แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเพียงแต่ทำนายดวงชะตาแก่ผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายกำลังมีเคราะห์ให้สะเดาะเคราะห์โดยเสียเงินค่ายกครูให้แก่จำเลยหาใช่เป็นการขู่เข็ญตามความหมาย ของมาตรา 337 แห่งประมวลกฎหมายอาญาไม่ดังนั้น แม้จะฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยพูดขู่ว่าถ้าไม่ให้เงินจะให้พ่อปู่มาทำอันตรายผู้เสียหายทางไสยศาสตร์และผู้เสียหาย ยอมให้เงิน ก็เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายเชื่อตามคำทำนายว่าจะมีเคราะห์ มิใช่เพราะกลัวคำขู่เข็ญของจำเลย การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๖ เวลากลางวันถึงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๒๗ เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยได้ข่มขืนใจนางสาวสมศรี มีทอง ผู้เสียหาย ให้ยอมให้จำเลยได้รับประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยจำเลยขู่เข็ญผู้เสียหายหลายครั้งว่าจะฆ่าผู้เสียหายให้ถึงแก่ความตายใน ๓ วัน ๗ วันถ้าผู้เสียหายไม่ยอมให้เงินตามที่จำเลยเรียกร้อง จนผู้เสียหายเกิดความกลัวและยอมมอบเงินแก่จำเลยรวม ๒๕ ครั้งเป็นเงิน ๖๖,๓๙๒ บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๗, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๖๖,๓๙๒ บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๗, ๙๑ รวม ๒ กระทง ลงโทษกระทงละ ๓ ปี รวมจำคุก ๖ ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๓,๙๙๙ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๗ จะต้องเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกายเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ แต่การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์นำสืบเป็นเพียงการทำนายดวงชะตาแก่ผู้เสียหาย ว่าผู้เสียหายกำลังมีเคราะห์ให้สะเดาะเคราะห์โดยเสียเงินค่ายกครูให้แก่จำเลย หาใช่เป็นการขู่เข็ญตามความหมายของบทกฎหมายมาตรานี้ไม่ ดังนั้นแม้จะฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยพูดขู่ว่าถ้าไม่ให้เงินจะให้พ่อปู่มาทำอันตรายผู้เสียหายทางไสยศาสตร์และผู้เสียหายยอมให้เงิน ก็เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายเชื่อตามคำทำนายว่าจะมีเคราะห์มิใช่เพราะกลัวคำขู่เข็ญของจำเลย การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์นำสืบจึงไม่เป็นความผิดฐานกรรโชกตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน.