คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1156/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ขณะที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนรับขายฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่านิติกรรมการให้ที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นเจตนาลวง จำเลยที่ 2 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น โจทก์จึงไม่อาจยกข้อต่อสู้เรื่องการแสดงเจตนาลวงดังกล่าวต่อจำเลยที่ 2ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากได้ เมื่อการขายฝากมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ไถ่ถอน จำเลยที่ 2 โอนให้จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ขายต่อให้จำเลยที่ 4 นิติกรรมการให้และการซื้อขายก็ไม่อาจเพิกถอนเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 281 เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน2538 จำเลยที่ 1 ได้ตกลงกับโจทก์ว่าหากโจทก์ต้องการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินให้ได้จำนวนมาก จำเลยที่ 1 สามารถดำเนินการให้ได้โดยโจทก์จะต้องจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ก่อนซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ทราบข้อตกลงดังกล่าวแล้ว และโจทก์ก็ได้จดทะเบียนโอนที่ดินให้จำเลยที่ 1 ในวันเดียวกัน ต่อมาวันที่ 4กรกฎาคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินดังกล่าวจดทะเบียนขายฝากให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์ทราบได้บอกกล่าวขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวเสีย แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกเฉย ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2539 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนยกให้จำเลยที่ 3 และเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2539 จำเลยที่ 3 ก็ได้จดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยที่ 4 ซึ่งจำเลยทั้งสี่ต่างรู้ถึงเจตนาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และกระทำไปโดยไม่สุจริตทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการให้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 การจดทะเบียนขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 การจดทะเบียนการให้ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และการจดทะเบียนซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 281 ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ให้กลับคืนมาเป็นของโจทก์ หากจำเลยทั้งสี่เพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาแทน

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 4 ให้การว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 จะทำนิติกรรมโดยมีเจตนาอย่างใดจำเลยที่ 4 ไม่ทราบ จำเลยที่ 4 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 3 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ 4 จึงเป็นของเจ้าของโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เดิมโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 ก.เอกสารหมาย จ.1 วันที่ 29 มิถุนายน 2538 โจทก์โอนที่ดินให้จำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 นำที่ดินไปขายฝากแก่จำเลยที่ 2 ครบกำหนดสัญญาขายฝากแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ไถ่ถอน จำเลยที่ 2 โอนที่ดินให้จำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 ขายที่ดินให้จำเลยที่ 4 ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์จะเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย ล.5 นิติกรรมการให้ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เอกสารหมาย ล.6 นิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 เอกสารหมาย ล.2 ได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงโจทก์อ้างว่าการโอนที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นเจตนาลวงโดยโอนกรรมสิทธิ์กันหลอก ๆ เพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปกู้ยืมเงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงินแทนโจทก์โดยมีบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.2 ปัญหามีว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ทราบหรือไม่ว่า โจทก์โอนที่ดินให้จำเลยที่ 1 อันเป็นนิติกรรมอำพราง ข้อเท็จจริงโจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้ทำบันทึกโอนที่ดินให้จำเลยที่ 1โดยขณะทำบันทึก จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังไม่ทราบเรื่อง หลังจากโอนที่ดินให้จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้ไปดำเนินการตามที่ตกลงกันไว้ ต่อมาวันที่ 4 กรกฎาคม 2538 จำเลยที่ 1 นำที่ดินไปขายฝากกับจำเลยที่ 2โดยที่โจทก์ไม่ทราบเรื่องโจทก์ทราบเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2538 ได้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 บอกให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนที่ดิน จำเลยที่ 1 รับปากแต่ก็เพิกเฉย ส่วนจำเลยที่ 4 มีจำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานว่า โจทก์จำเลยที่ 1 นำที่ดินมาขายฝากให้ในราคา 200,000 บาท กำหนดเวลาไถ่ถอน 6 เดือน ได้ทำนิติกรรมขายฝากที่สำนักงานที่ดินตามเอกสารหมายล.5 เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ไถ่ถอน พยานจึงโอนที่ดินให้จำเลยที่ 3 เพื่อดำเนินการขายต่อไป จำเลยที่ 2 ตอบคำถามติงยืนยันว่า”โจทก์แจ้งให้ทราบว่าโอนที่ดินให้กับจำเลยที่ 1 เพียงหลอก ๆ ภายหลังจากครบกำหนดไถ่ถอนการขายฝากแล้ว…” จากคำพยานโจทก์และคำพยานจำเลยที่ 4 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนรับขายฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่านิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1เป็นเจตนาลวง ฉะนั้นจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินโดยไม่สุจริตอีกทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมขายฝากแก่จำเลยที่ 2โดยจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากในราคา 200,000 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงกว่าราคาประเมินมาก จำเลยที่ 2 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น โจทก์จึงไม่อาจยกข้อต่อสู้เรื่องการแสดงเจตนาลวงดังกล่าวต่อจำเลยที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากได้ เมื่อการขายฝากมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1ไม่ไถ่ถอน จำเลยที่ 2 โอนให้จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ขายต่อให้จำเลยที่ 4นิติกรรมการให้และการซื้อขายก็ไม่อาจเพิกถอนเช่นเดียวกัน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share