คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3936/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีก่อน ผู้ร้องทั้งสี่ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้คัดค้านดำเนินการโอนที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่ผู้ร้องทั้งสี่ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน และสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านพิพาท แต่คดีนี้ผู้ร้องทั้งสี่ยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านถอนการยึดบ้านพิพาทโดยกล่าวอ้างว่า บ้านพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งสี่ตามสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านพิพาทก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1คำร้องของผู้ร้องทั้งสี่ทั้งสองคดีมิได้มีประเด็นข้อพิพาทอย่างเดียวกัน คำร้องขอของผู้ร้องทั้งสี่ในคดีนี้ จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลอันเกี่ยวกับคดีที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบด้วย พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153 แต่ที่ผู้ร้องทั้งสี่กับผู้คัดค้านเป็นคู่ความเดียวกันในคดีก่อนและทั้งสองคดีก็พิพาทกันในมูลกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทเดียวกัน การที่ผู้ร้องทั้งสี่ยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านโอนบ้านพิพาทให้แก่ผู้ร้องทั้งสี่ตามสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านในคดีก่อน เท่ากับยอมรับว่าบ้านพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้ยกคำร้องในส่วนนี้ และผู้ร้องทั้งสี่มิได้อุทธรณ์ คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในคดีก่อนจึงผูกพันผู้ร้องทั้งสี่และผู้คัดค้าน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153 ศาลในคดีนี้จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าบ้านพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ของผู้ร้องทั้งสี่ ผู้ร้องทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ผู้คัดค้านเพิกถอนการยึดได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้

Share