คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7814/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ทำหนังสือสัญญาอนุญาตให้โจทก์ที่ 2 ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า หลังจากที่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มีผลใช้บังคับ มาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า เจ้าของเครื่องหมายการค้าได้จดทะเบียนแล้วจะทำสัญญาอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าของตนได้ แต่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองเพิ่งยื่นคำขอและได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 ภายหลังจากที่มีการฟ้องคดีนี้จึงเท่ากับว่าขณะยื่นฟ้องคดีนี้ จำเลยทั้งเจ็ดไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 2 ในเครื่องหมายการค้าตามที่กล่าวอ้างในฟ้อง โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งเจ็ด
ลักษณะเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าบนขวดน้ำยาล้างจานเป็นภาพมะนาวอยู่ด้านบนภาพของจานช้อนอยู่ด้านล่าง คำว่า ซันไลต์ อยู่กลางมีข้อความผลิตภัณฑ์ล้างจาน ข้อความว่าขัดคราบมันและกลิ่นคาว และข้อความว่าล้างจานชามกองใหญ่ได้ใสสะอาด และมีกลุ่มของสีเป็นสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน และสีเหลือง ทั้งภาพ คำ ข้อความและกลุ่มสีทั้งหมดรวมกันเป็นเครื่องหมายการค้าเดียว จำเลยที่ 1 เพิ่งนำเครื่องหมายการค้าคำว่า ทีไลม ไปใช้กับภาพ คำ ข้อความและกลุ่มสี รวมเป็นเครื่องหมายการค้าเดียวแล้วนำไปใช้กับสินค้าน้ำยาล้างจาน หลังจากโจทก์ที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้ามานานหลายปี โดยมีภาพมะนาวอยู่ด้านบน ภาพกองจาน ช้อน แก้ว อยู่ด้านล่าง มีคำว่า ทีไลม อยู่ในตำแหน่งตรงกลางเช่นเดียวกับคำว่า ซันไลต์ โดยมีขนาดตัวอักษรใกล้เคียงกัน ข้อความว่าผลิตภัณฑ์ล้างจานชามกองใหญ่ได้สะอาดก็มีเช่นเดียวกับของโจทก์ที่ 1 ส่วนที่โจทก์ที่ 1 ใช้คำว่า “ขจัดคราบน้ำมันและกลิ่นคาว” จำเลยก็เลี่ยงเป็นว่า “กำจัดคราบน้ำมันและกลิ่นคาว” และกลุ่มของสีจำเลยที่ 1 ใช้สีแดง เขียว น้ำเงิน และเหลือง โดยวางตำแหน่งและการเรียงสีในลักษณะที่คล้ายกันมาก เมื่อนำภาพ คำ ข้อความและกลุ่มของสีเหล่านี้ไปใช้กับขวดบรรจุสินค้าประเภทเดียวกันคือน้ำยาล้างจานที่มีลักษณะเช่นเดียวกันกับของโจทก์ที่ 1 ย่อมเป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าลักษณะโดยรวมของการใช้เครื่องหมายการค้าทั้งหมดเป็นการจงใจเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่การพัฒนาการตลาดขึ้นเอง ย่อมเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 คือสินค้าของโจทก์ที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำพิพากษาห้ามจำเลยทั้งเจ็ดใช้เครื่องหมายการค้าและขวดตามฟ้อง รวมทั้งห้ามใช้หรือยุ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าและขวดที่เหมือนคล้ายกับของโจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ซึ่งเป็นการรวมเครื่องหมายภาพ คำ ข้อความ และกลุ่มสีไว้เป็นเครื่องหมายการค้าเดียวและได้รับการจดทะเบียนในประเทศไทยเมื่อปี 2540 โดยก่อนหน้านั้นโจทก์ที่ 1 ได้มีการพัฒนาการในการออกแบบและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ไว้ตั้งแต่ปี 2498 ปี 2507 และปี 2537 โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาอนุญาตให้โจทก์ที่ 2 ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2544 และต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 อันเป็นเวลาภายหลังจากวันที่ 1 สิงหาคม 2544 ซึ่งโจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องคดีนี้ โจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำขอและได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์ทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าลักษณะเดียวกับที่จดทะเบียนไว้บนขวดวัตถุพยาน หมาย ว.จ.1 ในการขายสินค้าน้ำยาล้างจานซันไลต์ของโจทก์ทั้งสองมาตั้งแต่ปี 2539 ขวดตามวัตถุพยาน หมาย ว.จ.1 นั้น โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ออกแบบและได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2527 แต่ขณะเกิดข้อพิพาทกันคดีนี้สิทธิบัตรดังกล่าวหมดอายุการคุ้มครองตามกฎหมายไปแล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เป็นกรรมการเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ซึ่งเป็นเครื่องหมายเฉพาะเครื่องหมายคำ จำเลยที่ 1 ได้นำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปใช้รวมกับเครื่องหมายภาพ คำ ข้อความและกลุ่มสี บนขวดสินค้าน้ำยาล้างจาน ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 ในการขายน้ำยาล้างจานทีไลมของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2543
มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดเพราะสัญญาที่โจทก์ที่ 1 อนุญาตให้โจทก์ที่ 2 ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ที่ 1 ทำหนังสือสัญญาอนุญาตให้โจทก์ที่ 2 ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2544 อันเป็นเวลาภายหลังวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 ซึ่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มีผลใช้บังคับ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 68 บัญญัติไว้ว่า เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วจะทำสัญญาอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าของตนได้ แต่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองเพิ่งยื่นคำขอและได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 ภายหลังจากที่มีการฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2544 จึงเท่ากับว่าขณะยื่นฟ้องคดีนี้ จำเลยทั้งเจ็ดไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 2 ในเครื่องหมายการค้าตามที่กล่าวอ้างในฟ้อง คงโต้แย้งแต่เพียงสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 เท่านั้น โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งเจ็ด คำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ว่า เครื่องหมายการค้าซึ่งจำเลยที่ 1 ใช้บนขวดน้ำยาล้างจาน หมาย ว.จ.2 ในการขายน้ำยาล้างจานทีไลม ของจำเลยที่ 1 มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ซึ่งโจทก์ที่ 1 ใช้บนขวดน้ำยาล้างจาน หมาย ว.จ.1 ในการขายน้ำยาล้างจานซันไลต์ จนนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 คือสินค้าของโจทก์ที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ได้มีการพัฒนาการในการออกแบบและจดทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 2498 ปี 2507 และปี 2537 และครั้งสุดท้ายปี 2540 และโจทก์ที่ 1 ได้นำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปใช้บนขวดน้ำยาล้างจาน หมาย ว.จ.1 ในการขายสินค้าน้ำยาล้างจานซันไลต์มานานหลายปีก่อนจำเลยที่ 1 จะเริ่มใช้เครื่องหมายการค้าบนขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 ในการขายน้ำยาล้างจานทีไลม ลักษณะของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 บนขวดน้ำยาล้างจาน หมาย ว.จ.1 นั้น เป็นภาพมะนาวอยู่ด้านบนภาพของจานช้อนอยู่ด้านล่าง คำว่าซันไลต์อยู่กลางมีข้อความว่าผลิตภัณฑ์ล้างจาน ข้อความว่าขจัดคราบมันและกลิ่นคาว และข้อความว่าล้างจานชามกองใหญ่ได้ใสสะอาด และมีกลุ่มของสีเป็นสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน และสีเหลือง ทั้งภาพ คำ ข้อความและกลุ่มสีทั้งหมดรวมกันเป็นเครื่องหมายการค้าเดียว ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 นั้นเป็นเพียงเครื่องหมายคำ คำว่า ทีไลม โดยไม่มีภาพ ข้อความ หรือกลุ่มสีอื่นใดประกอบ จำเลยที่ 1 เพิ่งนำเครื่องหมายการค้าคำว่าทีไลมดังกล่าวไปใช้กับภาพ คำ ข้อความและกลุ่มสี รวมเป็นเครื่องหมายการค้าเดียวแล้วนำไปใช้กับสินค้าน้ำยาล้างจาน ตามวัตถุพยาน หมาย ว.จ.2 ตั้งแต่เมื่อปี 2543 หลังจากโจทก์ที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 บนขวดน้ำยาล้างจาน หมาย ว.จ.1 มานานหลายปี โดยเครื่องหมายการค้า ตามวัตถุพยาน หมาย ว.จ.2 ของจำเลยที่ 1 มีภาพมะนาวอยู่ด้านบน ภาพกองจาน ช้อน แก้วอยู่ด้านล่างเช่นเดียวกับของโจทก์ที่ 1 มีคำว่า ทีไลม อยู่ในตำแหน่งตรงกลางเช่นเดียวกับคำว่าซันไลต์ของโจทก์ที่ 1 โดยมีขนาดตัวอักษรใกล้เคียงกัน จำเลยที่ 1 ยังได้ทำตัวสระไม้มลายจากเดิมที่ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ได้หยักหัวไว้กลายเป็นตัวสระไม้มลายที่หยักหัวไว้คล้ายกับของโจทก์ที่ 1 ข้อความว่าผลิตภัณฑ์ล้างจานและล้างจานชามกองใหญ่ได้ใสสะอาดก็มีเช่นเดียวกับของโจทก์ที่ 1 ส่วนข้อความที่โจทก์ที่ 1 ใช้คำว่า “ขจัดคราบน้ำมันและกลิ่นคาว” จำเลยที่ 1 ก็เลี่ยงเป็นว่า “กำจัดคราบน้ำมันและกลิ่นคาว” และส่วนสุดท้ายคือกลุ่มของสี จำเลยที่ 1 ใช้สีแดง เขียว น้ำเงิน และเหลือง เช่นเดียวกับของโจทก์ที่ 1 โดยวางตำแหน่งและการเรียงสีในลักษณะที่คล้ายกันมาก เมื่อนำภาพ คำ ข้อความและกลุ่มของสีเหล่านี้ไปใช้กับขวดบรรจุสินค้าประเภทเดียวกันคือน้ำยาล้างจานที่มีลักษณะของขวดไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง คอขวด และฝาขวด รวมทั้งพื้นสีที่มีลักษณะเช่นเดียวกันกับของโจทก์ที่ 1 ย่อมเป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าลักษณะโดยรวมของการใช้เครื่องหมายการค้าทั้งภาพ คำ ข้อความ และสี บนขวด ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 ทั้งหมดเป็นการจงใจเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้า เอกสารหมาย จ.8 ที่ใช้อยู่บนวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 เพื่อประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นการพัฒนาการตลาดขึ้นมาเอง การขายสินค้าน้ำยาล้างจานของจำเลยที่ 1 ในลักษณะเช่นนี้ย่อมทำให้ผู้ซื้อสินค้าจำนวนหนึ่ง ซึ่งคงมีไม่น้อย สับสนหลงผิดได้ว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นสินค้าของโจทก์ที่ 1 คดีฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าซึ่งจำเลยที่ 1 ใช้บนขวดน้ำยาล้างจาน หมาย ว.จ.2 ในการขายน้ำยาล้างจานทีไลมของจำเลยที่ 1 มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ซึ่งโจทก์ที่ 1 ใช้บนขวดน้ำยาล้างจาน หมาย ว.จ.1 ในการขายน้ำยาล้างจานซันไลต์ จนนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 คือสินค้าของโจทก์ที่ 1 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ร่วมกับภาพ คำ ข้อความ และกลุ่มสีดังกล่าว แม้จะคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 แต่ก็ไม่ถึงขนาดทำให้สาธารณชนสันสบหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 คือสินค้าของโจทก์ที่ 1 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ห้ามจำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้า ตามที่ปรากฏบนขวดวัตถุพยาน หมาย ว.จ.2 ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ตามที่ปรากฏบนขวดวัตถุพยาน หมาย ว.จ.1 ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินจำนวน 100,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมที่เกี่ยวกับคู่ความอื่นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ.

Share