แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การนั่งพิจารณาคดีแรงงาน ศาลแรงงานต้องมีผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละเท่า ๆ กัน เป็นองค์คณะพิจารณา ซึ่งจะต้องนั่งพิจารณาคดีไปจนเสร็จสิ้นการพิจารณาคดี เว้นแต่กรณีมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทำให้องค์คณะผู้พิจารณาคดีไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไปอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางจะนั่งพิจารณาคดีแทน หรือมอบหมายให้ผู้พิพากษาหรือผู้พิพากษาสมทบนั่งพิจารณาคดีแทนต่อไปก็ได้ และตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 20 บัญญัติว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานมีอำนาจจัดให้ผู้พิพากษาสมทบคนอื่นเข้าปฏิบัติหน้าที่แทน ในกรณีมีเหตุจำเป็นอื่นที่ไม่อาจก้าวล่วงได้ ประกอบกับโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ทั้งล่วงพ้นเวลาโต้แย้งคัดค้านแล้ว และมิได้มีคำขอให้ศาลแรงงานกลางรอการพิจารณาไว้ก่อนเพื่อให้มีการปฏิบัติในเรื่ององค์คณะในการพิจารณาคดีให้เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมแสดงว่าโจทก์ยอมรับอำนาจศาลในเรื่ององค์คณะในการพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลางดังกล่าว การพิจารณาคดีนี้จึงเป็นการชอบแล้ว และเมื่อการพิจารณาคดีเสร็จสิ้น องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ จึงมีอำนาจทำคำพิพากษาต่อไปได้ คำพิพากษาคดีนี้จึงชอบแล้วเช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่สุดท้ายเป็นกรรมการผู้จัดการ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 108,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกปลายเดือน แต่ไม่เกินวันสุดท้ายของเดือน ระหว่างโจทก์เป็นลูกจ้าง จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างของเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม 2544 รวมเป็นเงิน 216,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยจงใจเพิกเฉย โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้อง เป็นดอกเบี้ย 3,506 บาท และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ทุกระยะเวลาเจ็ดวัน นับแต่วันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างแต่ละเดือนถึงวันฟ้อง เป็นเงินเพิ่ม 175,885.71 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 395,391.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 216,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 216,000 บาท ทุกระยะเวลาเจ็ดวัน นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ขณะโจทก์เป็นลูกจ้างทำหน้าที่กรรมการผู้จัดการโจทก์ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบบริหารงานของจำเลยอย่างร้ายแรง กระทำการส่อไปในทางทุจริตไม่น่าไว้วางใจ คณะกรรมการจำเลยจึงมีมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่ง อันเป็นการเลิกจ้างโจทก์แล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ได้รับค่าจ้างเพียงเดือนละ 56,000 บาท โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย โจทก์ยังอาศัยตำแหน่งหน้าที่เบิกเงินค่าใบประกอบอาชีพโรคศิลปะเกินกว่าสิทธิที่ตนเองพึงได้หลายครั้งหลายคราวติดต่อกัน และจ่ายค่าตอบแทนทั้งที่จำเลยไม่จำต้องจ่าย ทำให้จำเลยเสียหายคิดเป็นเงิน 1,539,009 บาท ขอให้ยกฟ้องและให้บังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 1,539,009 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย กับให้บังคับโจทก์ส่งมอบกุญแจตู้เซฟคืนแก่จำเลย หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคาตู้เซฟใหม่เป็นเงิน 120,000 บาท
โจทก์ให้การและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้ทำให้จำเลยเสียหาย มติคณะกรรมการจำเลยที่ให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกู้ยืมเงินจากนางมาลี ปฏิโภคสุทธิ์ และการจ่ายเงินโบนัส เป็นดุลพินิจของโจทก์ที่จะกระทำได้ การกู้ยืมเงินจากนางมาลี เป็นการกู้ยืมโดยไม่มีหลักประกันและมีการจ่ายคืนเงินกู้แก่นางมาลีไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2544 จำเลยไม่มีระเบียบข้อบังคับว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรสามารถเบิกค่าวิชาชีพได้เพียงเดือนละ 5,000 บาท โจทก์จึงมีสิทธิจัดสรรค่าตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ กันได้ตามความเหมาะสมกับเงินงบประมาณ นอกจากนี้ จำเลยไม่มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่พนักงานที่ลาออก การจ่ายค่าตอบแทนให้แก่นายชัยรัตน์ และนายรักษ์ โจทก์พิจารณาตอบแทนให้ในฐานะที่บุคคลทั้งสองเคยทำงานสร้างประโยชน์ให้บริษัทด้วยดีเป็นเวลานาน โจทก์คืนกุญแจตู้เซฟให้แก่จำเลยแล้วหลังจากจำเลยฟ้องแย้งเข้ามาในคดี โจทก์ทำงานกับจำเลยด้วยความสุจริต จนทำให้จำเลยได้รับรางวัล ” ธรรมาภิบาลดีเด่น ” โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดต่อจำเลย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2544 อันเป็นวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…การนั่งพิจารณาคดีแรงงาน ศาลแรงงานต้องมีผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละเท่า ๆ กันเป็นองค์คณะพิจารณา ซึ่งจะต้องนั่งพิจารณาคดีไปจนเสร็จสิ้นการพิจารณาคดี เว้นแต่กรณีมีเหตุสุดวิสัย หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทำให้องค์คณะผู้พิจารณาคดีไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางจะนั่งพิจารณาคดีแทน หรือมอบหมายให้ผู้พิพากษาหรือผู้พิพากษาสมทบนั่งพิจารณาคดีแทนต่อไปก็ได้ และตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 20 บัญญัติว่าอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานมีอำนาจจัดให้ผู้พิพากษาสมทบคนอื่นเข้าปฏิบัติหน้าที่แทน ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอื่นที่ไม่อาจก้าวล่วงได้ ประกอบกับเรื่องนี้โจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ทั้งล่วงพ้นเวลาโต้แย้งคัดค้านแล้ว และมิได้มีคำขอให้ศาลแรงงานกลางรอการพิจารณาคดีไว้ก่อน เพื่อให้มีการปฏิบัติในเรื่ององค์คณะในการพิจารณาคดีให้เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม แสดงว่า โจทก์ยอมรับอำนาจศาลในเรื่ององค์คณะในการพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลางดังกล่าว การพิจารณาคดีนี้จึงเป็นการชอบแล้ว และเมื่อการพิจารณาคดีเสร็จสิ้น นายสมมาตรผู้พิพากษา นายดำเกิงและนายจำลองผู้พิพากษาสมทบซึ่งเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ จึงมีอำนาจทำคำพิพากษาต่อไปได้ คำพิพากษาคดีนี้จึงชอบแล้วเช่นกัน อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน