คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4638/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หากจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีบริษัทจำเลยที่ 1 ได้กระทำหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1253 , 1270 ประกอบกับ ป. รัษฎากร มาตรา 72 ย่อมจะต้องทราบถึงหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 เว้นแต่จำเลยที่ 2 จะพิสูจน์ได้ว่าแม้ได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ชำระบัญชีโดยครบถ้วนตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้วก็มิอาจทราบได้
เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระบัญชีแล้ว จำเลยที่ 1 ยังมีเงินหรือทรัพย์สินอื่นเหลืออยู่ แต่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชี ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรต่อโจทก์ แต่ไม่ได้จัดการใช้หนี้เงินให้แก่เจ้าหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 หรือวางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้นตามบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยวางทรัพย์สินแทนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้คนใดที่มิได้มาทวงถามให้ใช้หนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1264 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมาย อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 422 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ในวงเงินไม่เกินที่จำเลยที่ 1 มีเหลืออยู่ในวันเลิกกิจการ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าภาษีจำนวน ๑๔๐,๙๔๑.๖๔ บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินให้โจทก์จำนวน ๑๔๐,๙๔๑.๖๔ บาท ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๓,๐๐๐ บาท สำหรับจำเลยที่ ๒ พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า… ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางและตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการซื้อขายเพชรพลอยทั้งเจียรนัยและยังไม่เจียรนัย มีค่าภาษีค้างชำระแก่โจทก์จำนวน ๑๔๐,๙๔๑.๖๔ บาท จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๑ งบดุลของจำเลยที่ ๑ ณ วันเลิกกิจการเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๑ จำเลยที่ ๑ มีสินทรัพย์เพียงอย่างเดียว คือ เงินสด ๗,๘๒๐ บาท สำหรับหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น จำเลยที่ ๑ เรียกให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าแล้ว ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๑ โดยมิได้ชำระค่าภาษีจำนวน ๑๔๐,๙๔๑.๖๔ บาท แก่โจทก์ คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ ต้องร่วมกับจำเลยที่ ๑ ชำระค่าภาษีแก่โจทก์หรือไม่ กรณีนี้โจทก์แจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มไปยังจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๐ และวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๔๑ ก่อนจดทะเบียนเลิกบริษัท ซึ่งหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๗๐ บัญญัติให้ผู้ชำระบัญชีต้องทำรายงานการชำระบัญชีแสดงว่าการชำระบัญชีนั้นได้ดำเนินไปอย่างใดและได้จัดการทรัพย์สินของบริษัทนั้นไปประการใด เมื่อการชำระบัญชีกิจการของบริษัทสำเร็จลงแล้วให้เรียกประชุมใหญ่เพื่อเสนอรายงานนั้นและชี้แจงกิจการต่อที่ประชุม เมื่อที่ประชุมใหญ่ได้อนุมัติรายงานนั้นแล้ว ผู้ชำระบัญชีต้องนำข้อความที่ได้ประชุมนั้นไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันประชุม เมื่อได้จดทะเบียนแล้ว ดังนี้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดแห่งการชำระบัญชี ประกอบกับประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๒ บัญญัติว่า ในกรณีที่บริษัทเลิกกัน ให้ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการมีหน้าที่ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินทราบการเลิกของบริษัทนั้นภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก นอกจากนี้ตามความในวรรคสองและวรรคสามก็บัญญัติให้ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการมีหน้าที่และความรับผิดร่วมกันในการยื่นรายการและเสียภาษีตามแบบและภายในกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๘ และมาตรา ๖๙ โดยอนุโลม ถ้าไม่สามารถยื่นรายการและเสียภาษีภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้และได้ยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมสรรพากรภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก เมื่ออธิบดีกรมสรรพากรพิจารณาเห็นสมควรจะสั่งให้ขยายระยะเวลาออกไปอีกก็ได้ เฉพาะกรณีที่มีการชำระบัญชี อธิบดีจะสั่งให้ขยายรอบระยะเวลาบัญชีออกไปอีกด้วยก็ได้ นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๕๓ บัญญัติให้ผู้ชำระบัญชีบอกกล่าวแก่ประชาชนโดยประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่สองครั้งเป็นอย่างน้อยว่าบริษัทได้เลิกกันแล้ว และให้ผู้เป็นเจ้าหนี้ทั้งหลายยื่นคำทวงหนี้แก่ผู้ชำระบัญชีและส่งคำบอกกล่าวอย่างเดียวกันเป็นจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายทุก ๆ คน บรรดามีชื่อปรากฏในสมุดบัญชีหรือเอกสารของบริษัทนั้นภายในสิบสี่วันนับแต่ได้เลิกบริษัท แต่ตามทางนำสืบของจำเลยที่ ๒ หาปรากฏว่าได้มีการกระทำดังกล่าวไม่ ซึ่งหากจำเลยที่ ๒ ได้กระทำหน้าที่ตามที่กฎหมายข้างต้นกำหนดไว้ ย่อมจะต้องทราบถึงหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ ๑ แต่ถ้าหากไม่อาจทราบได้ก็ต้องนำสืบให้เห็นได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด ซึ่งจำเลยที่ ๒ ก็มิได้นำสืบให้เห็นเช่นนั้น และตามข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเลิกบริษัทวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๑ และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๑ ห่างกันเพียงเดือนเศษเท่านั้น ตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ ๒ นำสืบมา จึงมีพิรุธน่าสงสัยว่าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ไปโดยสุจริตตามกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้นเมื่อชำระบัญชีแล้ว จำเลยที่ ๑ ยังมีเงินหรือทรัพย์สินอื่นเหลืออยู่ แต่จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ชำระบัญชี ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ ๑ เป็นหนี้ค่าภาษีอากรโจทก์ แต่ไม่ได้จัดการใช้หนี้เงินให้แก่เจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๕๐ หรือวางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้นตามบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยวางทรัพย์สินแทนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้คนใดที่มิได้มาทวงถามให้ใช้หนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๖๔ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ ๒ ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ ๑ เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๒ จำเลยที่ ๒ จึงต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ ๑ นับตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีในวงเงินไม่เกิน ๗,๘๒๐ บาท ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๒ รับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ ๑ ในวงเงินไม่เกิน ๗,๘๒๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share