แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 ไม่ตระเตรียมพนักงานประจำสระว่ายน้ำไว้คอยช่วยเหลือผู้ใช้บริการสระว่ายน้ำของจำเลยที่ 1 กับไม่ได้เตรียมอุปกรณ์การช่วยชีวิตผู้ใช้สระว่ายน้ำในทันทีทันใดที่เกิดการช็อคหรือจมน้ำ เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย แม้จำเลยที่ 1 จะได้ปิดประกาศไว้ที่สระว่ายน้ำว่าจำเลยที่ 1 จะไม่รับผิดชอบใด ๆ เกี่ยวกับชีวิตและทรัพย์สินของผู้มาใช้บริการ ประกาศดังกล่าวก็ไม่ทำให้เป็นข้อแก้ตัวที่จะให้จำเลยที่ 1 พ้นความรับผิด จำเลยที่ 1จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบิดามารดาของนางสาวพรรณทิพาผงอินทร์ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นกรรมการ มีสระว่ายน้ำให้บุคคลทั่วไปมาใช้บริการโดยเรียกเก็บค่าบริการ โจทก์ที่ 1 พาบุตร 3 คนรวมทั้งนางสาวพรรณทิพาไปใช้บริการสระว่ายน้ำของจำเลยโดยเสียค่าบริการ แล้วนางสาวพรรณทิพาเกิดจมน้ำถึงแก่ความตาย เนื่องจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสาม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสามให้การว่า นางสาวพรรณทิพาเสียชีวิตมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่เป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ 1 เอง และนางสาวพรรณทิพาเป็นลมขณะว่ายน้ำเป็นเหตุสุดวิสัย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การตายของนางสาวพรรณทิพาเกิดจากสภาพร่างกายของนางสาวพรรณทิพาเอง ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1ประมาท พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่านางสาวพรรณทิพา ผงอินทร์ ผู้ตาย ซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ทั้งสองไปว่ายน้ำในสระว่ายน้ำของจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทน ขณะที่ผู้ตายเล่นน้ำในสระผู้ตายลอยน้ำคว่ำหน้า เด็กชายโกศินทร์น้องชายเข้าไปช่วยนำมายังไม่ถึงขอบสระก็มีคนเข้ามาช่วยนำผู้ตายขึ้นจากสระช่วยทำการผายปอด เมื่อผู้ตายไม่ฟื้นจึงเรียกรถรับจ้างนำส่งโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช แพทย์ตรวจผู้ตายแล้ว แจ้งว่าผู้ตายเสียชีวิตก่อนไปถึงโรงพยาบาล แพทย์ประจำสถาบันนิติเวชวิทยาทำการชันสูตรศพผู้ตายแล้ว ลงความเห็นว่าผู้ตายจมน้ำตาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้นางสาวพรรณทิพาถึงแก่ความตายหรือไม่ โจทก์ทั้งสองมีเด็กชายโกศินทร์เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้จัดพนักงานไว้คอยดูแลความปลอดภัยของผู้ใช้บริการสระน้ำ ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าได้จัดพนักงานไว้คอยช่วยเหลือผู้ใช้บริการสระน้ำ จำเลยที่ 1ก็นำสืบนายประภาสกับนายคัมภีร์ซึ่งไม่ได้ เป็นผู้รู้เห็นในที่เกิดเหตุจึงมีน้ำหนักน้อยไม่น่าเชื่อถือ พยานโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักมากกว่าพยานจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้จัดพนักงานของจำเลยที่ 1 ไว้คอยดูแลผู้ว่ายน้ำในสระน้ำของจำเลยที่ 1 ปล่อยให้เด็กชายโกศินทร์และผู้ที่ใช้บริการว่ายน้ำช่วยเหลือผู้ตายมาที่ขอบสระ เมื่อมาถึงขอบสระ พนักงานของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าช่วยผายปอดทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ออกซิเจนแก่ผู้ตายโดยถูกลักษณะตามวิชาการแพทย์ และจำเลยที่ 1 ไม่ได้จัดรถไว้คอยช่วยเหลือ นำผู้ตายส่งโรงพยาบาล พันตำรวจเอกสุพจน์และนายแพทย์สมพูล พยานจำเลยที่ 1ก็ยืนยันว่าผู้ตายจมน้ำตายตามเอกสารหมาย จ.4 และ ล.9นายแพทย์สมพูลยังเบิกความต่อไปว่า ถ้ามีเครื่องให้ออกซิเจนช่วยด้วย โอกาสที่ผู้ตายจะรอดตายก็มีมาก ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1ไม่ตระเตรียมพนักงานประจำสระว่ายน้ำไว้คอยช่วยเหลือผู้ใช้บริการสระว่ายน้ำของจำเลยที่ 1 กับไม่ได้เตรียมอุปกรณ์การช่วยชีวิตผู้ใช้สระว่ายน้ำในทันทีทันใดที่เกิดการช็อคหรือจมน้ำ เป็นการกระทำโดยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายแม้จำเลยที่ 1 จะได้ปิดประกาศไว้ที่สระว่ายน้ำว่าจำเลยที่ 1จะไม่รับผิดชอบใด ๆ เกี่ยวกับชีวิตและทรัพย์สินของผู้มาใช้บริการประกาศดังกล่าวก็ไม่ทำให้เป็นข้อแก้ตัวที่จะให้จำเลยที่ 1พ้นความรับผิด จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ส่วนค่าสินไหมทดแทนจำนวนเท่าใด จำเลยที่ 1 ไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา จึงไม่เป็นประเด็นในชั้นฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์800 บาท