คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1339/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การพิจารณาว่าคดีแพ่งใดเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหรือไม่นั้นย่อมต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในคดีแพ่งนั้นเองว่าอาศัยเหตุจากการกระทำที่เป็นองค์ประกอบความผิดในคดีอาญาหรือไม่ เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องจำเลยในคดีแพ่งขอให้ศาลพิพากษาว่าพินัยกรรมของเจ้ามรดกเป็นพินัยกรรมปลอมและให้จำเลยเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของเจ้ามรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรเนื่องจากจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้พินัยกรรมปลอมก็โดยอาศัยเหตุมาจากการที่โจทก์ทั้งเจ็ดร้องทุกข์ให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีอาญาข้อหาปลอมพินัยกรรมและใช้พินัยกรรมปลอม ซึ่งในที่สุดศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีถึงที่สุดในคดีอาญาแล้วว่าพินัยกรรมที่โจทก์ทั้งเจ็ดอ้างว่าเป็นพินัยกรรมปลอมไม่ใช่พินัยกรรมปลอม นับได้ว่าทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาต่างมีประเด็นสำคัญโดยตรงเป็นอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดคดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งในปัญหาที่ว่าจำเลยปลอมพินัยกรรม อันจะเป็นเหตุให้จำเลยเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกเจ้ามรดกผู้ตายหรือไม่ ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า ส. เจ้ามรดกได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้า พยานจริง และพยานได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมรับรองลายมือชื่อของ ส. ในขณะเดียวกันด้วย ลายมือชื่อ ส. ในพินัยกรรมดังกล่าวมิใช่ลายมือชื่อปลอม อันมีความหมายในตัวโดยปริยายว่าจำเลยไม่ได้ปลอมพินัยกรรมดังกล่าว จึงไม่เป็นเหตุให้จำเลยเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร ตามฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ด
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ หากปลอมจำเลยเป็นผู้ปลอมพินัยกรรมดังกล่าวหรือไม่ ไม่ได้กำหนดประเด็นว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่ และโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ได้บรรยายฟ้องมาด้วยว่าพยานในพินัยกรรมไม่ได้รู้เห็นขณะที่ทำพินัยกรรมและขณะเจ้ามรดกผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรม อันเป็นการหยิบยกเรื่องแบบพินัยกรรมขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ด้วย ประกอบกับคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งศาลฎีกาในคดีอาญาฟังข้อเท็จจริงยุติแล้ว ข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงต้องถือเป็นยุติตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หยิบยกเรื่องแบบพินัยกรรมขึ้นมาวินิจฉัยเพิ่มเติมทำนองว่า พินัยกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 ประกอบมาตรา 1705 ทรัพย์มรดกของ ส. ทั้งหมดและตามพินัยกรรมจำต้องนำไปแบ่งให้ทายาทโดยธรรมทุกคนของ ส. ตามกฎหมายต่อไปนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น

ย่อยาว

โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้พิพากษาว่า พินัยกรรมของนายสิงห์โต ฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2541 เป็นพินัยกรรมปลอม และให้จำเลยเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายสิงห์โตฐานเป็นผู้ไม่สมควร
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งเจ็ด และจำเลยเป็นบุตรของนายสิงห์โต เจ้ามรดกกับนางเหี้ยว นายสิงห์โตถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2541 ส่วนนางเหี้ยวถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ต่อมาวันที่ 22 มีนาคม 2542 มีการเปิดพินัยกรรม โดยอ้างว่าเป็นพินัยกรรมของนายสิงห์โตที่ทำไว้ก่อนตายและพินัยกรรมระบุว่าจำเลยได้รับส่วนแบ่งมรดกมากกว่าโจทก์ทั้งเจ็ด ต่อมาโจทก์ทั้งเจ็ดโต้แย้งว่าพินัยกรรมปลอมและมีการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาปลอมพินัยกรรมและใช้พินัยกรรมปลอม ศาลชั้นต้นพิพากษาในคดีส่วนอาญาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (2) เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้พินัยกรรมปลอมให้ลงโทษฐานเป็นผู้ใช้พินัยกรรมปลอมแต่เพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 3 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ต่อมาศาลฎีกาพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง คดีถึงที่สุด โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมของเจ้ามรดกเป็นพินัยกรรมปลอมและให้จำเลยเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของเจ้ามรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งเจ็ดประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหรือไม่ เห็นว่าการพิจารณาว่าคดีแพ่งใดเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหรือไม่นั้น ย่อมต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในคดีแพ่งนั้นเองว่าเป็นการกระทำที่เป็นองค์ประกอบความผิดในคดีอาญาหรือไม่ คดีนี้โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องจำเลยในทางแพ่งขอให้ศาลพิพากษาว่า พินัยกรรมของเจ้ามรดกเป็นพินัยกรรมปลอมและให้จำเลยเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของเจ้ามรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร เนื่องจากจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้พินัยกรรมปลอมก็โดยอาศัยเหตุมาจากที่โจทก์ทั้งเจ็ดร้องทุกข์ให้พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีอาญาเรื่องจำเลยปลอมพินัยกรรมและใช้พินัยกรรมปลอม ซึ่งในที่สุดศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์คดีถึงที่สุดในคดีอาญาแล้วว่า พินัยกรรมที่โจทก์ทั้งเจ็ดอ้างว่าเป็นพินัยกรรมปลอมไม่ใช่พินัยกรรมปลอม คดีอาญาดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นโดยตรง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและศาลฎีกาฟังยุติและมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วไม่ใช่ประเด็นปลีกย่อย นับได้ว่าทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาต่างมีประเด็นสำคัญโดยตรงเป็นอย่างเดียวกัน เช่นนี้ ฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดคดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ดังนั้นในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งในปัญหาที่ว่า จำเลยปลอมพินัยกรรม อันจะเป็นเหตุให้จำเลยเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกเจ้ามรดกผู้ตายหรือไม่ ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า นายสิงห์โต เจ้ามรดกได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้านายอยุทธ์และนายชูชาติพยานจริง และนายอยุทธ์กับนายชูชาติได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมรับรองลายมือชื่อของนายสิงห์โตในขณะเดียวกันด้วย ลายมือชื่อนายสิงห์โตในพินัยกรรมดังกล่าวมิใช่ลายมือชื่อปลอม จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้องโจทก์ อันมีความหมายในตัวโดยปริยายว่า จำเลยไม่ได้ปลอมพินัยกรรม จึงไม่เป็นเหตุให้จำเลยเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดแต่อย่างใด
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งเจ็ดประการสุดท้ายว่า พินัยกรรมพิพาทดังกล่าวทำขึ้นโดยขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายเนื่องจากนายอยุทธ์กับนายชูชาติผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมไม่ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้านายสิงห์โตเจ้ามรดกผู้ทำพินัยกรรมอันมีผลทำให้พินัยกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 ประกอบมาตรา 1705 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ หากปลอมจำเลยเป็นผู้ปลอมพินัยกรรมดังกล่าวหรือไม่ไม่ได้กำหนดประเด็นว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่ และโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ได้บรรยายฟ้องมาด้วยว่าพยานในพินัยกรรมไม่ได้รู้เห็นขณะที่ทำพินัยกรรมและขณะเจ้ามรดกผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรม อันเป็นการหยิบยกเรื่องแบบพินัยกรรมขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ด้วย ประกอบกับคดีส่วนอาญาที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว ซึ่งศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงยุติแล้วว่านายสิงห์โตลงลายมือชื่อต่อหน้านายอยุทธ์และนายชูชาติและนายอยุทธ์กับนายชูชาติก็ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมรับรองลายมือชื่อนายสิงห์โตในขณะเดียวกันนั้นด้วยข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงต้องถือเป็นยุติตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยเพิ่มเติมทำนองว่า พินัยกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 ประกอบมาตรา 1705 ทรัพย์มรดกของนายสิงโตทั้งหมดและตามพินัยกรรมจำต้องนำไปแบ่งให้ทายาทโดยธรรมทุกคนของนายสิงห์โตตามกฎหมายต่อไปนั้น เห็นว่า การวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นเป็นการไม่ชอบ ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็มิได้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้นคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงหามีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่อย่างใดไม่ ฎีกาของโจทก์ทั้งเจ็ดทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share