คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของบริษัทจำเลยที่ 1ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ การที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดในเวลาต่อมา โจทก์ได้นำเช็คไปยื่นขอรับชำระหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้เต็มตามจำนวนเงินในเช็คมิได้หมายความว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว จึงไม่อาจถือได้ว่าหนี้ตามเช็คได้ระงับและสิ้นผลผูกพัน คดีจึงยังไม่เลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 7

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันออกเช็คธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ลงวันที่ 30 กันยายน2540 สั่งจ่ายเงินจำนวน 1,201,641.30 บาท โดยจำเลยที่ 2และที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 แล้วมอบเช็คดังกล่าวแก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าก่อสร้างเสาเข็มเจาะ อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่ายังไม่มีการตกลงกับธนาคาร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 3 หลบหนี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งออกหมายจับจำเลยที่ 3 และให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 และที่ 3ชั่วคราว

จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่ต่อมาจำเลยที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิมและขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำคุก1 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุก 10 เดือนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เช็คตามฟ้องเป็นเช็คของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินในเช็คตามฟ้อง จำเลยที่ 2 กระทำในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ ต่อมาศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดและโจทก์ได้นำเช็คตามฟ้องไปยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้เต็มตามจำนวนเงินในเช็คแล้วมูลหนี้ตามเช็คย่อมระงับสิ้นไป ถือว่าหนี้ตามเช็คได้สิ้นผลผูกพันคดีจึงเป็นอันเลิกกัน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 นั้น เห็นว่า หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามฎีกาของจำเลยที่ 2การที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้จากเช็คตามฟ้องจากกองทรัพย์สินของผู้ล้มละลายอย่างเต็มจำนวนมิได้หมายความว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้ในเช็คตามฟ้องแล้ว ฉะนั้น จึงไม่อาจถือได้ว่าหนี้ตามเช็คที่โจทก์ฟ้องได้ระงับและสิ้นผลผูกพันไปตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คดีนี้จึงยังไม่เลิกกันดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 2 อ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้”

พิพากษายืน

Share