คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6429/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของ ต. ฝ่ายโจทก์ทั้งสองตกลงให้ตั้งจำเลยที่ 1 และฝ่ายจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตกลงให้ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก ต. ข้อตกลงดังกล่าวเพื่อให้มีตัวแทนของแต่ละฝ่ายเป็นผู้รักษาผลประโยชน์ส่วนของตนในกองมรดกของ ต. เมื่อก่อนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพิพาทแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเดิมจำเลยที่ 2 บ. สามีโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 นำที่ดินและอาคารดังกล่าวออกให้เช่า เมื่อใกล้ครบสัญญาเช่า ผู้เช่าทำหนังสือถึงโจทก์ที่ 2 ขอทำสัญญาเช่าต่อพร้อมขออนุญาตปรับปรุงอาคารที่เช่า โจทก์ที่ 2 จึงมีหนังสือถึงจำเลยที่ 3 ให้เป็นผู้ตกลงกับผู้เช่าเอง ต่อมาจำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้ให้เช่าแทนโจทก์ที่ 2 อีก 2 ครั้ง เป็นเวลา 6 ปี ซึ่งโจทก์ที่ 2 ยอมรับว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้เก็บค่าเช่าเองโดยโจทก์ที่ 2 ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินพิพาทแทนฉบับเดิมที่สูญหาย ซึ่งโจทก์ที่ 2 ยอมรับว่าเดิม บ. เป็นผู้เก็บโฉนดดังกล่าวไว้ แต่ขณะออกโฉนดที่ดินฉบับใหม่ บ. ถึงแก่ความตายแล้ว ดังนั้น หากโจทก์ที่ 2 มิได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. โอนที่ดินพิพาทพร้อมมอบโฉนดที่ดินให้ไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่สามารถดำเนินการเองโดยลำพัง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ทั้งสองในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ยินยอมแบ่งที่ดินพร้อมอาคารพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ต. ให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็เข้าครอบครองทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัดตาม ป.พ.พ. 1750 วรรคหนึ่ง โดยการนำออกให้เช่าและเก็บค่าเช่ามาโดยตลอด โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจเรียกให้นำที่ดินและอาคารพิพาทมาแบ่งแก่โจทก์ทั้งสองได้อีก
คำพิพากษาในส่วนเกี่ยวกับการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงมีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องการครอบครองเป็นส่วนสัด แต่เป็นอำนาจและหน้าที่ของศาลในการปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายอันเป็นการปรับบทกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองในโฉนดที่ดินเลขที่ 114563 ตำบลคลองตัน (บางกะปิฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างคนละหนึ่งในสี่ส่วน หากจำเลยทั้งสี่ไม่ดำเนินการ ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากจำเลยทั้งสี่ไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองคนละหนึ่งในสี่ส่วน ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 13,125,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ 2 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 114563 ตำบลคลองตัน (บางกะปิฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำนวนหนึ่งส่วนในสี่ส่วน หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ 2 ในโฉนดที่ดินได้ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 10,812,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 สิงหาคม 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ 80,000 บาท ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยทั้งสี่ให้เป็นพับ ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ในส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสอง และจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสี่ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยทั้งสี่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 114563 พร้อมอาคารพิพาทบนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละหนึ่งในสี่ส่วนหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ที่ 2 เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ถามค้านว่า ในการยื่นคำร้องขอให้เป็นผู้จัดการมรดกของนางต้องใจนั้น ญาติพี่น้องของนางต้องใจ (ฝ่ายของโจทก์ทั้งสอง) และญาติพี่น้องของนายวราวุธบิดาจำเลยที่ 3 และที่ 4 (ฝ่ายจำเลยที่ 3 และที่ 4) ตกลงกันว่าให้ตั้งพี่สาวคนโตของแต่ละฝ่ายร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนางต้องใจ จึงมีการตั้งจำเลยที่ 1 พี่สาวของนายวราวุธและจำเลยที่ 2 บุตรสาวคนโตของโจทก์ที่ 2 และนายบรรเจิดเป็นผู้จัดการมรดกของนางต้องใจ ซึ่งเห็นได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้มีตัวแทนของแต่ละฝ่ายเป็นผู้รักษาผลประโยชน์ส่วนของตนในกองมรดกของนางต้องใจซึ่งมีจำนวนมาก เมื่อพิจารณาประกอบพฤติการณ์ก่อนจำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพิพาทแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่เดิมจำเลยที่ 2 นายบรรเจิด และโจทก์ที่ 2 นำที่ดินและอาคารพิพาทออกให้เช่าตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.19 ถึง ล.21 เมื่อสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.21 ใกล้ครบกำหนดผู้เช่าได้ทำหนังสือถึงโจทก์ 2 ขอทำสัญญาเช่าต่อพร้อมขออนุญาตปรับปรุงอาคารที่เช่า โจทก์ที่ 2 จึงมีหนังสือถึงจำเลยที่ 3 ให้เป็นตกลงค่าเช่ากับผู้เช่าเอง หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2549 จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้ให้เช่าที่ดินและอาคารพิพาทแทนโจทก์ที่ 2 ต่อมาอีก 2 ครั้ง รวมระยะเวลา 6 ปี ซึ่งโจทก์ที่ 2 ยอมรับว่าหลังจากให้จำเลยที่ 3 ทำสัญญาเป็นผู้ให้เช่าโดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้เก็บค่าเช่าด้วยแล้ว โจทก์ที่ 2 ก็ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวอีกเลย โดยเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2549 ก่อนที่จำเลยที่ 3 จะเป็นผู้ให้เช่าที่ดินและอาคารพิพาทเล็กน้อย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางต้องใจได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ก่อนแล้ว โดยก่อนจะโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางต้องใจได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินพิพาทฉบับใหม่แทนฉบับเดิมที่สูญหาย ซึ่งโจทก์ที่ 2 ก็ยอมรับว่าเดิมนายบรรเจิดสามีโจทก์ที่ 2 เป็นผู้เก็บรักษาโฉนดดังกล่าว ต่อมาโฉนดดังกล่าวสูญหาย จึงมีการขอออกโฉนดที่ดินฉบับใหม่แทนฉบับที่สูญหาย โดยผู้ขอออกคือจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางต้องใจ ขณะมีการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทฉบับใหม่ นายบรรเจิดถึงแก่ความตายแล้ว ดังนั้น หากโจทก์ที่ 2 มิได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบว่าโฉนดที่ดินพิพาทสูญหายและขอให้ออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่อาจทราบได้ว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวสูญหาย จึงเชื่อได้ว่าโจทก์ที่ 2 เป็นผู้แจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบพร้อมให้ยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน เมื่อออกใบแทนโฉนดที่ดินแล้ว โจทก์ที่ 2 ย่อมต้องเป็นผู้เก็บรักษาใบแทนโฉนดที่ดินไว้เอง ดังนั้น หากโจทก์ทั้งสองมิได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางต้องใจโอนที่ดินพิพาทพร้อมมอบใบแทนโฉนดที่ดินให้ไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่สามารถดำเนินการเองโดยลำพังได้ อีกทั้งปรากฏจากคำเบิกความนางศิรินลักษณ์ บุตรโจทก์ที่ 2 พยานโจทก์ทั้งสองว่าเมื่อประมาณสองปีที่แล้วโจทก์ที่ 2 ได้แบ่งที่ดินแปลงอื่นที่อยู่ข้างเคียงที่ดินพิพาทแก่บุตรทุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 2 ด้วย หากจำเลยที่ 2 โอนที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยทุจริตและฉ้อฉลจริงแล้ว ย่อมต้องทำให้โจทก์ที่ 2 ขัดเคืองใจก็ไม่น่าเชื่อว่า โจทก์ที่ 2 จะแบ่งที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ด้วย จากพฤติการณ์ดังวินิจฉัยมาจึงแสดงให้เห็นว่า โจทก์ทั้งสองในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนายบรรเจิดได้ยินยอมแบ่งที่ดินพร้อมอาคารพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของนางต้องใจให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นทายาท ซึ่งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็เข้าครอบครองทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง โดยการนำออกให้เช่าและเก็บค่าเช่าตลอดมาแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจเรียกให้นำที่ดินและอาคารพิพาทที่มีการแบ่งปันกันระหว่างทายาทแล้วมาแบ่งแก่โจทก์ทั้งสองได้อีก ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น คำพิพากษาในส่วนนี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247
ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มิได้ยกข้อต่อสู้ในเรื่องการครอบครองทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้นั้น เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการที่ศาลอุทธรณ์ปรับข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เข้ากับข้อกฎหมายอันเป็นการปรับบทกฎหมายซึ่งในคดีแพ่งคู่ความหาจำต้องอ้างตัวบทกฎหมายในคำฟ้องหรือคำให้การมาด้วยไม่ เป็นอำนาจและหน้าที่ของศาลที่จะปรับบทกฎหมายเอง ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ทั้งสองไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share