คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8492/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลแรงงาน ไว้โดยเฉพาะที่จะเรียกพยานหลักฐานใด ๆ มาสืบ และมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานใด ๆ ที่เห็นว่าจะทำให้ได้ ความชัดแจ้งในข้อเท็จจริงแห่งคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่ความ
ศาลแรงงานสั่งรับเอกสารที่จำเลยส่งศาลและรับฟังสำเนาเอกสารของจำเลยเพราะเห็นว่าเป็นเอกสารสำคัญแห่งคดีที่จะทำให้ได้ความชัดแจ้งในข้อเท็จจริงแห่งคดี และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่ความ เป็นการสั่งรับโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 45 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะดังกล่าว จึงเป็นการสั่งรับและรับฟังพยานหลักฐานโดยชอบด้วยกฎหมาย
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์โดยไม่ตั้งผู้แทนจากสหภาพแรงงานร่วมเป็นกรรมการตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จึงเป็นการสอบสวนและเลิกจ้างโดยไม่ชอบ โจทก์มิได้กล่าวอ้างเรื่องนี้มาในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงาน ทั้งมิได้เป็นปัญหาเกี่ยวกับ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
แม้จำเลยไม่ยื่นสำเนาเอกสารต่อศาลและไม่ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนวันสืบพยาน แต่ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ศาลแรงงานก็มีอำนาจใช้ ดุลพินิจสั่งรับเอกสารดังกล่าวไว้เป็นพยานของจำเลยได้ โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานในการ สั่งรับเอกสารเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงิน ๕,๑๐๑,๙๗๒.๙๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิจารณาแล้ว ที่โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่า จำเลยส่งเอกสารซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในคดีต่อศาลแรงงานกลางเพื่อประกอบคำเบิกความของพยานจำเลย โดยไม่ยื่นสำเนาเอกสารดังกล่าวต่อศาลและไม่ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนวันสืบพยาน โจทก์คัดค้านการอ้างส่งเอกสารของจำเลยแล้ว และต้นฉบับเอกสารฉบับหนึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลย แต่จำเลยไม่ส่งต้นฉบับเอกสารดังกล่าวต่อศาล ศาลแรงงานกลางสั่งรับเอกสารและรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ให้ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร” ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจศาลแรงงานไว้โดยเฉพาะที่จะเรียกพยานหลักฐานใด ๆ มาสืบ และมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานใด ๆ ที่เห็นว่าจะทำให้ได้ความชัดแจ้งในข้อเท็จจริงแห่งคดีและการให้ได้ความชัดแจ้งดังกล่าวนั้นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่ความ ศาลแรงงานกลางสั่งรับเอกสารไว้และรับฟังสำเนาเอกสารของจำเลยเพราะเห็นว่าเป็นเอกสารที่จะทำให้ได้ความชัดแจ้งในข้อเท็จจริงแห่งคดี และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่ความนั้นเอง เป็นการสั่งรับโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงเป็นการสั่งรับและรับฟังพยานหลักฐานโดยชอบด้วยกฎหมาย
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์โดยไม่ตั้งผู้แทนจากสหภาพแรงงานร่วมเป็นกรรมการตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจึงเป็นการสอบสวนและเลิกจ้างโดยไม่ชอบนั้น เห็นว่า โจทก์มิได้กล่าวอ้างเรื่องนี้มาในคำฟ้อง อุทธรณ์ข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ทั้งมิได้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
และที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยจงใจเพิกเฉย และเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายโดยไม่ยื่นสำเนาเอกสารต่อศาล และไม่ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนวันสืบพยาน ที่ศาลแรงงานกลางสั่งรับเอกสารดังกล่าวไว้โดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นการยกเรื่องประโยชน์แห่งความยุติธรรมมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย เพราะมิได้เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ทำให้โจทก์เสียเปรียบในเชิงคดีนั้น เห็นว่า แม้จำเลยไม่ยื่นสำเนาเอกสารต่อศาล และไม่ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนวันสืบพยาน แต่ถ้าศาลแรงงานกลางเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งรับเอกสารดังกล่าวไว้เป็นพยานของจำเลยได้ อุทธรณ์โจทก์เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานกลางในการสั่งรับเอกสารที่จำเลยไม่ได้ส่งสำเนาให้แก่ศาลและโจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง… ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.

Share