แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในกรณีร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57นั้น ถ้าบุคคลภายนอกมีคำขอสอดเข้ามาในคดีเพื่อเป็นคู่ความร่วมกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือไม่ร่วมกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จะต้องแสดงเหตุที่จะขอเข้ามาในคดี คำขอเช่นนี้เป็นคำคู่ความตามฝ่ายที่เข้าร่วม หรือถ้าไม่เป็นฝ่ายใด แต่เพื่อบังคับตามสิทธิของตนก็เป็นคำฟ้อง ในกรณีที่ถูกเรียกให้เข้ามาในคดีเป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ก็ต้องยื่นเอกสารแสดงเหตุว่าเข้ามา ในคดีเพราะเหตุใด ถ้าถูกเรียกเข้ามาเป็นฝ่ายจำเลย จะต้องยื่นคำให้การด้วย ตามมาตรา 177 วรรคท้าย ดังนี้ คำขอและเอกสารแสดงเหตุที่สอดเข้ามาจึงจัดว่าเป็นคำคู่ความถ้าศาลมีคำสั่งไม่ให้เข้ามาในคดี ย่อมมีผลเป็นการไม่รับคำคู่ความ แต่คำขอให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี ยังไม่มีการขอเข้ามาหรือแสดงเหตุที่เข้ามาเป็นคู่ความ หาใช่เป็นคำคู่ความไม่และมิใช่เป็นการตั้งประเด็นเพราะมิได้เป็นข้อเถียงหรือข้อแก้คำฟ้องแต่ประการใดคำสั่งคำขอชนิดนี้จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
คำขอให้เรียกคนภายนอกเข้ามาเป็นจำเลย มิใช่คำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 228(2) เพราะถ้าจำเลยแพ้คดีจะได้ฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกที่จะเรียกเข้ามา ประโยชน์อย่างนี้มิใช่ประโยชน์ในระหว่างพิจารณาเพราะประโยชน์จะเกิดขึ้น เมื่อศาลพิพากษาคดีให้จำเลยแพ้แล้วและจำเลยต้องชำระหนี้แล้ว จึงจะรับช่วงสิทธิของโจทก์ไปไล่เบี้ยได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2510)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้จากจำเลยที่ 1 และขอให้จำเลยที่ 2, 3, 4ผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดชำระหนี้เงินต้นพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 และ 4 รับว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้จริง แต่ไม่อาจรับรองความแท้จริงและความถูกต้องของสำเนาสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องและให้การต่อสู้หลายประการ ในที่สุดต่อสู้ว่ายังมีพันตำรวจเอกสง่า กิติขจร เป็นผู้ค้ำประกันหนี้รายนี้ร่วมกับจำเลยที่ 2, 3, 4 ด้วยอีกผู้หนึ่ง จะฟ้องให้จำเลยที่ 2, 3, 4 รับผิดเท่านั้นหาได้ไม่
จำเลยที่ 4 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกพันตำรวจเอกสง่ากิติขจร เข้ามาเป็นจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(3) โดยอ้างว่าถ้าจำเลยที่ 4 แพ้คดี จำเลยที่ 4 ย่อมมีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยจากพันตำรวจเอกสง่า กิติขจร ได้
ศาลชั้นต้นสั่งว่า พันตำรวจเอกสง่าและจำเลยที่ 4 ต่างเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 แยกทำสัญญากันคนละฉบับ ไม่ได้รับผิดร่วมกันกรณีไม่เข้าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้ศาลจะสั่งยกคำร้องเสีย ก็มิใช่เป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความ และทั้งไม่ใช่เป็นคำสั่งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความ หรือคำสั่งชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา 24 อันจะอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 227, 228 คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ก่อนศาลพิพากษาชี้ขาดตัดสินตามมาตรา 226 พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นโดยที่ประชุมใหญ่ว่า ในกรณีร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 นั้น ถ้าบุคคลภายนอกมีคำขอสอดเข้ามาในคดีเพื่อเป็นคู่ความร่วมกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือไม่ร่วมกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จะต้องแสดงเหตุที่จะขอเข้ามาในคดี คำขอเช่นนี้เป็นคำคู่ความตามฝ่ายที่เข้าร่วม หรือถ้าไม่เป็นฝ่ายใด แต่เพื่อบังคับตามสิทธิของตนก็เป็นคำฟ้อง ในกรณีที่ถูกเรียกให้เข้ามาในคดีเป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ต้องยื่นเอกสารแสดงเหตุว่า เข้ามาในคดีเพราะเหตุใด ถ้าถูกเรียกเข้ามาเป็นฝ่ายจำเลยจะต้องยื่นคำให้การด้วยตามมาตรา 177 วรรคท้าย ดังนี้ คำขอและเอกสารแสดงเหตุที่สอดเข้ามาจึงจัดว่าเป็นคำคู่ความ ถ้าศาลมีคำสั่งไม่ให้เข้ามาในคดี ย่อมมีผลเป็นการไม่รับคำคู่ความ แต่คำขอให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี ยังไม่มีการขอเข้ามาหรือแสดงเหตุที่เข้ามาเป็นคู่ความ หาใช่เป็นคำคู่ความไม่ และมิใช่เป็นการตั้งประเด็น เพราะมิได้เป็นข้อเถียงหรือข้อแก้คำฟ้องแต่อย่างใด คำสั่งคำขอชนิดนี้จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
คำขอให้เรียกคนภายนอกเข้ามาเป็นจำเลย มิใช่คำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 228(2) เพราะถ้าจำเลยแพ้คดีจะได้ฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกที่จะเรียกเข้ามาประโยชน์อย่างนี้มิใช่ประโยชน์ในระหว่างพิจารณา เพราะประโยชน์จะเกิดขึ้นเมื่อศาลพิพากษาคดีให้จำเลยแพ้แล้วและจำเลยต้องชำระหนี้แล้ว จึงจะรับช่วงสิทธิของโจทก์ไปไล่เบี้ยได้
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย