คำวินิจฉัยที่ 7/2549

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗/๒๕๔๙

วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๔๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่งธนบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๗ นายปกรณ์ จำปาทุม ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตบางพลัดที่ ๑ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๓๑/๒๕๔๗ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรของนางอารี จำปาทุม ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนางเลื่อนมียงค์ เมื่อนางเลื่อนถึงแก่กรรมมีทรัพย์มรดกได้แก่โฉนดที่ดินเลขที่ ๓๙๕๗๔ตำบลบางอ้อ อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี โดยมีนางสาวพะเนาว์ มียงค์เป็นผู้จัดการมรดก ตามคำสั่งศาลแพ่งธนบุรีคดีหมายเลขแดงที่ ๒๓๒๐/๒๕๒๘ ที่ดินดังกล่าวมีนางอารีมารดาของผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองและให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขออนุญาตซ่อมแซมอาคารเลขที่ ๔๔ ซอยจรัญสนิทวงศ์ ๘๓ ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัดกรุงเทพมหานคร ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และได้รับอนุญาตให้ดำเนินการได้ตามหนังสือ ที่ ๙๐๔๘/๔๘๔๙ ลงวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๖ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๓มกราคม ๒๕๔๗นางสาวพะเนาว์ได้โอนมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวให้นางอุไร ผูกไมตรี ทายาทคนหนึ่งของนางเลื่อนและในวันเดียวกันนางอุไรโอนที่ดินที่ได้รับมาให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือที่ กท ๗๔๐๓/๑๙๓๘ ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๗ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนพื้นคอนกรีตโดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีสร้างรุกล้ำทางสาธารณประโยชน์ ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือ ลงวันที่ ๒๔มีนาคม ๒๕๔๗อุทธรณ์คำสั่งให้รื้อถอนโดยแจ้งว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้สร้างพื้นคอนกรีตลงบนที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๙๕๗๔ ที่สร้างพื้นคอนกรีตเดิมเป็นที่ดินมรดกของนางเลื่อน ซึ่งมีนางสาวพะเนาว์ผู้จัดการมรดกถือครองแทนทายาท ๘ คน และได้มีการโอนให้เป็นที่สาธารณประโยชน์โดยที่นางอารีและทายาทคนอื่นๆ ไม่ได้ให้ความยินยอมด้วย ขณะที่ผู้ฟ้องคดีเริ่มก่อสร้างจนแล้วเสร็จที่ดินดังกล่าวไม่ได้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งก่อนดำเนินการผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือขออนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่๑ ปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีหนังสือที่กท๗๔๐๓/๔๖๐๙ ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน๒๕๔๗ แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชอบด้วยกฎหมายแล้วให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว เพราะการโอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๙๕๗๔ ให้เป็นที่สาธารณประโยชน์เป็นการโอนที่ดินมรดกโดยไม่ชอบจากผู้จัดการมรดกซึ่งไม่มีสิทธิที่จะโอนที่ดินมรดกโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน ผู้โอนที่ดินให้เป็นที่สาธารณประโยชน์จึงไม่อาจกระทำได้ตามหลักกฎหมายที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โดยนางอารีได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางสาวพะเนาว์ นางอุไร และกรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งธนบุรี ขอให้เพิกถอนการโอนมรดก ตามคดีหมายเลขดำที่ ๓๐๗๑/๒๕๔๗ คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีจึงขัดกับหลักกฎหมายดังกล่าว เป็นการออกคำสั่งโดยไม่สุจริต เพื่อจะกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีให้รื้อถอนพื้นคอนกรีตที่มิใช่ทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งผู้ฟ้องคดีมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะสร้างลงบนที่ดินดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามหนังสือ ที่ กท๗๔๐๓/๑๙๓๘ ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๗ และคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตามหนังสือ ที่ กท ๗๔๐๓/๔๖๐๙ ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๗
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำให้การและคำให้การเพิ่มเติมว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานของที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ ๓๙๕๗๔ ตำบลบางอ้อ อำเภอบางกอกน้อยจังหวัดธนบุรี ปรากฏว่า นางอุไรได้จดทะเบียนโอนให้เป็นที่สาธารณประโยชน์โดยถูกต้องตามกฎหมาย และราษฎรแจ้งว่าได้รับความเดือดร้อนจากการที่ผู้ฟ้องคดีได้ก่อสร้างอาคารบางส่วนขวางทางเดินสาธารณะ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตรวจสอบแล้วพบว่ามีการก่อสร้างพื้นระเบียงในที่ดินสาธารณะจริงดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีสร้างพื้นคอนกรีตรุกล้ำที่สาธารณะ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งที่ กท ๗๔๐๓/๑๙๓๘ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๗ ให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่สาธารณะและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่ง ที่ กท ๗๔๐๓/๔๖๐๙ ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๗ ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี โดยมิได้กลั่นแกล้งและเป็นการออกคำสั่งโดยสุจริต คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลปกครองกลางมีความเห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงให้คู่ความจัดทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ผู้ฟ้องคดีได้ทำความเห็นชี้แจงเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่า ประเด็นหลักแห่งคดีนี้ ต้องพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะก่อสร้างพื้นคอนกรีตลงบนที่ดินโฉนดเลขที่๓๙๕๗๔ หรือไม่ โดยไม่ต้องพิจารณาเรื่องของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพราะไม่ได้พิพาทแย่งตัวทรัพย์ที่ดิน
แต่อย่างใด คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่ให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนพื้นคอนกรีตอยู่บนพื้นฐานหลักกฎหมายปกครองอย่างไร การพิจารณาประเด็นแห่งคดีต้องพิจารณาว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้มีคำสั่งโดยสุจริตหรือไม่ ไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่อย่างใด คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
ผู้ถูกฟ้องคดีได้ทำความเห็นชี้แจงเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่า ประเด็นหลักแห่งคดีนี้เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางเห็นว่า แม้มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากคำสั่งให้รื้อถอนพื้นคอนกรีตของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก็ตาม แต่ประเด็นหลักแห่งคดีจะต้องพิจารณาว่า การโอนโฉนดที่ดินเลขที่๓๙๕๗๔ ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนางเลื่อนผู้ตายให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และกรณีดังกล่าวนางอารีมารดาผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งธนบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๐๗๑/๒๕๔๗ โดยมีคำขอให้เพิกถอนการโอนมรดกโฉนดที่ดินเลขที่ดังกล่าวและคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลยุติธรรม ซึ่งโดยลักษณะข้อพิพาทที่ฟ้องร้องในศาลยุติธรรมเป็นข้อพิพาทเดียวกันกับที่นำมาฟ้องในคดีนี้ กรณีจึงเป็นคำฟ้องขอให้ศาลปกครองกลางวินิจฉัยในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งมาตรา ๙แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลแพ่งธนบุรีเห็นว่า คดีหมายเลขดำที่ ๓๐๗๑/๒๕๔๗ ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๗ ว่า “ที่ดินพิพาทมีราคา ๑๑๐,๖๐๐ บาท ซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์คดีนี้ เมื่อคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลนี้ คืนคำฟ้องให้ไปยื่นต่อศาลที่มีอำนาจ..” คดีถึงที่สุดแล้ว ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ ๓๒๐๓/๒๕๔๗ ของศาลแพ่งธนบุรีสำหรับคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งที่ กท ๗๔๐๓/๑๙๓๘ ลงวันที่ ๑๕มีนาคม๒๕๔๗ ให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนพื้นคอนกรีตซึ่งได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างแล้วออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่๓๙๕๗๔ ซึ่งตกเป็นทางสาธารณประโยชน์ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่๒ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองใช้สิทธิออกคำสั่งโดยไม่สุจริตกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงฟ้องคดีต่อศาล ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยการออกคำสั่งโดยไม่สุจริตหรือสร้างภาระให้เกิดกับผู้ฟ้องคดีเกินสมควร จึงเป็นคดีปกครองตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชน ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตบางพลัดที่ ๑ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรของนางอารี จำปาทุม ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนางเลื่อน มียงค์ เมื่อนางเลื่อนถึงแก่กรรมมีทรัพย์มรดกได้แก่โฉนดที่ดินเลขที่ ๓๙๕๗๔ ตำบลบางอ้อ อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี โดยมีนางสาวพะเนาว์ มียงค์ เป็นผู้จัดการมรดก มารดาผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองและให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขออนุญาตซ่อมแซมอาคารซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าว ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และได้รับอนุญาตให้ดำเนินการต่อมานางสาวพะเนาว์ผู้จัดการมรดกโอนที่ดินให้แก่นางอุไร ผูกไมตรี ทายาทคนหนึ่งของนางเลื่อน และนางอุไรก็ได้โอนให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีหนังสือที่ กท ๗๔๐๓/๑๙๓๘ ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๗แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนพื้นคอนกรีตอ้างว่าก่อสร้างรุกล้ำทางสาธารณประโยชน์ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเพราะเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากผู้ฟ้องคดีไม่ได้สร้างพื้นคอนกรีตลงบนที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ดินที่สร้างพื้นคอนกรีตเดิมเป็นที่ดินมรดกของนางเลื่อน ซึ่งมีนางสาวพะเนาว์ผู้จัดการมรดกถือครองแทนทายาทได้มีการโอนให้เป็นที่สาธารณประโยชน์โดยทายาทคนอื่นๆ ไม่ได้ให้ความยินยอม จึงเป็นการโอนโดยไม่ชอบ และมารดาผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องเพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าวแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหนังสือที่ กท ๗๔๐๓/๔๖๐๙ ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๗ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การสรุปได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ดำเนินการตรวจสอบหลักฐานโฉนดที่ดินพิพาทปรากฏว่าการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ถูกต้องตามกฎหมาย คำสั่งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น มูลความแห่งคดีนี้จึงสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการโอนที่ดินมรดกให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิโดยชอบที่จะสร้างพื้นคอนกรีตลงบนที่ดินพิพาท แม้คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าการโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาได้ว่าคำสั่งดังกล่าวตามฟ้องของผู้ฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ทั้งผลของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิในที่ดินของมารดาและประโยชน์ใช้สอยในที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยตรง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายปกรณ์ จำปาทุม ผู้ฟ้องคดี ผู้อำนวยการเขตบางพลัดที่ ๑ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (ลงชื่อ) วิชัย วิวิตเสวี
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

วัชรินทร์ คัด/ทาน

Share