แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 และมาตรา 16 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิด ต่อมาระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และ 66 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยที่ 2 กระทำความผิด แต่เมื่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติว่า แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่ในจำนวน 15 หน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักตั้งแต่ 1.5 กรัมขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งแตกต่างจากมาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) ที่กำหนดเฉพาะปริมาณที่คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัมขึ้นไปเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยไม่คำนึงว่าจะมีจำนวนหน่วยการใช้หรือน้ำหนักสุทธิมากน้อยเพียงใดเงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดดังกล่าวตามกฎหมายเดิมซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงต้องใช้กฎหมายเดิม ส่วนที่เป็นบทความผิดบังคับแก่จำเลย เมื่อจำเลยที่ 2 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5,290 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 459.520 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 66.355 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เกินกว่า 20 กรัม ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามมาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งต้องกำหนดโทษตามมาตรา 66 วรรคสามที่แก้ไขใหม่ ซึ่งบัญญัติว่า ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ยี่สิบกรัมขึ้นไปต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาทหรือประหารชีวิต มิใช่มาตรา 66 วรรคหนึ่งที่แก้ไขใหม่เมื่อมาตรา 66 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิดเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าโทษตามมาตรา 66 วรรคสามที่แก้ไขใหม่ จึงต้องใช้กฎหมายในขณะที่จำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 1 (3)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 ว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (เดิม) จำคุก 30 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 20 ปี
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2551 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยมาตรา 66 วรรคหนึ่งที่แก้ไขใหม่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ามาตรา 66 วรรคหนึ่ง เดิม จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนกำหนดโทษที่ถือว่าเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ไม่ว่าทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ขอให้กำหนดโทษจำเลยที่ 2 ใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังในส่วนที่เป็นคุณ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วไม่อาจกำหนดโทษใหม่ตามที่จำเลยที่ 2 ขอได้ ทั้งการตัดสินของศาลชอบแล้ว ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จะนำกฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนที่เป็นคุณมากำหนดโทษจำเลยที่ 2 ใหม่ได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 และมาตรา 66 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะจำเลยที่ 2 กระทำความผิด ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยที่ 2 กระทำความผิด มีปัญหาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบที่จะนำพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังการกระทำความผิดมาพิจารณาว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติว่า “แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัม ขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวน 15 หน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่ 1.5 กรัม ขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แตกต่างจากกฎหมายเดิมในมาตรา 15 วรรคสอง ที่กำหนดเฉพาะปริมาณที่คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัม ขึ้นไปเท่านั้น โดยไม่คำนึงว่าจะมีจำนวนหน่วยการใช้หรือน้ำหนักสุทธิมากน้อยเพียงใด ดังนั้น เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดดังกล่าวตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในส่วนที่เป็นบทความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 2 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน จำนวน 5,290 เม็ด น้ำหนัก 459.520 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 66.355 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยที่ 2 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เกินกว่า 20 กรัม ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามมาตรา 15 วรรคสอง เดิม ซึ่งความผิดดังกล่าวต้องด้วยบทกำหนดโทษในมาตรา 66 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไปต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต” มิใช่ตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา เมื่อมาตรา 66 วรรคหนึ่ง เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยที่ 2 กระทำความผิด บัญญัติว่า “ผู้ใดจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท” โทษตามกฎหมายเดิมจึงเป็นคุณมากกว่าโทษตามมาตรา 66 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่ กรณีตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษใหม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน