สามารถนำของนั้นไปใช้ประโยชน์ได้ทันทีโดยลำพัง ไม่ต้องนำไปประกอบกับของสิ่งอื่นเสียก่อนจึงจะนำไปใช้ได้ สำหรับลวดเสียบกระดาษรายนี้ ผู้ใดมีอยู่ในครอบครองสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันทีโดยลำพัง จึงเป็นของใช้ตามบัญชีที่ 1ดังกล่าว ลวดเสียบกระดาษดังกล่าวไม่เหมือนตาไก่หรือตัวหนีบแฟ้มดังที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ เพราะของสองอย่างหลังนี้ตัวของมันเองจะนำไปใช้โดยลำพังไม่ได้เช่นตาไก่ต้องนำไปใช้เป็นส่วนประกอบการผลิตรองเท้า ตัวหนีบแฟ้มต้องนำไปประกอบเป็นแฟ้มเอกสารเสียก่อนจึงจะนำไปใช้ประโยชน์ได้และตามคำฟ้องโจทก์และความเห็นของนายฉลอง ออมสิน พยานผู้เชี่ยวชาญของกรมทรัพยากรธรณีได้ความว่าลวดเสียบกระดาษผลิตจากโลหะเคลือบ จึงเป็นของใช้ผลิตจากโลหะเคลือบอันเข้าลักษณะสินค้าอื่น ๆ ในหมวด 9 บัญชีที่ 1 ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า(ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 แต่โจทก์ผลิตขายในราชอาณาจักร จึงต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 9 ของรายรับ
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสุดท้ายมีว่าศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยชอบหรือไม่ เห็นว่าคดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้ผลิตลวดเสียบกระดาษหรือไม่และลวดเสียบกระดาษเป็นของใช้หรือไม่ เมื่อตามคำฟ้องและคำให้การฟังได้แล้วว่าโจทก์เป็นผู้ผลิตสินค้าลวดเสียบกระดาษและคำฟ้องของโจทก์กับความเห็นของนายฉลองซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ความว่าลวดเสียบกระดาษรายนี้เป็นของใช้ผลิตจากโลหะเคลือบ เช่นนี้ข้อเท็จจริงย่อมเพียงพอที่ศาลจะพิพากษาได้แล้ว แม้จะทำการสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป ก็ไม่อาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นเปลี่ยนแปลงไป คดีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะทำการสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share