แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาสำหรับผู้ที่ขออนุญาตไปศึกษาวิชาโดยทุนส่วนตัวระหว่างโจทก์และจำเลยที่1ข้อ1มีข้อความว่า”ข้าพเจ้าจะตั้งใจและพากเพียรศึกษาวิชาโดยเต็มสติปัญญาในระหว่างศึกษาวิชาอยู่ข้าพเจ้าจะประพฤติตนให้เรียบร้องไม่เกียจคร้านและจะไม่ทำการสมรสในต่างประเทศถ้าข้าพเจ้าปฏิบัติผิดสัญญาข้อนี้แล้วทางราชการก็ชอบที่จะเรียกกลับหรือสั่งปลดข้าพเจ้าได้ทั้งข้าพเจ้าจะต้องคืนเงินรายเดือนและเงินค่าใช้จ่ายซึ่งทางราชการจ่ายให้แก่ข้าพเจ้าในระหว่างศึกษาเพิ่มเติมให้แก่ทางราชการด้วยทั้งสิ้น”ส่วนข้อ2มีข้อความว่า”เมื่อเสร็จการศึกษาแล้วข้าพเจ้าจะกลับมารับราชการในกระทรวงกลาโหมต่อไปถ้าข้าพเจ้ากลับมารับราชการได้ยังไม่ครบ2เท่าของเวลาที่ไปศึกษาแต่ไม่น้อยกว่า3ปีเป็นอย่างน้อยหรือยังไม่ครบ10ปีเป็นอย่างมากนับแต่กลับมารับราชการหากข้าพเจ้าประสงค์จะลาออกจากราชการก่อนกำหนดที่กล่าวแล้วแล้วข้าพเจ้ายอมใช้เงินเป็นจำนวน3เท่าของเงินรายเดือนและค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นที่ทางราชการได้จ่ายให้ในระหว่างเวลาที่ข้าพเจ้าศึกษาวิชาอยู่นั้นจนครบถ้วนทันทีเมื่อได้รับการทวงถาม”จากข้อสัญญาดังกล่าวในกรณีที่จำเลยที่1จะต้องคืนเงินรายเดือนและค่าใช้จ่ายตามสัญญาข้อ1นั้นจำเลยที่1จะต้องปฏิบัติผิดสัญญา3ประการคือไม่ตั้งใจและพากเพียรศึกษาวิชาประพฤติตนไม่เรียบร้อยและเกียจคร้านและทำการสมรสในต่างประเทศซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์อาจจะเรียกจำเลยที่1กลับหรือสั่งปลดจำเลยที่1ได้โดยที่จำเลยที่1ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใดๆจากโจทก์เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่1ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดใน3ประการดังที่กล่าวมาและโจทก์มิได้เรียกจำเลยที่1กลับประเทศไทยหรือปลดจำเลยที่1ออกจากราชการกลับปรากฏว่าจำเลยที่1มีหนังสือถึงโจทก์ขอลาออกจากราชการนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดที่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ขยายเวลาเพื่อการศึกษาวิชาแม้ว่าจำเลยที่1จะไม่สำเร็จการศึกษาแต่ตามสัญญาใช้คำว่าเสร็จการศึกษาดังนั้นไม่ว่าจำเลยที่1จะสำเร็จการศึกษาหรือไม่จำเลยที่1ก็มีหน้าที่ต้องกลับมารับราชการตามที่ทำสัญญาไว้แก่โจทก์ตามสัญญาข้อ2เมื่อจำเลยที่1ไม่กลับมารับราชการตามที่ได้สัญญาไว้และลาออกไปก่อนที่จะกลับมารับราชการตามที่สัญญาไว้ย่อมถือว่าจำเลยที่1ผิดสัญญาข้อ2ดังกล่าวข้างต้นแล้ว สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1ดังกล่าวเป็นสัญญาที่มีการกำหนดเบี้ยปรับไว้ในกรณีที่มีการผิดสัญญาเฉพาะที่กำหนดไว้ในข้อ2เท่านั้นส่วนข้อ1เป็นเรื่องที่จำเลยที่1จะคืนเงินรายเดือนและเงินค่าใช้จ่ายซึ่งทางราชการจ่ายให้แก่จำเลยที่1ในกรณีที่จำเลยปฏิบัติผิดข้อสัญญาที่กล่าวไว้ในข้อ1และโจทก์เรียกตัวจำเลยที่1กลับจากต่างประเทศหรือมีคำสั่งปลดจำเลยที่1ออกจากราชการเพราะเหตุที่จำเลยที่1ปฏิบัติผิดสัญญาข้อ1เท่านั้นไม่มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับแม้จะอยู่ในสัญญาฉบับเดียวกันก็ตามเพราะสัญญาดังกล่าวมีข้อความกำหนดไว้ชัดเจนดังนั้นเมื่อจำเลยที่1ทำผิดสัญญาข้อ2จำเลยที่1จึงต้องชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญา การที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่1ชำระเงินจำนวนที่ได้รับไปจากโจทก์ในระหว่างที่จำเลยที่1ไปศึกษาวิชาที่ต่างประเทศโดยหน่วยงานของโจทก์เห็นว่าจำเลยที่1ทำผิดสัญญาข้อ1แห่งสัญญาดังกล่าวและทำเรื่องเสนอโจทก์ให้ออกคำสั่งอนุมัติให้จำเลยที่1ลาออกจากราชการนั้นแม้จำเลยที่1โดยบิดาจำเลยที่1เป็นผู้ชำระแทนก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์เรียกให้จำเลยที่1ชำระเบี้ยปรับจำนวน1เท่าของเงินรายเดือนและค่าใช้จ่ายที่จำเลยที่1ได้รับไปจากโจทก์โดยมิได้สงวนสิทธิที่จะเรียกให้ชำระเบี้ยปรับในส่วนที่เหลือเพราะพึงพอใจในเงินเบี้ยปรับนั้นแล้วเป็นเรื่องที่หน่วยงานของโจทก์ตีความในสัญญาไม่ถูกต้องและถือไม่ได้ว่าการที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่1ลาออกจากราชการเป็นการยอมรับเอาเบี้ยปรับจำนวน1เท่าไว้แล้วดังจะเห็นได้จากสัญญาข้อ2ก็ได้กล่าวถึงการลาออกก่อนกำหนดเวลาที่จะกลับมาทำงานให้แก่โจทก์ครบถ้วนตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาแสดงว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยที่1ลาออกจำเลยที่1ก็ยังมีภาระที่จะต้องชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์การชำระหนี้ในกรณีนี้คือการกลับมาปฏิบัติงานให้แก่โจทก์ตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาเมื่อจำเลยที่1มิได้ชำระหนี้เลยจะถือว่าโจทก์ยอมรับการชำระหนี้โดยมิได้สงวนสิทธิในเรื่องเบี้ยปรับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา381วรรคท้ายไม่ได้จำเลยที่1ยังมีหน้าที่จะต้องชำระเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ การกำหนดเบี้ยปรับคือข้อสัญญาที่คู่กรณีกำหนดความเสียหายไว้ล่วงหน้าเนื่องจากการที่ลูกหนี้มิได้ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามสมควรและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา383วรรคหนึ่งเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ในสัญญาในกรณีที่ผิดสัญญานั้นกฎหมายมิได้บังคับเด็ดขาดว่าจะต้องให้เป็นไปตามนั้นแต่ต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายด้วยซึ่งมิใช่แต่ทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินเท่านั้นดังนั้นเมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏชัดแจ้งว่าโจทก์เสียหายเต็มตามจำนวนเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ในสัญญาศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับตามสัญญาลงได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เคยรับราชการสังกัดกองทัพบกขณะที่จำเลยที่ 1 รับราชการอยู่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยทุนส่วนตัว กำหนดระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2521 ถึงวันที่29 กุมภาพันธ์ 2524 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันไว้แก่โจทก์จำเลยที่ 1 ศึกษาไม่สำเร็จตามหลักสูตร จึงขอขยายระยะเวลาไปอีกเป็นเวลา 1 ปี 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2524 ซึ่งโจทก์อนุมัติจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2525 จำเลยที่ 1 ก็ยังศึกษาไม่สำเร็จตามหลักสูตร เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2525 จำเลยที่ 1มีหนังสือขอลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2525 การที่จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการก่อนครบกำหนดตามสัญญาโดยไม่ยอมรับราชการชดใช้โจทก์ จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชดใช้เงินแก่โจทก์เป็นจำนวน 3 เท่า ของเงินรายเดือน และค่าใช้จ่ายที่ทางราชการได้จ่ายให้ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ศึกษาอยู่จำเลยที่ 1 รับเงินเดือนไปจากโจทก์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2521 ถึงเดือนกันยายน2525 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 154,800 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้เงินให้แก่โจทก์เป็นจำนวน 464,400 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 19กรกฎาคม 2526 จำเลยที่ 1 โดยพันเอกประเสริฐ สุวรรณโชติบิดาของจำเลยที่ 1 ได้นำเงินมาชดใช้ให้แก่โจทก์จำนวน 154,800 บาทดังนั้น ยังคงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องคืนแก่โจทก์อีกจำนวน309,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 319,520 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในจำนวนเงินดังกล่าวด้วยในฐานะผู้ค้ำประกัน โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงิน319,520 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน309,600 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ลาไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 30 เมษายน 2525 ตามที่จำเลยที่ 1 ขอขยายระยะเวลาออกไปและโจทก์อนุมัติและขอลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2525ในขณะยังไม่สำเร็จการศึกษา มิใช่กรณีจำเลยสำเร็จการศึกษาแล้วไม่กลับมาทำงานชดใช้ให้โจทก์ โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเท่าที่โจทก์ต้องเสียไปเท่านั้น และก่อนที่โจทก์จะอนุมัติให้จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการ โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินแก่โจทก์เสียก่อนจำนวน 158,845 บาท พันเอกประเสริฐ สุวรรณโชติบิดาของจำเลยที่ 1 จึงนำเงินจำนวน 158,845 บาท ไปชดใช้ให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์จึงได้อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการเรื่องดังกล่าวจึงถือว่ายุติ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1เคยเป็นข้าราชการสังกัดกองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของโจทก์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2521 ระหว่างเวลาที่จำเลยที่ 1 ยังรับราชการอยู่นั้น จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ลาไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศโดยทุนส่วนตัวเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน และได้ทำสัญญาไว้ต่อโจทก์ตามสำเนาหนังสือสัญญาสำหรับผู้ที่ขออนุญาตไปศึกษาวิชาโดยทุนส่วนตัวเอกสารหมาย จ.4 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันสำหรับผู้ที่ขออนุญาตไปศึกษาวิชาโดยทุนส่วนตัวเอกสารหมาย จ.5 เมื่อครบกำหนดที่ได้รับอนุญาตแล้วจำเลยที่ 1 ยังไม่สำเร็จการศึกษา จึงขออนุญาตขยายเวลาต่อไปอีก1 ปี 2 เดือน โจทก์อนุญาตตามคำสั่งกองทัพบกเอกสารหมาย จ.6ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 30 เมษายน 2525 ครั้นเมื่อวันที่15 เมษายน 2525 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือขอลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2525 โดยขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังคงศึกษาอยู่ที่ต่างประเทศ โจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ลาออกหลังจากได้รับชดใช้เงินจำนวน 154,800 บาท จากบิดาจำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมากระทรวงการคลังมีหนังสือแจ้งโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 ให้เรียกค่าปรับเพิ่ม โจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือทวงถามแล้ว แต่ปฏิเสธการชำระเงินดังกล่าว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1กระทำผิดสัญญาสำหรับผู้ที่ขออนุญาตไปศึกษาวิชาโดยทุนส่วนตัวเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 1 หรือข้อ 2 และจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์เพียงใดหรือไม่ สำหรับปัญหาแรกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 1 มีข้อความว่า “ข้าพเจ้าจะตั้งใจพากเพียรศึกษาวิชาโดยเต็มสติปัญญา ในระหว่างศึกษาอยู่ข้าพเจ้าจะประพฤติตนให้เรียบร้อย ไม่เกียจคร้าน และจะไม่ทำการสมรสในต่างประเทศถ้าข้าพเจ้าปฏิบัติผิดสัญญาข้อนี้แล้ว ทางราชการก็ชอบที่จะเรียกกลับหรือสั่งปลดข้าพเจ้าได้ ทั้งข้าพเจ้าจะต้องคืนเงินรายเดือนและเงินค่าใช้จ่ายซึ่งทางราชการจ่ายให้แก่ข้าพเจ้าในระหว่างศึกษาเพิ่มเติมให้แก่ทางราชการด้วยทั้งสิ้น” ส่วนข้อ 2 มีข้อความว่า”เมื่อเสร็จการศึกษาแล้ว ข้าพเจ้าจะกลับมารับราชการในกระทรวงกลาโหมต่อไป ถ้าข้าพเจ้ากลับมารับราชการได้ยังไม่ครบ 2 เท่า ของเวลาที่ไปศึกษา แต่ไม่น้อยกว่า 3 ปี เป็นอย่างน้อย หรือยังไม่ครบ10 ปี เป็นอย่างมากนับแต่กลับมารับราชการ หากข้าพเจ้าประสงค์จะลาออกจากราชการก่อนกำหนดที่กล่าวแล้ว ข้าพเจ้ายอมใช้เงินเป็นจำนวน 3 เท่า ของเงินรายเดือนและค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นที่ทางราชการได้จ่ายให้ในระหว่างเวลาที่ข้าพเจ้าศึกษาวิชาอยู่นั้นจนครบถ้วนทันทีเมื่อได้รับการทวงถาม” จากข้อสัญญาดังกล่าวจะเห็นได้ว่าในกรณีที่จำเลยที่ 1 จะต้องคืนเงินรายเดือนและค่าใช้จ่ายตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 1 นั้น จำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติผิดสัญญา 3 ประการ คือ ไม่ตั้งใจและพากเพียรศึกษาวิชาประพฤติตนไม่เรียบร้อยและเกียจคร้าน และทำการสมรสในต่างประเทศ ซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์อาจจะเรียกจำเลยที่ 1 กลับหรือสั่งปลดจำเลยที่ 1ได้ โดยที่จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากโจทก์แต่ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดใน 3 ประการ ดังที่กล่าวมาและโจทก์มิได้เรียกจำเลยที่ 1 กลับประเทศไทย หรือปลดจำเลยที่ 1 ออกจากราชการกลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงโจทก์ขอลาออกจากราชการนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดที่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ขยายเวลาเพื่อการศึกษาวิชา แม้ว่าจำเลยที 1 จะไม่สำเร็จการศึกษา แต่ตามสัญญาใช้คำว่า เสร็จการศึกษา ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะสำเร็จการศึกษาหรือไม่ จำเลยที่ 1 ก็มีหน้าที่ต้องกลับมารับราชการตามที่ทำสัญญาไว้แก่โจทก์ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่กลับมารับราชการตามที่ได้สัญญาไว้และลาออกไปก่อนที่จะกลับมารับราชการตามที่ได้สัญญาไว้ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปคือ จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์เพียงใดหรือไม่ เห็นว่า สัญญาตามเอกสารหมายจ.4 เป็นสัญญาที่มีการกำหนดเบี้ยปรับไว้ในกรณีที่มีการผิดสัญญาเฉพาะที่กำหนดไว้ในข้อ 2 เท่านั้น ส่วนข้อ 1 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องคืนเงินรายเดือนและเงินค่าใช้จ่ายซึ่งทางราชการจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 ในกรณีที่จำเลยปฏิบัติผิดข้อสัญญาที่กล่าวไว้ในข้อ 1 และโจทก์เรียกตัวจำเลยที่ 1 กลับจากต่างประเทศหรือมีคำสั่งปลด จำเลยที่ 1 ออกจากราชการเพราะเหตุที่จำเลยที่ 1ปฏิบัติผิดสัญญาข้อ 1 เท่านั้น ไม่มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับแม้จะอยู่ในสัญญาฉบับเดียวกันก็ตาม เพราะสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4มีข้อความกำหนดไว้ชัดเจน ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ทำผิดสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 ตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว จำเลยที่ 1จึงต้องชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญา การที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวนที่ได้รับไปจากโจทก์ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ไปศึกษาวิชาที่ต่างประเทศโดยหน่วยงานของโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ทำผิดสัญญาข้อ 1 แห่งสัญญาดังกล่าวและทำเรื่องเสนอโจทก์ให้ออกคำสั่งอนุมัติให้จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการนั้นแม้จำเลยที่ 1 โดยบิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระแทน ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเบี้ยปรับจำนวน 1 เท่า ของเงินรายเดือนและค่าใช้จ่ายที่จำเลยที่ 1 ได้รับไปจากโจทก์โดยมิได้สงวนสิทธิที่จะเรียกให้ชำระเบี้ยปรับในส่วนที่เหลือเพราะพึงพอใจในเงินเบี้ยปรับนั้นแล้ว เป็นเรื่องที่หน่วยงานของโจทก์ตีความในสัญญาไม่ถูกต้อง และถือไม่ได้ว่าการที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการเป็นการยอมรับเอาเบี้ยปรับจำนวน1 เท่า ไว้แล้ว ดังจะเห็นได้จากสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2ก็ได้กล่าวถึงการลาดออกก่อนกำหนดเวลาที่จะกลับมาทำงานให้แก่โจทก์ครบถ้วนตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา แสดงว่าแม้โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ลาออก จำเลยที่ 1 ก็ยังมีภาระที่จะต้องชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์ การชำระหนี้ในกรณีนี้คือการกลับมาปฏิบัติงานให้แก่โจทก์ก็ตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1มิได้ชำระหนี้เลย จะถือว่าโจทก์ยอมรับการชำระหนี้โดยมิได้สงวนสิทธิในเรื่องเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381วรรคท้าย ไม่ได้ จำเลยที่ 1 ยังมีหน้าที่จะต้องชำระเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดร่วมด้วยในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 แต่อย่างไรก็ตามการกำหนดเบี้ยปรับคือข้อสัญญาที่คู่กรณีกำหนดความเสียหายไว้ล่วงหน้าเนื่องจากการที่ลูกหนี้มิได้ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามสมควร ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคสองบัญญัติว่า “ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้นท่าให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย”แสดงว่าเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ในสัญญาในกรณีที่ผิดสัญญานั้นกฎหมายมิได้บังคับเด็ดขาดว่าจะต้องให้เป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายด้วยมิใช่แต่ทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินเท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏชัดแจ้งว่าให้ปรากฏชัดแจ้งว่าโจทก์เสียหายเต็มตามจำนวนค่าปรับที่กำหนดไว้ในสัญญา ศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดค่าปรับหรือเบี้ยปรับตามสัญญาลงได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก เมื่อคำนึงถึงว่าโจทก์ได้รับการชดใช้เงินจำนวนหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นค่าเสียหายบางส่วนไปแล้ว ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยที่ 1ชำระแก่โจทก์อีกเป็นเงินจำนวน 80,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดด้วยดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน80,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ