คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2857/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. เมื่อ อ.ถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. ย่อมสิ้นสุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1501 มีผลให้ต้องคิดส่วนแบ่งทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. ตั้งแต่วันที่การสมรสสิ้นไปด้วยเหตุความตายนั้น ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1625 ที่ดินพิพาทจึงต้องแบ่งให้จำเลยที่ 1 และ อ. ได้คนละส่วนเท่ากัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533 ที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งส่วนของ อ. ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมคือ โจทก์กับบุตรอีก 4 คน ของ อ. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 และจำเลยที่ 1 คู่สมรสซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเสมือนเป็นทายาทชั้นบุตร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599, 1629 (1) และ 1635 (1) ดังนี้ ที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นมรดกของ อ. จึงต้องแบ่งให้แก่ บุตรทุกคนรวมทั้งโจทก์ โจทก์และจำเลยที่ 1 คนละ 1 ใน 6 จำเลยที่ 1 จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท 7 ใน 12 ส่วน และมีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้เฉพาะส่วนของตนเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทรวมทั้งส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งมิใช่ทายาทโดยธรรม ของ อ. โดยไม่มีค่าตอบแทน เป็นทางเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ อ. คนหนึ่งย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเฉพาะส่วนของตนและเรียกทรัพย์มรดกของ อ. ในส่วนของตนได้ ตาม ป.พ.พ มาตรา 1300 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 กึ่งหนึ่งของที่ดินพิพาท นั้น จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 66541 ตำบลหมากเขียบ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งแยกใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามส่วนสัดของโจทก์ที่จะได้รับหรือใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 66541 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 กึ่งหนึ่งในส่วนที่เป็นมรดกของนางอารีย์ โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมตามส่วนสัดที่โจทก์มีสิทธิในที่ดินส่วนที่เป็นมรดกของนางอารีย์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางอารีย์ มีบุตรด้วยกัน 5 คน คือ นางมนต์รัก นางสาวอาภา โจทก์ นางปรียา และนายมารุต ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 66541 ตำบลหมากเขียบ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางอารีย์ แต่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงคนเดียว นางอารีย์ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางอารีย์ ต่อมา จำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งเสียก่อนตายของนางอารีย์ซึ่งให้โอนที่ดินพิพาทแก่นางสาววรรณเย็น แต่นางสาววรรณเย็นเกรงว่าสำนักงานสรรพากรพื้นที่ศรีสะเกษจะยึดที่ดินพิพาทไปชำระค่าภาษีอากร จึงให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมารดารับโอนไว้แทน คำสั่งเสียก่อนตายของนางอารีย์ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางอารีย์ เมื่อนางอารีย์ถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางอารีย์ย่อมสิ้นสุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 การคิดส่วนแบ่งทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางอารีย์มีผลตั้งแต่วันที่การสมรสสิ้นไปด้วยเหตุความตายนั้น และการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอยู่ในข้อบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625 ที่ดินพิพาทจึงต้องแบ่งให้จำเลยที่ 1 และนางอารีย์ได้คนละส่วนเท่ากัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 ที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งส่วนของนางอารีย์ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมคือ นางมนต์รัก นางสาวอาภา โจทก์ นางปรียา และนายมารุต บุตรของนางอารีย์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 และจำเลยที่ 1 คู่สมรสเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเสมือนเป็นทายาทชั้นบุตร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599, 1629 (1) และ 1635 (1) ดังนี้ ที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นมรดกของนางอารีย์จึงต้องแบ่งให้แก่นางมนต์รัก นางสาวอาภา โจทก์ นางปรียา นายมารุต และจำเลยที่ 1 คนละ 1 ใน 6 ส่วน นางมนต์รัก นางสาวอาภา โจทก์ นางปรียา และนายมารุตจึงมีกรรมสิทธิ์คนละ 1 ใน 12 ส่วน ของที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท 7 ใน 12 ส่วน จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้เฉพาะส่วนของตนเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทรวมทั้งส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งมิใช่ทายาทโดยธรรมของนางอารีย์โดยไม่มีค่าตอบแทน เป็นทางเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของนางอารีย์คนหนึ่งย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเฉพาะส่วนของตนและเรียกทรัพย์มรดกของนางอารีย์ในส่วนของตนได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งในส่วนที่เป็นมรดกของนางอารีย์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 แบ่งทรัพย์มรดกของนางอารีย์ให้แก่บุตรทุกคนมากกว่าส่วนที่บุตรแต่ละคนจะได้รับเนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้โอนส่วนของตนให้ไปด้วย หากต้องแบ่งทรัพย์มรดกตามส่วนสัดที่บุตรแต่ละคนจะได้รับตามกฎหมายแล้วจะเกิดความเสียหายและมีปัญหาความไม่สงบสุขภายในครอบครัวตามมาภายหลัง เพราะพี่น้องจะฟ้องร้องกันไม่จบสิ้น การแบ่งทรัพย์มรดกตามที่จำเลยที่ 1 กระทำเป็นประโยชน์แก่บุตรทุกคนมากกว่าการแบ่งตามบทบัญญัติของกฎหมายนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางอารีย์มีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามกฎหมาย แม้นางอารีย์จะมีทรัพย์มรดกอื่นนอกจากที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ก็ต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกเหล่านั้นให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เว้นแต่ทายาททุกคนจะตกลงยินยอมกัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 แบ่งปันทรัพย์มรดกตามที่ตนเองเห็นสมควรโดยทายาททุกคนไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย และมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังที่วินิจฉัยข้างต้น แม้การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ทายาทดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ก็หาทำให้การจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 เป็นการชอบด้วยกฎหมายไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 66541 ตำบลหมากเขียบ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 จำนวน 1 ใน 12 ส่วนของโจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางอารีย์จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมตามส่วนดังกล่าว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share