คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2542/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ไม่ได้บัญญัติในเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 144 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.52/2553 ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยอ้างว่าลูกหนี้มีสินทรัพย์น้อยกว่าหนี้สิน และอ้างข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (7) และ (9) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนช่องทางในการฟื้นฟูกิจการลูกหนี้อ้างว่าจะดำเนินการโดยการปรับโครงสร้างหนี้ และหาผู้ร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการ “จูเมร่า ไพรเวท ไอส์แลนด์ ภูเก็ต” ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานที่ลูกหนี้นำสืบมาไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและกรณีมีเหตุอันสมควรและมีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เนื่องจากพยานหลักฐานของลูกหนี้ไม่น่าเชื่อถือว่าลูกหนี้มีสินทรัพย์น้อยกว่าหนี้สิน ในขณะที่ช่องทางหลักในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ศาลล้มละลายกลาง เห็นว่า ปัญหาในการดำเนินธุรกิจเพื่อพัฒนาโครงการ “จูเมร่า ไพรเวท ไอส์แลนด์ ภูเก็ต” ของลูกหนี้ไม่ได้มีแต่ปัญหาการไม่ชำระหนี้หรือปัญหาในการรวบรวมและจัดการบริหารทรัพย์สินของลูกหนี้ แต่ปัญหาสำคัญจริง ๆ เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างและการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจของลูกหนี้และกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องการโอนหุ้นของบริษัทลูกหนี้และบริษัทในเครือที่มีเรื่องฟ้องร้องกันหลายคดี และข้อพิพาทเหล่านี้เป็นข้อพิพาทที่อยู่นอกเหนือกระบวนการของกฎหมายล้มละลาย จึงมีคำสั่งยกคำร้องขอ ส่วนคดีนี้ผู้ร้องขอทั้งสองนำเสนองบดุลของลูกหนี้ที่อ้างว่าจัดทำโดยผู้สอบบัญชี และอ้างข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (7) และ (9) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และเสนอช่องทางในการฟื้นฟูกิจการ ด้วยวิธีการอาจปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นโดยการเพิ่มทุน หาผู้ร่วมลงทุนใหม่ กู้เงิน ปรับรูปแบบโครงการโดยจะเข้าเจรจากับโรงแรมจูเมร่า เกี่ยวกับสัญญาบริหารงานโรงแรม เพื่อปรับเปลี่ยนขั้นตอนการก่อสร้างและขนาดของโรงแรม ยื่นขออนุญาตส่งเสริมการลงทุน หาคนกลางมาเป็นผู้ทำแผนและผู้บริหารชั่วคราวเพื่อดูแลกิจการของลูกหนี้แทนกรรมการลูกหนี้ที่มีข้อขัดแย้งกันอยู่โดยเสนอบริษัท น. เป็นผู้ทำแผน ซึ่งในการพิจารณาคดีนี้ศาลยังคงต้องพิจารณาและวินิจฉัยว่าลูกหนี้มีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สินหรือไม่ ทั้งการพิจารณานอกจากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายแล้วก็ยังต้องพิจารณางบดุลและพิจารณาการประเมินราคาทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อเทียบกับหนี้สินเหมือนในคดีก่อน ส่วนช่องทางในการฟื้นฟูกิจการที่ผู้ร้องขอที่ 2 เสนอมาก็เป็นช่องทางที่สาระสำคัญหรือหลักการไม่ได้แตกต่างไปจากที่ศาลล้มละลายกลางได้วินิจฉัย ไว้แล้วในคดีก่อนแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นแนวทางในการพัฒนาธุรกิจของลูกหนี้ ปัญหาเรื่องโครงสร้างและการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจของลูกหนี้ ข้อขัดแย้งของกรรมการและผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ ดังนั้น การพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.52/2553 ตาม ป.วิ.พ. 144 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14

ย่อยาว

ผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งบริษัทเนชั่นแนล แอ็ดไวเซอรี่ จำกัด เป็นผู้ทำแผน หากศาลยังไม่มีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนก็ให้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้บริหารชั่วคราว
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องขอทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ผู้ร้องขอที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า อนุญาตให้ผู้ร้องขอที่ 1 ถอนอุทธรณ์ได้ ให้จำหน่ายคดีในส่วนของผู้ร้องขอที่ 1 ออกจากสารบบความของศาลฎีกา คดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องขอที่ 2 ว่า การยื่นคำร้องขอในคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.52/2553 ของศาลล้มละลายกลางหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ไม่ได้บัญญัติในเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 บัญญัติว่า เมื่อศาลใดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น ที่ผู้ร้องขอที่ 2 อุทธรณ์ว่า ผู้ร้องขอที่ 2 มีพยานหลักฐานที่นำมาแสดงได้ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และมีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่ชัดเจนกว่าคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.52/2553 นั้น เห็นว่า คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.52/2553 ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยอ้างว่าลูกหนี้มีสินทรัพย์น้อยกว่าหนี้สิน และอ้างข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (7) และ (9) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนช่องทางในการฟื้นฟูกิจการลูกหนี้อ้างว่าจะดำเนินการโดยการปรับโครงสร้างหนี้ และหาผู้ร่วมลงทุนเพื่อพัฒนา โครงการ “จูเมร่า ไพรเวท ไอส์แลนด์ ภูเก็ต” ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานที่ลูกหนี้นำสืบมาไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและกรณีมีเหตุอันสมควรและมีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เนื่องจากพยานหลักฐานของลูกหนี้ไม่น่าเชื่อถือว่าลูกหนี้มีสินทรัพย์น้อยกว่าหนี้สิน ในขณะที่ช่องทางหลักในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ศาลล้มละลายกลาง เห็นว่า ปัญหาในการดำเนินธุรกิจเพื่อพัฒนาโครงการ “จูเมร่า ไพรเวท ไอส์แลนด์ ภูเก็ต” ของลูกหนี้ไม่ได้มีแต่ปัญหาการไม่ชำระหนี้หรือปัญหาในการรวบรวมและจัดการบริหารทรัพย์สินของลูกหนี้ แต่ปัญหาสำคัญจริง ๆ เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างและการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจของลูกหนี้และกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องการโอนหุ้นของบริษัทลูกหนี้และบริษัทในเครือที่มีเรื่องฟ้องร้องกันหลายคดี และข้อพิพาทเหล่านี้เป็นข้อพิพาทที่อยู่นอกเหนือกระบวนการของกฎหมายล้มละลาย จึงมีคำสั่งยกคำร้องขอ ส่วนคดีนี้ผู้ร้องขอทั้งสองนำเสนองบดุลของลูกหนี้ ที่อ้างว่าจัดทำโดยผู้สอบบัญชี และอ้างข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (7) และ (9) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และเสนอช่องทางในการฟื้นฟูกิจการ ด้วยวิธีการอาจปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นโดยการเพิ่มทุน หาผู้ร่วมลงทุนใหม่ กู้เงิน ปรับรูปแบบโครงการโดยจะเข้าเจรจากับโรงแรมจูเมร่า (Jumeirah) เกี่ยวกับสัญญาบริหารงานโรงแรม เพื่อปรับเปลี่ยนขั้นตอนการก่อสร้างและขนาดของโรงแรม ยื่นขออนุญาตส่งเสริมการลงทุน หาคนกลางมาเป็นผู้ทำแผนและผู้บริหารชั่วคราวเพื่อดูแลกิจการของลูกหนี้แทนกรรมการลูกหนี้ที่มีข้อขัดแย้งกันอยู่โดยเสนอบริษัทเนชั่นแนล แอ็ดไวเซอรี่ จำกัด เป็นผู้ทำแผน ซึ่งในการพิจารณาคดีนี้ศาลยังคงต้องพิจารณาและวินิจฉัยว่าลูกหนี้มีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สินหรือไม่ ทั้งการพิจารณานอกจากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายแล้วก็ยังต้องพิจารณางบดุลและพิจารณาการประเมินราคาทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อเทียบกับหนี้สินเหมือนในคดีก่อน ส่วนช่องทางในการฟื้นฟูกิจการที่ผู้ร้องขอที่ 2 เสนอมาก็เป็นช่องทางที่สาระสำคัญหรือหลักการไม่ได้แตกต่างไปจากที่ศาลล้มละลายกลางได้วินิจฉัยไว้แล้วในคดีก่อนแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นแนวทางในการพัฒนาธุรกิจของลูกหนี้ ปัญหาเรื่องโครงสร้างและการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจของลูกหนี้ ข้อขัดแย้งของกรรมการและผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ ดังนั้น การพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.52/2553 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องขอที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share