คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8403/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโดยมิชอบ โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน แต่พนักงานตรวจแรงงานไม่ยอมรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์แล้วมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวและขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานและได้นำคดีไปสู่ศาลแรงงานกลางภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 125 วรรคหนึ่ง และเมื่อโจทก์ขอแก้ไขคำฟ้อง โดยขอให้เพิ่มพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยที่ 2 ก็เป็นการแสดงความประสงค์ที่จะฟ้องพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยในคดีเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวแล้ว ซึ่งศาลแรงงานกลางชอบที่จะเรียกพนักงานตรวจแรงงานเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข) กอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 31 การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้ฟ้องพนักงานตรวจแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจึงเป็นที่สุดแล้ว พิพากษายกฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 0024/1198 (ที่ถูก 56/2548) และให้จำเลยชำระค่าชดเชยจำนวน 760,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง โดยขอให้เพิ่มพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานกลางไม่อนุญาต
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เคยร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานขอให้มีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ต่อมามีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนนทบุรีที่ 56/2548 เรื่องค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าช่างเทคนิคว่าโจทก์กระทำผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) และ (2) ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2548 โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานโดยไม่ได้ฟ้องพนักงานตรวจแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย และคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจึงเป็นที่สุด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ศาลแรงงานกลางจะต้องเรียกพนักงานตรวจแรงงานเข้ามาในคดีหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ทราบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2548 และนำคดีมาสู่ศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 โดยมีวัตถุประสงค์จะให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน และต่อมาโจทก์ได้ขอแก้ไขคำฟ้องเพื่อขอให้เรียกพนักงานตรวจแรงงานเข้ามาเป็นจำเลยด้วยแล้ว เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิชอบ โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนนทบุรี แต่พนักงานตรวจแรงงานไม่ยอมรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์แล้วมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวและขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนนทบุรีที่ 56/2548 จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานและได้นำคดีไปสู่ศาลแรงงานกลางภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง และเมื่อโจทก์ขอแก้ไขคำฟ้อง โดยขอให้เพิ่มพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยที่ 2 ก็เป็นการแสดงความประสงค์ที่จะฟ้องพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยในคดีเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวแล้ว ซึ่งศาลแรงงานกลางชอบที่จะเรียกพนักงานตรวจแรงงานเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ข) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องพนักงานตรวจแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจึงเป็นที่สุดแล้วพิพากษายกฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเรียกพนักงานตรวจแรงงานเข้ามาในคดี แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share