คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1622/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ จำเลยกระทำความผิดโดยเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ส่วนความผิดฐานก่อการร้ายนั้น จำเลยร่วมกระทำความผิดด้วยการสะสมกำลังพลและอาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใดหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย การกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว แม้จำเลยจะได้กระทำในช่วงเวลาเดียวกัน แต่การกระทำความผิดนั้นเป็นการกระทำคนละอย่างแตกต่างกันและต่างกรรมต่างวาระกัน ทั้งเจตนาและความมุ่งหมายในการเป็นอั้งยี่และการก่อการร้ายก็เป็นคนละอย่างต่างกัน การกระทำความผิดของจำเลยในความผิดฐานเป็นอั้งยี่และก่อการร้ายจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน มิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 135/2, 209
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/2 (2) ประกอบมาตรา 83, 209 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันตระเตรียมการหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษ หนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้โดยคู่ความไม่โต้แย้งกันว่า ก่อนเกิดเหตุจนถึงขณะเกิดเหตุ มีคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย สมคบกันก่อตั้งขบวนการก่อการร้าย มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งแยกจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และบางอำเภอของจังหวัดสงขลา ออกจากราชอาณาจักรไทย โดยสะสมกำลังพลและอาวุธ สมคบกันเพื่อก่อการร้ายโดยลอบฆ่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ ลอบวางระเบิดเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน วันที่ 6 กันยายน 2553 เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองพบฐานปฏิบัติการของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบบนเทือกเขาตะเว ที่เกิดเหตุ พบอาวุธปืนลูกซอง 2 กระบอก พร้อมกระสุนปืนลูกซองหลายนัด เครื่องกระสุนปืน ขนาด 40 มม. หรือกระสุนปืน เอ็ม 203 จำนวน 1 ลูก กระสุนปืนขนาด 7.62 มม. 1 นัด เครื่องวิทยุโทรคมนาคม 1 เครื่อง วัตถุระเบิด อุปกรณ์ประกอบระเบิดหลายรายการ และสิ่งของเครื่องใช้จำนวนมาก วันที่ 7 กันยายน 2553 เจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ไปตรวจเก็บวัตถุพยานบนเทือกเขาตะเวที่เกิดเหตุ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่และร่วมกันก่อการร้ายตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจตรีเอกพล เบิกความว่า พยานเป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยปฏิบัติการร่วม ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองขึ้นลาดตระเวนตรวจค้นบนเทือกเขาตะเวที่เกิดเหตุ พบอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมาก ข้าวของเครื่องใช้ของผู้ก่อความไม่สงบ รวมทั้งหมวกไหมพรมสีเขียว ผลการตรวจดีเอ็นเอหรือสารพันธุกรรมโดยเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์พบว่าหมวกไหมพรมสีเขียวดังกล่าวมีสารพันธุกรรมตรงกับสารพันธุกรรมของจำเลย ร้อยตำรวจโทปิยะเชษฐ์ เจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เบิกความว่า วันที่ 7 กันยายน 2553 พยานกับเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ รวม 9 คน ขึ้นไปตรวจเก็บวัตถุพยานบนเทือกเขาตะเว จากการสังเกตข้าวของเครื่องใช้ผ่านการใช้มาไม่นาน พยานจะเก็บสารพันธุกรรมหรือลายพิมพ์นิ้วมือแฝงจากวัตถุพยานที่พบในที่เกิดเหตุ วิธีการเก็บ หากวัตถุพยานใดสามารถเก็บโดยใช้สำลีเช็ดก็จะตรวจเก็บในขณะนั้น หากไม่สามารถตรวจเก็บได้ในที่เกิดเหตุก็จะตรวจเก็บใส่ซองของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ปิดผนึก แล้วพยานจะลงลายมือชื่อกำกับการปิดผนึก รวมทั้งบันทึกชื่อผู้ตรวจเก็บ สถานที่พบและสิ่งของที่บรรจุไว้บนหีบห่อดังกล่าวด้วย มีการตรวจเก็บหมวกไหมพรมได้หลายใบ และพบสารพันธุกรรมของจำเลยที่หมวกไหมพรมสีเขียว พยานทราบว่าจำเลยเคยถูกควบคุมตัวและเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมไว้ในสารบบตั้งแต่ปี 2552 สิบเอกชัยณรงค์ เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุมีการตรวจค้นบ้านยายจำเลย 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นวันที่ 19 มีนาคม 2552 หน่วยลาดตระเวนพบเห็นคนถืออาวุธปืนวิ่งออกจากยุ้งข้าวหลังบ้านยายจำเลย แต่ไม่สามารถจับคนดังกล่าวได้ วันดังกล่าวพบจำเลย พยานจึงส่งจำเลยไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ก่อนปล่อยจำเลยไปได้มีการเก็บสารพันธุกรรมของจำเลยไว้ ต่อมาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองเข้าตรวจค้นบ้านยายจำเลยอีกครั้ง พบกระสุนปืนและซองกระสุนปืนเอ็ม 16 เห็นว่า การตรวจเก็บวัตถุพยานในที่เกิดเหตุกระทำโดยเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งกระทำอย่างรัดกุม ทั้งนี้เชื่อว่าเพื่อป้องกันการสับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมวัตถุพยานที่ตรวจเก็บได้ วัตถุพยานใดสามารถตรวจเก็บสารพันธุกรรมหรือลายพิมพ์นิ้วมือแฝงในที่เกิดเหตุได้ก็จะตรวจเก็บในขณะนั้น วัตถุพยานใดไม่สามารถตรวจเก็บในที่เกิดเหตุได้ก็จะบรรจุซองของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ปิดผนึก แล้วร้อยตำรวจโทปิยะเชษฐ์ เจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์จะลงลายมือชื่อกำกับการปิดผนึก รวมทั้งบันทึกชื่อผู้ตรวจเก็บ สถานที่พบและสิ่งของที่บรรจุในหีบห่อ สถานที่เกิดเหตุที่ไปตรวจเก็บวัตถุพยานอยู่บนเทือกเขาตะเว ซึ่งอยู่ในป่าลึก ต้องใช้เวลาเดินทางเข้าไปประมาณ 2 ชั่วโมง เมื่อนำสารพันธุกรรมที่ได้จากหมวกไหมพรมสีเขียวของกลางไปเปรียบเทียบกับสารพันธุกรรมของจำเลยที่ตรวจเก็บไว้เมื่อปี 2552 ขณะมีการควบคุมตัวจำเลยในครั้งที่ไปตรวจค้นบ้านยายจำเลยครั้งแรก พบว่ามีสารพันธุกรรมตรงกัน และเมื่อมีการตรวจค้นบ้านยายจำเลยอีกครั้งเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 พบกระสุนปืนและซองกระสุนปืนเอ็ม 16 กับพบบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยดังที่ร้อยตำรวจเอกนเรศ พนักงานสอบสวนเบิกความด้วย จำเลยยอมรับว่าหมวกไหมพรมดังกล่าวเป็นของจำเลย แต่อ้างว่าหมวกดังกล่าวถูกเจ้าหน้าที่ยึดไปพร้อมเสื้อผ้าและบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยนั้น เห็นว่า ในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นพบอาวุธปืน ซองกระสุนปืนเอ็ม 16 พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลย เจ้าหน้าที่ย่อมมุ่งประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยเกี่ยวกับอาวุธปืนและซองกระสุนปืนดังกล่าวซึ่งอยู่กับบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลย พยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยจึงอยู่ที่อาวุธปืน ซองกระสุนปืนและบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าว จึงไม่มีเหตุผลใดที่เจ้าหน้าที่จะยึดหมวกไหมพรมของกลางพร้อมเสื้อผ้าของจำเลย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานมีอาวุธปืนดังกล่าวไปเป็นพยานหลักฐานด้วย อีกทั้งจำเลยและนางสาวซากีเราะ พยานจำเลยก็เบิกความแตกต่างกันเกี่ยวกับสถานที่ตรวจยึดหมวกไหมพรมดังกล่าว โดยจำเลยว่าเจ้าหน้าที่ยึดไปจากบ้านจำเลย แต่นางสาวซากีเราะว่ายึดไปจากบ้านยายจำเลย คำพยานจำเลยจึงเป็นพิรุธ ไม่มีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักเพียงพอให้ฟังได้ว่า เจ้าหน้าที่ตรวจยึดหมวกไหมพรมของกลางจากเทือกเขาตะเว อันเป็นฐานปฏิบัติการของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยร่วมกับขบวนการก่อความไม่สงบ และแม้จะไม่พบสารพันธุกรรมหรือลายพิมพ์นิ้วมือแฝงของจำเลยที่วัตถุพยานรายการอื่นก็น่าเชื่อว่าเป็นเพราะฐานปฏิบัติการดังกล่าวเพิ่งตั้งขึ้นไม่นานดังที่ร้อยตำรวจโทปิยะเชษฐ์ เจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ซึ่งขึ้นไปเก็บวัตถุพยานบนเทือกเขาตะเวที่เกิดเหตุเบิกความว่า จากการสังเกตเห็นว่าข้าวของเครื่องใช้บนฐานปฏิบัติการผ่านการใช้มาไม่นาน จำเลยจึงอาจขึ้นไปบนฐานไม่กี่ครั้งและยังไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัตถุพยานรายการอื่น ส่วนที่จำเลยให้ถ้อยคำต่อสิบเอกชัยณรงค์ว่าจำเลยขึ้นไปประกอบอาหารให้ผู้ก่อความไม่สงบ ก็อาจเป็นข้ออ้างของจำเลยเท่านั้น การไม่พบลายพิมพ์นิ้วมือแฝงหรือสารพันธุกรรมของจำเลยที่วัตถุพยานอื่นจึงหาเป็นข้อพิรุธไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่และร่วมกันก่อการร้ายตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ จำเลยกระทำความผิดโดยเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ส่วนความผิดฐานก่อการร้ายนั้น จำเลยร่วมกระทำความผิดด้วยการสะสมกำลังพลและอาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใดหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย การกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว แม้จำเลยจะได้กระทำในช่วงเวลาเดียวกัน แต่การกระทำความผิดนั้นเป็นการกระทำคนละอย่างแตกต่างกันและต่างกรรมต่างวาระกัน ทั้งเจตนาและความมุ่งหมายในการเป็นอั้งยี่และการก่อการร้ายก็เป็นคนละอย่างต่างกัน การกระทำความผิดของจำเลยในความผิดฐานเป็นอั้งยี่และก่อการร้ายจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน มิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/2 (2) ประกอบมาตรา 83, 209 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นอั้งยี่ จำคุก 3 ปี ฐานร่วมกันก่อการร้าย จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 8 ปี

Share