คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2009/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาว่าจ้างได้ตกลงกันให้จำเลยต้องให้โจทก์บรรทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันไม่น้อยกว่าเดือนละสองหรือสามเที่ยวมีกำหนดเวลาแน่นอน เป็นสาระสำคัญและเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งของสัญญา เมื่อปรากฏว่าจำเลยให้โจทก์บรรทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันเพียงเที่ยวเดียว โดยไม่ให้โจทก์บรรทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันเดือนละสองหรือสามเที่ยวภายในกำหนดเวลา ถือได้ว่าจำเลยประพฤติผิดเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในสัญญาแล้ว โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาหลังจากขนส่งน้ำมันให้จำเลยเสร็จเที่ยวแรกแล้ว 3 เดือนเศษ การบอกเลิกสัญญาว่าจ้างของโจทก์ไม่จำต้องบอกกล่าวให้จำเลยว่าจ้างโจทก์ภายในระยะเวลาที่กำหนดอีกเพราะเป็นการบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 388 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาคือการที่จำเลยผิดสัญญาที่ไม่ว่าจ้างโจทก์ให้บรรทุกน้ำมัน และคำขอบังคับคือค่าเสียหายที่โจทก์ขอให้ชดใช้ ส่วนที่ว่าโจทก์คิดค่าเสียหายมาอย่างไร เป็นรายละเอียดที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม การฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์ที่จะพึงได้เป็นค่าเสียหายของโจทก์ไม่อยู่ในกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (3) เดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2532 จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์บรรทุกน้ำมันด้วยเรือ ฟิลแทงค์ หมายเลข 8 (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น พิรดา) จากประเทศสิงค์โปร์มาประเทศไทยมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา โดยว่าจ้างไม่น้อยกว่าเดือนละ 2 หรือ 3 เที่ยว ค่าจ้างเที่ยวละ 426,039.66 บาท จากนั้นจำเลยให้โจทก์ไปบรรทุกน้ำมันเพียงเที่ยวเดียวแล้วไม่ได้ให้ไปบรรทุกอีกอันเป็นการผิดสัญญา โจทก์เสียหายขาดรายได้และไม่สามารถนำเรือไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นจึงได้บอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายอันพึงได้จากจำเลย นับแต่วันทำสัญญาถึงวันบอกเลิกสัญญาคิดเป็นเงิน 5,538,515.50 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2532 ถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 913,854.15 บาทรวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ย 6,452,369.60 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 6,452,369.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 5,538,515.50 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเคยจ้างโจทก์บรรทุกน้ำมันครั้งหนึ่งโดยมิใช่จ้างตามสัญญาท้ายฟ้อง ปรากฏว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวและเรืออยู่ในสภาพไม่พร้อมที่จะบรรทุกน้ำมันทำให้การบรรทุกน้ำมันต้องล่าช้า จำเลยได้รับความเสียหายจำเลยจึงไม่จ้างโจทก์อีก โจทก์นำเรือไปรับจ้างบรรทุกน้ำมันให้แก่บุคคลทั่วไปตลอดมาจนกระทั่งโจทก์ขายเรือลำดังกล่าวไปก่อนที่จะครบกำหนดตามสัญญา หากศาลฟังว่าจำเลยทำสัญญากับโจทก์การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้บอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาภายในกำหนดระยะเวลาอันสมควรก่อนที่จะบอกเลิกสัญญา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุมเพราะตามสัญญามีข้อตกลงรับจ้างขนน้ำมันในประเทศด้วย ค่าจ้างบรรทุกภายในประเทศกับบรรทุกจากประเทศสิงคโปร์ไม่เท่ากัน ไม่ปรากฏว่าโจทก์สามารถบรรทุกน้ำมันได้เท่าไรและจะได้ค่าจ้างบรรทุกเที่ยวละเท่าไร จำนวนกี่เที่ยวจึงไม่แจ้งชัดว่าโจทก์คำนวณค่าจ้างมาได้อย่างไร จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้อง โจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อให้จำเลยรับผิดตามสัญญาจ้างมีอายุความ 2 ปี แต่โจทก์ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปีนับแต่วันบอกเลิกสัญญา คือวันที่ 24 สิงหาคม 2532 จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,500,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 กันยายน 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่า เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2532 โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างบรรทุกน้ำมันกัน โดยโจทก์เป็นผู้รับจ้างจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างตามสัญญาเอกสารท้าย จ.3 และจำเลยเคยว่าจ้างให้โจทก์บรรทุกน้ำมันจากประเทศสิงคโปร์มายังกรุงเทพมหานคร 1 เที่ยว โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2532 ตามเอกสารหมาย จ.8
คดีมีปัญหาตามฎีกาประการแรกว่า โจทก์มิได้บอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาภายในกำหนดระยะเวลาอันสมควร การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า จำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้แต่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยให้ จำเลยได้ยกขึ้นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ก็มิได้วินิจฉัยให้เช่นกัน อันถือได้ว่าศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัยให้ตามกระบวนพิจารณาเป็นการไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยให้โดยไม่ย้อนสำนวนและเห็นว่า ตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2 ผู้ว่าจ้างจะให้ผู้รับจ้างบรรทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันของผู้ว่าจ้างไม่น้อยกว่าเดือนละสองหรือสามเที่ยวในอัตราค่าบรรทุกลิตรละ 0.18 สตางค์ แต่จำเลยซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างให้โจทก์ผู้รับจ้างบรรทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันเพียงเที่ยวเดียวนับแต่วันทำสัญญาวันที่ 23 มีนาคม 2532 จนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาวันที่ 24 สิงหาคม 2532 ตามสัญญาดังกล่าวจะเห็นว่าการตกลงให้จำเลยต้องให้โจทก์บรรทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันไม่น้อยกว่าเดือนละสองหรือสามเที่ยวมีกำหนดเวลาแน่นอน นับว่าเป็นสาระสำคัญและเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งของสัญญา เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่ให้โจทก์บรรทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันเดือนละสองหรือสามเที่ยวภายในกำหนดเวลาก็ถือได้ว่าจำเลยประพฤติผิดเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในสัญญาแล้วโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาลงวันที่ 24 สิงหาคม 2532 หลังจากขนส่งน้ำมันให้จำเลยเสร็จเที่ยวแรกแล้ว 3 เดือนเศษ การบอกเลิกสัญญาว่าจ้างของโจทก์ไม่จำต้องบอกกล่าวให้จำเลยว่าจ้างโจทก์ภายในระยะเวลาที่กำหนดอีก เป็นการบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในกรณีนี้
ปัญหาตามฎีกาประการที่สองที่ว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องโดยถือสัญญาว่าจ้างที่จำเลยจะจ้างโจทก์บรรทุกน้ำมันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาที่ไม่ว่าจ้างโจทก์ให้บรรทุกน้ำมันตามสัญญาเดือนละไม่น้อยกว่า 2 หรือ 3 เที่ยวนับแต่วันทำสัญญาวันที่ 23 มีนาคม 2532 มีกำหนดสัญญา 1 ปีแต่จำเลยว่าจ้างโจทก์บรรทุกน้ำมันเพียง 1 เที่ยว โจทก์ได้รายได้เพียง 426,039.66 บาท แล้วจำเลยไม่ว่าจ้างโจทก์อีก โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา โจทก์ขาดรายได้ถึงวันบอกเลิกสัญญาวันที่24 สิงหาคม 2532 คิดเป็นเงิน 5,538,515.50 บาท ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นรายได้นั้น เป็นการบรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาคือการผิดสัญญาและคำขอบังคับแล้ว ส่วนที่ว่าโจทก์คิดค่าเสียหายมาอย่างไร เป็นรายละเอียดที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาตามฎีกาประการที่สามที่ว่า โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด2 ปี นับแต่วันบอกเลิกสัญญา คดีโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 เดิม ซึ่งใช้บังคับขณะฟ้องคดีบัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความ 2 ปี ฯลฯ (3) บุคคลผู้ขนส่งทางรถไฟ ผู้รับบรรทุก ของคนเรือ คนขับรถรับจ้างและคนเดินหนังสือ เรียกเอาค่าโดยสารค่าระวาง ค่าเช่า ค่าธรรมเนียม รวมทั้งค่าที่ได้ออกเงินทดรองไป”การฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์ที่จะพึงได้เป็นค่าเสียหายของโจทก์ไม่อยู่ในบทบัญญัติดังกล่าว คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความและวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 เมื่อจำเลยไม่ว่าจ้างโจทก์ให้บรรทุกน้ำมันไม่น้อยกว่าเดือนละ 2 หรือ 3 เที่ยว ตามสัญญาข้อ 2 จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
ปัญหาตามฎีกาประการสุดท้ายที่ว่า โจทก์ควรได้รับชดใช้ค่าเสียหายเพียงใดนั้น เห็นว่าเฉพาะจำนวนเที่ยวเรือเป็นการคำนวณที่ถูกต้องตามสัญญาว่าจ้างแล้ว ส่วนค่าเสียหายนั้นเห็นควรกำหนดให้ 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 11 กันยายน 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 1,000,000 บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share