คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8552/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า บัตรเอทีเอ็มที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เบิกถอนเงินไปนั้นเป็นของบุคคลอื่น ก็ต้องฟังว่าเป็นบัตรเอทีเอ็มของจำเลยคนใดคนหนึ่งหรือเป็นของจำเลยทั้งสองเอง และยังต้องรับฟังต่อไปอีกว่า สาเหตุที่จำเลยทั้งสองสามารถใช้บัตรเอทีเอ็มอังกล่าวเบิกถอนเงินออกไปได้นั้น เป็นเพราะมีเงินตามจำนวนที่จำเลยทั้งสองร่วมเบิกถอนโอนเข้าบัญชีของจำเลยทั้งสองโดยการผิดพลาด เพราะมิฉะนั้นแล้ว จำเลยทั้งสองย่อมไม่สามารถใช้บัตรเอทีเอ็มเบิกถอนออกไปได้ ข้อเท็จจริงตามฟ้องตามที่โจทก์ได้บรรยายมาดังกล่าวนี้ ย่อมถือได้ว่าเงินจำนวนที่จำเลยทั้งสองร่วมเบิกถอนไปนั้น ได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสองเพราะโจทก์ร่วมส่งมอบให้โดยสำคัญผิด การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้บัตรเอทีเอ็มเบิกถอนไปนั้น จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคสอง หาใช่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยทั้งสองจะให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องและมิได้ยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาก็ตาม ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและลงโทษจำเลยทั้งสองให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เมื่อศาลฎีกาปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองใหม่แล้ว ก็ต้องกำหนดโทษจำเลยทั้งสองเสียใหม่ให้เหมาะสมกับความผิดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 334, 335 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 462,887 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
ระหว่างพิจารณา บริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก รวม 38 กระทง และมาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง รวม 16 กระทง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 27 ปี ปรับคนละ 143,000 บาท ทั้งนี้ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองมีกำหนดคนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยทั้งสองมีกำหนด 1 ปี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองโดยไม่รอการลงโทษ ไม่ปรับและไม่คุมความประพฤติ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์บรรยายฟ้องการกระทำความผิดของจำเลยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสองร่วมกันลักเงินของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ร่วม โดยใช้บัตรเอทีเอ็มเบิกถอนเงินของโจทก์ร่วมไปจากเครื่องเบิกถอนเงินอัตโนมัติรวม 54 ครั้ง คงเป็นเงิน 908,900 บาท เห็นว่า เมื่อโจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า บัตรเอทีเอ็มที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เบิกถอนเงินไปนั้นเป็นของบุคคลอื่น ก็ต้องฟังว่าเป็นบัตรเอทีเอ็มของจำเลยคนใดคนหนึ่งหรือเป็นของจำเลยทั้งสองเอง และยังต้องรับฟังต่อไปอีกว่า สาเหตุที่จำเลยทั้งสองสามารถใช้บัตรเอทีเอ็มดังกล่าวเบิกถอนเงินออกไปได้นั้น เป็นเพราะมีเงินตามจำนวนที่จำเลยทั้งสองร่วมเบิกถอนโอนเข้าบัญชีของจำเลยทั้งสองโดยการผิดพลาดเพราะมิฉะนั้นแล้วจำเลยทั้งสองย่อมไม่สามารถใช้บัตรเอทีเอ็มของจำเลยเบิกถอนออกไปได้ข้อเท็จจริงตามฟ้องตามที่โจทก์ได้บรรยายมาดังกล่าวนี้ ย่อมถือได้ว่าเงินจำนวนที่จำเลยทั้งสองร่วมเบิกถอนไปนั้น ได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสองเพราะโจทก์ร่วมส่งมอบให้โดยสำคัญผิด การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้บัตรเอทีเอ็มเบิกถอนไปนั้น จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสองหาใช่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองจะให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องและมิได้ยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและลงโทษจำเลยทั้งสองให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสองประกอบมาตรา 215 และ 225 เมื่อศาลฎีกาปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองใหม่แล้ว ก็ต้องกำหนดโทษจำเลยทั้งสองเสียใหม่ให้เหมาะสมกับความผิดด้วย สำหรับปัญหาที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า แม้พฤติการณ์แห่งความผิดของจำเลยทั้งสองที่ร่วมกันใช้บัตรเอทีเอ็มเบิกถอนเงินของโจทก์ร่วมไปรวมถึง 54 ครั้ง เป็นเงิน 908,900 บาท แต่หลังเกิดเหตุแล้ว จำเลยทั้งสองเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนและให้การรับสารภาพอันเป็นการลุแก่ความผิด ทั้งภายหลังได้พยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นโดยสามารถหาเงินมาชดใช้แก่โจทก์ร่วมจนครบถ้วน และตามรายงานการสืบเสาะและพินิจก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยทั้งสองเคยกระทำความผิดจนถูกดำเนินคดีมาก่อน จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอายุ 24 และ 25 ปี ตามลำดับ มีอาชีพการทำงานเป็นหลักแหล่งนิสัยและความประพฤติที่ผ่านมาไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรง น่าเชื่อว่าสาเหตุที่กระทำความผิดคดีนี้เป็นเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากให้โอกาสแล้วจำเลยทั้งสองจะสามารถกลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไปได้ คดีมีเหตุอันควรปรานีโดยรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งสอง ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้จำคุกคนละกระทงละ 1 ปี ปรับคนละกระทงละ 2,000 บาท รวม 54 กระทง เป็นจำคุกคนละ 54 ปี ปรับคนละ 108,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกคนละ 27 ปี ปรับคนละ 54,000 บาท ทั้งนี้ ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองมีกำหนดคนละ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (1) โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 คุมความประพฤติจำเลยทั้งสองในระหว่างรอการลงโทษ โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติตามเงื่อนไขที่พนักงานคุมประพฤติกำหนดปีละ 2 ครั้ง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาลักทรัพย์ให้ยกฟ้องนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share