แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายโดยเป็นเสมียนตรวจปล่อยสินค้าประจำโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นผู้ตรวจสอบสินค้าในรถยนต์บรรทุกและเขียนใบกำกับสินค้าตามที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรสั่งปล่อย ย่อมเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จ่ายทรัพย์หรือสินค้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 153
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันกับคดีอีก 2 สำนวน ซึ่งถึงที่สุดโดยคู่ความมิได้ฎีกา โดยศาลชั้นต้นเรียกนายอดุลย์ เวชรักษ์ เป็นจำเลยที่ 1 นายดลใจ เกิดอยู่ เป็นจำเลยที่ 2 และนายวัชรินทร์ อารีย์กุล เป็นจำเลยที่ 5
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นพนักงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย โดยจำเลยที่ 1มีตำแหน่งเป็นพนักงานธุรการชั้น 1 แผนกโรงพักสินค้าที่ 12 จำเลยที่ 2มีตำแหน่งเป็นเสมียน แผนกโรงพักสินค้าที่ 12 จำเลยทั้งสองกับพวกมีอำนาจและหน้าที่ร่วมกันรักษาทรัพย์ จ่ายทรัพย์ จัดการตรวจปล่อยสินค้าที่มีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งเก็บรักษาอยู่ในโรงพักสินค้าที่ 12ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เมื่อนำเข้าหรือตัวแทนของผู้นำเข้าได้เสียภาษีสำหรับสินค้านั้นโดยถูกต้องตามกฎหมายและผ่านการตรวจของพนักงานศุลกากรแล้วมาขอนำสินค้าดังกล่าวออกไปจากโรงพักสินค้า โดยในการจ่ายสินค้าและตรวจปล่อยสินค้า จำเลยทั้งสองต้องใช้อำนาจและหน้าที่ให้เป็นไปตามวิธีการ ระเบียบ แบบแผนคำสั่งและกฎหมายของการท่าเรือแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 5 มีอาชีพรับจ้างออกสินค้าให้แก่ผู้นำเข้าและส่งออกสินค้า (ชิปปิ้ง)จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายกล่าวคือ จำเลยที่ 1ที่ 2 กับพวกได้ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตได้ร่วมกันตรวจปล่อยและจ่ายสินค้าประเภทส่วนประกอบเครื่องรับโทรทัศน์ที่ยังไม่ได้เสียภาษีอากรและค่าเช่า และยังไม่ได้ผ่านการตรวจของพนักงานศุลกากร ซึ่งเก็บรักษาอยู่ในโรงพักสินค้าที่ 12 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้นำสินค้าเข้าเกินกว่าที่ควรจ่ายจำนวน 1,863 หีบ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่นโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐและเป็นการปฏิบัติหน้าที่และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยจำเลยที่ 5ซึ่งเป็นราษฎรได้สนับสนุนช่วยเหลือและให้ความสะดวกในการที่จำเลยอื่น ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายกระทำความผิดดังกล่าวโดยจำเลยที่ 5 ได้จัดทำเอกสาร ดำเนินการให้มีการตรวจปล่อยและจ่ายสินค้าเกินกว่าที่ควรจ่าย และนำรถยนต์มาขนสินค้าที่จำเลยที่ 1ที่ 2 กับพวก ตรวจปล่อยและจ่ายสินค้าเกินกว่าที่ควรจ่ายไป 1,863 หีบโดยทุจริต จำเลยที่ 5 ได้ทำปลอมขึ้นแต่บางส่วนซึ่งใบสั่งปล่อยสินค้าของกรมศุลกากรจำนวน 6 ฉบับ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการของกรมศุลกากร โดยจำเลยที่ 5 ได้ปลอมลายมือชื่อนายสุรพล เทพสุบรรณหรือเทศสุบรรณ สารวัตรศุลกากร 5 และนางสาววัฒนา อาชาประดิษฐ์กุลนายตรวจศุลกากร 3 ลงในใบสั่งปล่อยสินค้าของกรมศุลกากร ฉบับดังกล่าวในช่องลงชื่อเจ้าพนักงาน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายสุรพลและนางสาววัฒนา กรมศุลกากร การท่าเรือแห่งประเทศไทย และผู้อื่นหรือประชาชน ต่อมาจำเลยที่ 5 ได้ใช้เอกสารที่จำเลยได้ปลอมขึ้นทั้งหกฉบับ อ้างแสดงต่อนายฉลวย โตสวัสดิ์ พนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกโรงพักสินค้าที่ 12 และนายจำลอง ยุทธวงษ์เจ้าพนักงานศุลกากร ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายสุรพล นางสาววัฒนา การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมศุลกากรและผู้อื่น หรือประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151, 153, 157, 264, 265, 266, 268, 83, 86 พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 16 และให้ริบของกลาง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 153 ลงโทษจำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 5มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 153 ประกอบด้วยมาตรา 86 จำคุก 2 ปี ริบของกลาง คำขออื่นให้ยก จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5ฎีกาโดยพิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ตามที่โจทก์ จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 5 นำสืบรับกันว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเสมียนตรวจปล่อยสินค้าประจำโรงพักสินค้าที่ 12 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 5 มีอาชีพรับจ้างออกสินค้าจากกรมศุลกากรซึ่งเก็บรักษาไว้ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2524จำเลยที่ 5 รับจ้างบริษัท ซี.เค.อิมปอร์ต จำกัด และบริษัท ดี.ยู.อีเล็คโทรนิคส์จำกัด นำสินค้าออกจากโรงพักสินค้า 12 ตามใบสั่งปล่อยสินค้าเอกสารหมาย จ.13 ถึง จ.20 โดยมีจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเสมียนตรวจปล่อยสินค้า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการโดยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จ่ายทรัพย์ จ่ายทรัพย์เกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นและจำเลยที่ 5 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำดังกล่าวหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันที่ 30 ธันวาคม2524 จำเลยที่ 5 ได้ขนสินค้าออกจากโรงพักสินค้าที่ 12 มากกว่าที่ระบุไว้ในใบสั่งปล่อยสินค้าจำนวน 1,863 หีบ และในคูหาที่ 8โรงพักสินค้าที่ 12 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ตรวจสอบจำนวนสินค้าเขียนใบกำกับสินค้าและปล่อยสินค้า ซึ่งหากจำเลยที่ 1 และที่ 2ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแล้วจำนวนสินค้าตามใบกำกับสินค้าจะต้องมีจำนวนตรงกับใบรับสินค้าและใบสั่งปล่อยสินค้า เมื่อจำนวนสินค้าในใบกำกับสินค้ามีมากกว่าจำนวนในใบรับสินค้าและใบสั่งปล่อยสินค้าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จ่ายทรัพย์จ่ายทรัพย์นั้นเกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 153 สำหรับจำเลยที่ 5 เป็นราษฎรผู้มีอาชีพรับจ้างออกสินค้าให้บริษัท ซี.เค.อิมปอร์ต จำกัด และบริษัท ดี.ยู.อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด เป็นผู้ทำใบขนสินค้า เสียภาษีศุลกากรและค่าธรรมเนียมให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย แต่ปรากฏว่ามีสินค้าจำนวนหนึ่งหลีกเลี่ยงไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรและค่าธรรมเนียมการท่าเรือ จำเลยที่ 5 ผู้นำสินค้าออกเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรและค่าธรรมเนียมดังกล่าวตามพฤติการณ์เชื่อว่าจำเลยที่ 5 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ด้วย ดังจะเห็นได้จากที่จำเลยที่ 5 ได้ชำระค่าธรรมเนียมจำนวน 40,476.05 บาท ตามเอกสารหมาย จ.23ให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทย หลังจากมีการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแล้วแสดงว่าจำเลยที่ 5 ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จริง แต่จำเลยที่ 5เป็นราษฎรมิใช่เจ้าพนักงานเช่นจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้กระทำผิดเท่านั้น ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จ่ายทรัพย์ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 153 ทั้งนี้เพราะผู้มีหน้าที่จ่ายทรัพย์คือ เจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำโรงพักสินค้าที่ 12 นั้น เห็นว่า การปล่อยสินค้าออกจากโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยมีหลายขั้นตอนนอกจากเจ้าหน้าที่สั่งปล่อยสินค้าแล้ว พนักงานการท่าเรือผู้ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เช่น พนักงานผู้จัดเรียงสินค้า พนักงานผู้เขียนใบรับสินค้าและเมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้ตรวจสอบสินค้าในรถยนต์บรรทุกและเขียนใบกำกับสินค้าย่อมเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จ่ายทรัพย์ หรือสินค้าด้วย”
พิพากษายืน