แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ยอมให้หน่วยงานของตนนำเงินเดือนหรือเงินได้อื่นใดของจำเลยที่ 1 ทุกเดือนเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 เมื่อมีการนำเงินเข้าบัญชีแล้ว โจทก์ผู้ให้กู้มีสิทธินำเงินดังกล่าวไปหักชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ได้กู้ไปจากโจทก์ตามข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ได้ทำไว้กับโจทก์ตามสัญญากู้ ดังนั้น เมื่อมีการถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวจึงเป็นผลให้จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นลูกหนี้ของโจทก์ การที่หน่วยงานต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีดังกล่าวทุก ๆ เดือน และโจทก์นำเงินนั้นไปหักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างอยู่กับโจทก์เป็นปกติตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ปฏิบัติต่อกันมา อายุความจึงสะดุดหยุดลงทุกครั้งที่มีการนำเงินเข้าบัญชี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หน่วยงานต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 ครั้งสุดท้ายวันที่ 30 มิถุนายน 2537 โจทก์นำเงินดังกล่าวตัดบัญชีเพื่อชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระในวันดังกล่าว อายุความในการฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2537 และเริ่มนับอายุความใหม่วันที่ 1 กรกฎาคม 2537 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 28 มิถุนายน 2547 ภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่อายุความสะดุดหยุดลง ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 42,425.95 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 16,153.14 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ กล่าวคือ โจทก์ต้องนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 ภายใน 10 ปี นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้ จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินจากบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2536 หลังจากวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่เคยติดต่อโจทก์เพื่อชำระเงิน โจทก์ต้องฟ้องร้องคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันดังกล่าวแต่โจทก์มาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2547 จึงเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏตามรายการบัญชีว่า จำเลยที่ 1 ได้เบิกถอนเงินออกจากบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2536 หลังจากนั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้ถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวอีก คงมีแต่รายการโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 ทุกเดือน เดือนละ 500 บาท และโจทก์ได้นำเงินดังกล่าวไปหักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างทุกเดือน ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2537 มีการโอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าวอีก 500 บาท ตามรายการบัญชีและโจทก์นำเงินดังกล่าวไปหักชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระอยู่เหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติ เห็นว่า สัญญาสินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ ข้อ 4 ระบุว่า “ผู้กู้ตกลงให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนและเงินพึงได้อื่นใดที่ผู้กู้พึงได้จากนายจ้างเป็นรายเดือนให้แก่ผู้กู้ โดยวิธีนำเงินเดือนเข้าบัญชีของผู้กู้ที่ระบุไว้ในข้อ 1 ของผู้กู้ที่เปิดบัญชีไว้ ณ สำนักงานธนาคารผู้ให้กู้” ข้อสัญญาดังกล่าวย่อมหมายถึง ผู้กู้คือจำเลยที่ 1 ยอมให้หน่วยงานของตนนำเงินเดือนหรือเงินได้อื่นใดของจำเลยที่ 1 ทุกเดือนเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 เมื่อมีการนำเงินเข้าบัญชีแล้ว โจทก์ผู้ให้กู้มีสิทธินำเงินดังกล่าวไปหักชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ได้กู้ไปจากโจทก์ตามข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ได้ทำไว้กับโจทก์ตามสัญญากู้ ดังนั้น เมื่อมีการถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวจึงเป็นผลให้จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นลูกหนี้ของโจทก์ การที่หน่วยงานต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีดังกล่าวทุก ๆ เดือน และโจทก์นำเงินนั้นไปหักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างอยู่กับโจทก์เป็นปกติตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ปฏิบัติต่อกันมา อายุความจึงสะดุดหยุดลงทุกครั้งที่มีการนำเงินเข้าบัญชี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หน่วยงานต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 ครั้งสุดท้ายวันที่ 30 มิถุนายน 2537 โจทก์นำเงินดังกล่าวตัดบัญชีเพื่อชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระในวันดังกล่าว อายุความในการฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2537 และเริ่มนับอายุความใหม่วันที่ 1 กรกฎาคม 2537 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 28 มิถุนายน 2547 ภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่อายุความสะดุดหยุดลง ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นอื่นที่ยังมิได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่