แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การตั้งกรรมการลูกจ้างนั้น อาจตั้งจากลูกจ้างของสถานประกอบกิจการนั้นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานก็ได้ ในกรณีที่ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการนั้นเกินหนึ่งในห้าของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน และในกรณีที่ลูกจ้างในสถานประกอบการกิจการนั้นเกินกึ่งหนึ่งของลูกจ้างทั้งหมดเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานอาจแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างทั้งคณะก็ได้ ซึ่งการแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างทั้งคณะก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องตั้งกรรมการลูกจ้างจากลูกจ้างที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานนั้นทั้งคณะ ซึ่งอาจตั้งจากลูกจ้างที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิกเป็นคณะกรรมการลูกจ้างก็ได้ จำเลยมีลูกจ้างที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิกเป็นคณะกรรมการลูกจ้างก็ได้ จำเลยมีลูกจ้างรวมประมาณ 1,300 คน และมีลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน พ. ทั้งหมด 811 คน เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนลูกจ้างของจำเลย จึงสามารถตั้งกรรมการลูกจ้างได้ทั้งคณะ ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยแม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน พ. ก็ตาม สหภาพแรงงาน พ. ก็สามารถตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบกิจการของจำเลยได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย
ตามข้อบังคับสหภาพแรงงาน พ. กำหนดว่าการประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงาน พ. จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ซึ่งหมายถึงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการที่จดทะเบียนไว้ สหภาพแรงงาน พ. มีคณะกรรมการที่จดทะเบียนไว้จำนวน 11 คน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงาน พ. เพื่อแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างมีกรรมการสหภาพแรงงาน พ. เข้าร่วมประชุม 5 คน จึงไม่ครบองค์ประชุม โจทก์จึงเป็นกรรมการลูกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา 52 การเลิกจ้างโจทก์เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างรวม 27,710 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ของค่าจ้างค้างชำระจากเงินต้น 19,150 บาท ทุกระยะ 7 วัน และให้จำเลยชำระค่าจ้างทุกรอบระยะเวลาค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือนพร้อมทั้งค่าน้ำมันเดือนละ 4,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าโจทก์จะเกษียณอายุ 60 ปี
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่กรรมการลูกจ้างของจำเลย การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนหลังจากที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว การที่โจทก์จะได้รับเงินเดือนต่อไปเพียงใดขึ้นอยู่กับสถานะของการเป็นลูกจ้างโจทก์จะขอให้จำเลยจ่ายเงินเดือนจนถึงเกษียณอายุไม่ได้ โจทก์ไม่ได้ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยหรือขอบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจ้างต่อไป โจทก์จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยจ่ายเงินเดือนให้โจทก์จนเกษียณอายุได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าจ้างค้างของเดือนพฤษภาคม 2547 รวมเป็นเงิน 10,883.33 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ชำระเงินเดือน เดือนละ 38,300 บาท กับเงินค่าน้ำมันรถเดือนละ 4,500 บาท นับจากเดือนมิถุนายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะพ้นจากสถานะการเป็นลูกจ้างของจำเลยพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของเงินเดือน และเงินค่าน้ำมันรถนับแต่วันผิดนัดที่ถึงกำหนดการจ่ายแต่ละเดือนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2544 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นที่ปรึกษาและทนายความ ซึ่งเป็นตำแหน่งระดับผู้บังคับบัญชา ได้รับค่าจ้างเดือนละ 38,300 บาท จ่ายทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน และค่าน้ำมันรถเดือนละ 4,500 บาท จ่ายทุกวันสิ้นเดือน จำเลยมีสหภาพแรงงานอยู่ 2 สหภาพ คือสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ซึ่งมีสมาชิกเป็นลูกจ้างระดับผู้บังคับบัญชา และสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ซึ่งมีสมาชิกเป็นลูกจ้างระดับปฏิบัติการ ขณะเกิดเหตุมีข้อบังคับที่จดทะเบียนแล้ว เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2545 สหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้ขอจดทะเบียนกรรมการจำนวน 11 คน โจทก์เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2546 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2545 สหภาพแรงงานทั้งสองสหภาพได้ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับจำเลยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 จำเลยได้มีหนังสือบอกเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่ได้ร้องขออนุญาตจากศาลแรงงาน ซึ่งโจทก์ได้รับทราบและมีผลในวันนั้น และจำเลยได้จ่ายเงินเดือนให้โจทก์จนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 โดยโอนเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคาร และได้เตรียมสั่งจ่ายเช็คเป็นค่าชดเชยให้โจทก์เท่ากับเงินเดือน 4 เดือน แต่โจทก์ไม่ยอมรับเช็คค่าชดเชยดังกล่าว ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 โจทก์ได้เข้าไปทำการส่งมอบแฟ้มงานให้จำเลย ในวันเดียวกันนั้นโจทก์ได้ทำหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบว่า โจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง การที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งก่อนที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่มีสหภาพแรงงานใดแจ้งให้จำเลยทราบว่าโจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการลูกจ้างและหลังจากได้รับแจ้งจากโจทก์ว่าโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างนั้น นางศิริพรผู้จัดการแผนกการเงินของจำเลย ได้ไปตรวจสอบที่สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ทราบจากนางรัชนีเจ้าหน้าที่ฝ่ายจดทะเบียนว่า ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2547 ได้ตรวจสอบจากเอกสารที่มีอยู่ไม่มีชื่อโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง นางรัชนีได้ส่งโทรสารเอกสารนั้นไปให้นางศิริพรและในวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 นั้น ประธานสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักแรงงานสัมพันธ์ว่าสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้แต่งตั้งให้โจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างแทนนายโกศลที่ขอลาออก ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสหภาพดังกล่าวเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2547 หนังสือดังกล่าวสำนักแรงงานสัมพันธ์ได้รับเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 สำนักแรงงานสัมพันธ์ได้มีหนังสือลงวันที่ 7 มิถุนายน 2547 แจ้งตอบรับหนังสือดังกล่าวไปให้ประธานสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ทราบ และแจ้งเรื่องแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างดังกล่าวไปให้จำเลยทราบ จำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ 15 มิถุนายน 2547 แจ้งไปยังสำนักแรงงานสัมพันธ์ว่าโจทก์ไม่มีคุณสมบัติเป็นกรรมการลูกจ้าง ปฏิเสธการเป็นกรรมการลูกจ้างของโจทก์ และศาลแรงงานกลางยังฟังข้อเท็จจริงว่า ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2547 คณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้มีการประชุมแต่งตั้งให้โจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างจริง ซึ่งตรงกับที่ประธานสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์แจ้งให้สำนักแรงงานสัมพันธ์ทราบ แล้ววินิจฉัยว่าที่จำเลยให้การและนำสืบว่า โจทก์เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ไม่มีสิทธิจะได้รับการแต่งตั้งจากสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ให้เป็นกรรมการลูกจ้างและสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ไม่มีสิทธิจะแต่งตั้งสมาชิกสหภาพแรงงานอื่นเป็นกรรมการลูกจ้างนั้น เห็นว่า การแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติห้ามการตั้งกรรมการลูกจ้างตามที่จำเลยให้การและนำสืบ จากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 45 ก็มิได้มีความหมายเช่นนั้น แต่จากบทบัญญัติดังกล่าวกลับแสดงให้เห็นว่าการตั้งกรรมการลูกจ้างนั้น อาจตั้งจากลูกจ้างของสถานประกอบกิจการนั้นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานก็ได้ ในกรณีที่ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการนั้นเกินหนึ่งในห้าของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน และในกรณีที่ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการนั้นเกินกึ่งหนี่งของลูกจ้างทั้งหมดเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานอาจแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างทั้งคณะก็ได้ ซึ่งการแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างทั้งคณะก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องตั้งกรรมการลูกจ้างจากลูกจ้างที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานนั้นทั้งคณะ ซึ่งอาจตั้งจากลูกจ้างที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิกเป็นคณะกรรมการลูกจ้างก็ได้ ข้อเท็จจริงได้ความจากพยานโจทก์จำเลยตรงกันว่า จำเลยมีลูกจ้างรวมประมาณ 1,300 คน และจากการนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่า สหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสมีลูกจ้างที่เป็นสมาชิกทั้งหมด 811 คน เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนลูกจ้างของจำเลย จึงสามารถตั้งกรรมการลูกจ้างได้ทั้งคณะ ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยแม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ก็ตาม สหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์สามารถตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบกิจการของจำเลยได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายแต่อย่างใด นอกจากนี้ศาลแรงงานกลางยังฟังข้อเท็จจริงว่าในวันประชุมตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างมีกรรมการมาประชุมเกินกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึงครบองค์ประชุมตามข้อบังคับข้อ 41 เป็นการประชุมโดยชอบ โจทก์จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์แล้วตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2547 การที่นายจ้างจะเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อนตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้ร้องขออนุญาตจากศาลแรงงานก่อน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่สหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ไม่ได้แจ้งเรื่องการตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างให้จำเลยทราบทันทีตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำไว้ต่อกัน ก็หาทำให้จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องร้องขออนุญาตต่อศาลแรงงานไม่
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.2 และข้อ 2.4 ที่ว่า สหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์มีกรรมการ 11 คน เมื่อการประชุมกรรมการสหภาพดังกล่าวเพื่อแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง มีกรรมการเข้าประชุมเพียง 5 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามข้อบังคับข้อ 41 การประชุมดังกล่าวจึงไม่ครบองค์ประชุมตามข้อบังคับข้อ 24 และข้อ 41 การประชุมแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินให้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางนั้น เห็นว่า ตามข้อบังคับสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ข้อ 41 กำหนดว่า การประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ซึ่งหมายถึงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการที่จดทะเบียนไว้ สหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์มีคณะกรรมการตามที่จดทะเบียนไว้จำนวน 11 คน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เพื่อแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างมีกรรมการสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เข้าร่วมประชุม 5 คน จึงไม่ครบองค์ประชุม โจทก์จึงเป็นกรรมการลูกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 การเลิกจ้างโจทก์เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นตามอุทธรณ์ของจำเลยอีกต่อไป อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์