คำวินิจฉัย(คำสั่ง)ที่ 12/2546

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๑๒/๒๕๔๖

วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๔๖

เรื่อง การยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒

คำสั่งของศาลปกครองสูงสุด
ระหว่าง
คำพิพากษาศาลฎีกา

การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
นายถิระศักดิ์ ตระกูลอินทร์ พนักงานอัยการ ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีปกครองแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ ๑ กรมทางหลวง ที่ ๒ และอธิบดีกรมทางหลวง ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒

ข้อเท็จจริงในคดี
นายถิระศักดิ์ ตระกูลอินทร์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง ๒ ในฐานะที่เป็นผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีปกครองแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ ๑ กรมทางหลวง ที่ ๒ และอธิบดีกรมทางหลวง ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ได้ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ อ้างว่า เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๕ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ ๔๖๑/๒๕๔๕ แก้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นในคดีของศาลปกครองกลางหมายเลขดำที่ ๘๘๐/๒๕๔๕ และหมายเลขแดงที่ ๑๑๕๙/๒๕๔๕ (ระหว่างนางมัทนา ปริฉัตร์ตระกูล ผู้ฟ้องคดี กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ ๑ กรมทางหลวง ที่ ๒ และอธิบดีกรมทางหลวง ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี) โดยคำสั่งดังกล่าวมีประเด็นเกี่ยวกับระยะเวลาการใช้สิทธิฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งรัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนเมื่อพ้นกำหนด ๖๐ วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนดเงินค่าทดแทนตามมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของรัฐมนตรีที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามนัยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนการเวนคืนไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีจึงฟ้องขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ถือได้ว่าผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนนั้นเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหาย โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ดังนัยมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดตามคำสั่งที่ ๒๐๒/๒๕๔๕ ระหว่างนายวิลาศ ใจหาญ ผู้ฟ้องคดี กับกรมทางหลวงผู้ถูกฟ้องคดี คดีนี้ผู้ฟ้องคดีไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนจึงยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๔๑ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๔ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ฟ้องคดีไม่พอใจคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ยังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีซึ่งถือเป็นวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งได้ ที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วยจึงมีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้ศาลปกครองชั้นต้นดำเนินการต่อไปหากผู้ฟ้องคดีได้ชำระค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องใหม่ภายในเวลาที่ศาลปกครองชั้นต้นกำหนด
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเห็นว่า ประเด็นเรื่องระยะเวลาในการใช้สิทธิฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ เมื่อรัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเมื่อพ้นกำหนด ๖๐ วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ได้มีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาวางหลักบรรทัดฐานไว้แล้ว กล่าวคือ กรณีที่รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่เสร็จสิ้นภายใน ๖๐ วันนับแต่วันรับอุทธรณ์ ซึ่งผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์ มิฉะนั้นไม่มีสิทธิฟ้องร้อง ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๔๐/๒๕๓๙ ที่ ๕๖๒๑/๒๕๔๐ และที่ ๒๙๐/๒๕๔๑ นอกจากนี้ คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๔๘/๒๕๓๙ วินิจฉัยไว้ด้วยว่าผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีที่วินิจฉัยเกินกำหนด ๖๐ วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีทั้งสามเห็นว่ากรณีดังกล่าวข้างต้นเป็นกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดระหว่างศาลฎีกากับศาลปกครองสูงสุดขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามได้รับความเสียหายทางคดีและเป็นบุคคลซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งดังกล่าว อันอาจมีผลต่อเนื่องถึงความเสียหายในทางทรัพย์สินของแผ่นดินโดยรวมด้วย จึงขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องดังกล่าวเพื่อจะได้ถือปฏิบัติต่อไป

คำวินิจฉัย
ข้อเท็จจริงในคดีนี้สรุปได้ว่า ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษารวม ๓ คดี ว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๒๖ วางหลักเกณฑ์การนำคดีมาฟ้องศาล เมื่อผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนยังไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีไว้ ๒ กรณีกรณีแรกเป็นกรณีที่รัฐมนตรีได้วินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จสิ้นใน ๖๐ วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ เมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจคำวินิจฉัยก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน ๑ ปีนับแต่ที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย กรณีที่สองเป็นกรณีที่รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่เสร็จสิ้นภายใน ๖๐ วันนับแต่วันรับอุทธรณ์ซึ่งผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๔๐/๒๕๓๙ ระหว่างพันเอก (พิเศษ)สมพร สีทองดี โจทก์ กรมทางหลวง จำเลย คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๔๘/๒๕๓๙ ระหว่างนายเลิศชัย ศรีกุเรชา โจทก์ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยกับพวก จำเลย และคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๒๑/๒๕๔๐ ระหว่างนายธวัชชัย กำลังงาม โจทก์ กรมโยธาธิการ จำเลย ต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ ๔๖๑/๒๕๔๕ ระหว่างนางมัทนา ปริฉัตร์ตระกูล ผู้ฟ้องคดีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ ๑ กรมทางหลวง ที่ ๒ และอธิบดีกรมทางหลวง ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี สรุปได้ว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีและนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งจะต้องยื่นฟ้องภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีแต่ไม่เกิน ๑๐ ปี ตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๕ จึงยังไม่พ้นกำหนด ๑ ปี ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปได้
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คำร้องของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามชอบด้วยมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ บัญญัติว่า “ถ้ามีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงในเรื่องเดียวกัน จนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความขัดแย้งในเรื่องฐานะหรือความสามารถของบุคคล คู่ความ หรือบุคคลอื่นซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลดังกล่าวได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ออกภายหลังถึงที่สุด …” ดังนั้น คดีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันและจะส่งให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดได้นั้นจะต้องเป็นกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันโดยมีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน กล่าวคือ มูลความแห่งคดีเดียวกันแต่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลสองศาล และศาลทั้งสองศาลนั้นตัดสินต่างกันจนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลหนึ่งและจำเลยฟ้องโจทก์ต่ออีกศาลหนึ่งโดยอาศัยมูลความแห่งคดีเดียวกันและศาลสองศาลตัดสินแตกต่างกันโดยศาลหนึ่งให้โจทก์ชนะคดีแต่อีกศาลหนึ่งให้จำเลยชนะคดี ดังนี้จะเห็นได้ว่าคู่ความไม่อาจที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลใดศาลหนึ่งได้เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายและไม่เป็นธรรม สำหรับข้อเท็จจริงตามคำร้องนี้ คู่ความในคดีที่มีคำพิพากษาฎีกาและคู่ความในคดีที่มีคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดก็มิใช่รายเดียวกันและที่ดินที่ถูกเวนคืนก็มิใช่แปลงเดียวกัน ทั้งประเด็นที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยวางหลักไว้นั้นเป็นเรื่องกำหนดเวลาฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนจากการเวนคืนที่ดินตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ แต่ประเด็นที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยไว้นั้น เป็นเรื่องกำหนดเวลาการฟ้องคดีปกครองของผู้ฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มูลความแห่งคดีและประเด็นพิพาทจึงแตกต่างกัน ดังนั้น คำร้องของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจึงมิได้มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จึงมีคำสั่งว่า คำร้องของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามมิใช่เป็นกรณีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน จึงไม่ชอบด้วยมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ อาศัยข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๘ ให้ยกคำร้องนี้เสีย

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) โภคิน พลกุล
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายโภคิน พลกุล)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share