คำวินิจฉัยที่ 31/2549

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๑/๒๕๔๙

วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๙

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลปกครองพิษณุโลก
ระหว่าง
ศาลจังหวัดพิษณุโลก

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองพิษณุโลกโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๘ นายอภิชาต บัวกล้า ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องกรมทางหลวงผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองพิษณุโลก เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๘/๒๕๔๘ ความว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ไม่ดูแลรักษาต้นไม้ในเขตทางหลวงพิษณุโลก-สุโขทัย ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเหตุให้เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๗ ต้นหางนกยูงในเขตทางหลวงล้มทับรถยนต์ของผู้ฟ้องคดี ขณะที่ผู้ฟ้องคดีขับขี่อยู่บนทางหลวงพิษณุโลก-สุโขทัย หลักกิโลเมตร ๔๖-๔๗ บ้านไผ่ขอดอน ทำให้ผู้ฟ้องคดีกับบุคคลในรถได้รับบาดเจ็บและรถยนต์ได้รับความเสียหาย ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน ๔,๗๑๖ บาท เสียค่าซ่อมรถยนต์ที่เสียหายเป็นเงินจำนวน ๓๓๓,๑๕๐ บาท และเสียค่าเช่ารถยนต์ใช้ทดแทนระหว่างรอผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน ๑๘๐,๐๐๐ บาทรวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น จำนวน ๕๑๗,๘๖๖ บาท ผู้ฟ้องคดีได้เรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือ ลงวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ปฏิเสธความรับผิดชอบโดยอ้างว่าเหตุเกิดจากธรรมชาติอันเป็นเหตุสุดวิสัย ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน๕๑๗,๘๖๖ บาท
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการบำรุงรักษาต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ริมทางหลวงบริเวณที่เกิดเหตุ และที่ขึ้นอยู่ริมทางหลวงสายดังกล่าวตลอดทั้งสาย แต่ได้ตรวจตราและพิจารณาว่าต้นไม้ใดที่มีกิ่งก้านรุกล้ำเข้ามาในเขตผิวจราจรของทางหลวงก็จะทำการตัด ลิดก้านกิ่งไม้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทางหลวง และหากต้นไม้ใดมีลักษณะยืนต้นตายหรือมีลักษณะที่อาจล้มลงมากีดขวาง หรือเป็นอันตรายต่อผู้ที่ใช้ทางหลวง ก็จะทำการตัดโค่นเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายขึ้น โดยได้ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัยอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากความประมาท หรือการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างไม่ใช่ความเสียหายที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องรับผิดชดใช้ และเป็นความเสียหายที่กล่าวอ้างเกินความจริง
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีพิพาททางปกครอง เพราะมูลคดีเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิษณุโลกเห็นว่า คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒มีอำนาจหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนางานก่อสร้าง บูรณะ และบำรุงรักษาทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน ตามมาตรา ๔ (๒) แห่งพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ และตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้ให้นิยามคำว่าทางหลวง ให้หมายความรวมถึง ที่ดินพืช พันธุ์ไม้ทุกชนิด. และอาคารหรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์งานทางบรรดาที่ได้จัดไว้ในเขตทางหลวงและเพื่อประโยชน์แก่งานทางนั้นด้วย และนิยามคำว่า งานทาง หมายความว่ากิจการใดที่ทำเพื่อหรือเนื่องในการสำรวจการก่อสร้าง การขยาย การบูรณะ หรือการบำรุงรักษาทางหลวงหรือการจราจรบนทางหลวง กรณีตามฟ้องถือได้ว่า การดูแลรักษาต้นไม้ในเขตทางหลวงเพื่อประโยชน์การจราจรบนทางหลวงเป็นการดำเนินการเพื่อบำรุงรักษาทางหลวงกรณีหนึ่งอันเป็นหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีต้องปฏิบัติ ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ไม่ดูแลรักษาต้นไม้ในเขตทางหลวงเป็นเหตุให้ต้นไม้ในเขตทางหลวงล้มทับรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีขณะขับขี่อยู่บนทางหลวง ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดพิษณุโลกเห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางปกครอง และคดีนี้เหตุเกิดบนทางหลวงพิษณุโลก-สุโขทัยซึ่งเป็นทางหลวงแผ่นดิน และมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่กำกับตรวจตรา และควบคุมทางหลวงและงานทางที่เกี่ยวกับทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน และมาตรา ๔ (๒) แห่งพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวงกระทรวงคมนาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ บัญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนางานก่อสร้าง บูรณะ และบำรุงรักษาทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทานแต่อำนาจหน้าที่ในการกำกับ ตรวจตรา บำรุงรักษา และควบคุมทางหลวงและงานทางที่เกี่ยวกับทางหลวงแผ่นดิน ตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้เป็นหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ก็เป็นหน้าที่ทั่วไปของอธิบดีกรมทางหลวงและผู้ถูกฟ้องคดี หน้าที่ดังกล่าวจะก่อให้เกิดการกระทำอันเป็นการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒นั้น ต้องมีการกระทำตามหน้าที่ในงานทางเกี่ยวกับทางหลวงแผ่นดิน ดังจะเห็นได้จากความหมายของ งานทาง ซึ่งหมายความว่า กิจการใดที่ทำเพื่อหรือเนื่องในการสำรวจการก่อสร้าง การขยาย การบูรณะ หรือการบำรุงรักษาทางหลวง หรือการจราจรบนทางหลวง คำว่า “กิจการใดที่ทำ” ย่อมหมายถึง ต้องมีการกระทำเพื่อกิจการใดกิจการหนึ่งดังกล่าวก่อนแล้วการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดการกระทำทางละเมิดของหน่วยงานทางปกครองต่อเอกชน เมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มิได้กำหนดความหมายของคำว่า “การกระทำละเมิด” ไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๒๐แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งความรับผิดตามมาตรานี้เป็นความรับผิดของบุคคลในการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ หาใช่ความรับผิดเพื่อละเมิดอันเกิดแต่ความเสียหายที่สัตว์หรือทรัพย์สินใดๆ ได้ก่อให้เกิดขึ้นไม่ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องเกิดเหตุเพราะต้นหางนกยูงในเขตทางหลวงล้มทับรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีขณะที่ผู้ฟ้องคดีขับรถยนต์ไปตามทางหลวงพิษณุโลก-สุโขทัย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงมิใช่เกิดจากการกระทำของบุคคลโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องรับผิดชำระค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ ต้องพิจารณาตามหลักกฎหมายเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๓๔ ซึ่งเป็นบทบัญญัติความรับผิดเพื่อละเมิดอันเกิดแต่ความเสียหายที่ทรัพย์สินใดๆ ได้ก่อให้เกิดขึ้น ซึ่งบัญญัติไว้เป็นพิเศษต่างหากจากหลักทั่วไปในมาตรา ๔๒๐ดังกล่าว จึงมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นส่วนราชการฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงคมนาคม ตามมาตรา ๒๑ (๖) แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคมพ.ศ. ๒๕๔๕ กำหนดให้มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง การก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงให้มีโครงข่ายทางหลวงที่สมบูรณ์ ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทาง โดยมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินการเกี่ยวกับทางหลวงหลายประการ จำเลยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลรักษาต้นไม้ในเขตทางหลวงพิษณุโลก-สุโขทัย ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเหตุให้ต้นหางนกยูงในเขตทางหลวงล้มทับรถยนต์ของผู้ฟ้องคดี ขณะที่ผู้ฟ้องคดีขับขี่อยู่บนทางหลวง ทำให้ผู้ฟ้องคดีกับบุคคลในรถได้รับบาดเจ็บและรถยนต์ได้รับความเสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายอภิชาต บัวกล้า ผู้ฟ้องคดี กรมทางหลวงผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ปัญญา ถนอมรอด (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน

Share