แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยมีข้อกำหนดให้นำกฎของแก๊ฟต้า ข้อที่ 119 มาใช้บังคับ โดยต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อนตามกฎข้อบังคับอนุญาโตตุลาการที่ 125 และเป็นที่ตกลงกันโดยชัดแจ้งว่าเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนสำหรับสิทธิของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในการที่จะฟ้องร้องหรือดำเนินการตามกฎหมายแก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องคดีโดยมิได้มีคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการก่อนจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎดังกล่าว กรณีต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 เมื่อจำเลยส่งเอกสารทั้งหมดที่จะใช้อ้างอิงในคดีต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถานแม้จะเป็นชั้นไต่สวนคำร้องก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ไม่คัดค้านเอกสารดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องอย่างไร หรือไม่ได้ส่งสำเนาให้แก่ตนทั้งมิได้นำสืบแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น ศาลย่อมฟังเอกสารนั้นได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ยอมปฏิบัติและยอมรับในกระบวนพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการตามสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยแล้ว แต่โจทก์กลับนำคดีมาฟ้องต่อศาลไทยเสียก่อน ที่อนุญาโตตุลาการจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดโจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องและมิใช่การตัดสิทธิศาลไทยแต่อย่างใด
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยว่า จำเลยผิดสัญญาปฏิเสธว่ามิได้ผิดสัญญาแต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา และขอให้ไต่สวนมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากสัญญาซื้อขายซึ่งเป็นมูลพิพาทตกลงกันให้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดเสียก่อนเมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวโจทก์จึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้อง ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งว่า กรณีพิพาทเกิดจากสัญญาซื้อขายซึ่งมีข้อกำหนดให้นำกฎแก๊ฟต้า ข้อที่ 119 มาใช้บังคับโดยต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อนตามกฎข้อบังคับอนุญาโตตุลาการ ที่ 125 โจทก์จำเลยต่างมีสัญญาชาติของประเทศภาคีสมาชิกว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ จึงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10, 28 และมาตรา 29 เมื่อโจทก์ไม่เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อน จึงสั่งจำหน่ายคดี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามสัญญาซื้อขายความตอนท้ายระบุข้อความและเงื่อนไขอื่น ๆ ข้อ 3 ว่า “ข้อความและเงื่อนไขอื่น ๆหากไม่ขัดแย้งกับข้อความข้างต้นให้ถือตามแก๊ฟต้า 119” เอกสารนี้เป็นเอกสารท้ายฟ้องของ โจทก์เอง อันถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องยื่นมาพร้อมกับคำฟ้องเพื่อส่งให้จำเลยเมื่อมีข้อความระบุให้ใช้กฎดังกล่าว จึงรับฟังยันโจทก์ได้ว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงกันให้ใช้กฎของแก๊สต้า (สมาคมการค้าเมล็ดพืชและอาหารสัตว์จำกัด) ข้อที่ 119 จริงและจำเลยได้นำสืบต่ำไปว่า กฎของแก๊ฟต้า ข้อที่ 119 มีรายละเอียดตามเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งความในข้อ 27 ของเอกสารนี้ระบุว่า(ก) ข้อพิพาทใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากหรือตามสัญญาฉบับนี้ ให้ได้รับการตัดสินโดยอนุญาโตตุลาการในกรุงลอนดอน ตามกฎอนุญาโตตุลาการของสมาคมการค้าเมล็ดพื่ชและอาหารสัตว์ จำกัด เลขที่ 125 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ของสัญญากฎดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาฉบับนี้ และให้ถือว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้รับทราบแล้ว(ข) คู่สัญญาและบุคคลใด ๆ ที่เรียกร้องภายใต้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งสำหรับข้อพิพาทใด ๆ ดังกล่าวไม่ได้ จนกว่าข้อพิพาทนั้นจะได้รับฟ้องและตัดสินแล้วโดยอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาด หรือคณะกรรมการอุทธรณ์ตามแต่กรณี ตามกฎอนุญาโตตุลาการ และเป็นที่ตกลงและแถลงกันโดยชัดแจ้งว่า การขอรับคำตัดสินจากอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดหรือคณะกรรมการอุทธรณ์ตามแต่กรณีนั้น ให้เป็นเงื่อนไขบังคับก่อนสำหรับสิทธิของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือบุคคลใดที่เรียกร้องภายใต้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในการที่จะยื่นฟ้องร้องหรือดำเนินการตามกฎหมายต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายสำหรับข้อพิพาทใด ๆ และจำเลยยังนำสืบต่อไปด้วยว่ากฎข้อบังคับอนุญาโตตุลาการเลขที่ 125 ซึ่งปรากฎรายละเอียดตามความในข้อ 3 ของเอกสารนี้ระบุว่า ข้อ 3.1 ผู้ยื่นข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการจะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ ฯลฯ (ก) แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการหนึ่งราย และแจ้งให้คู่กรณีทราบชื่อของอนุญาโตตุลาการที่ได้รับแต่งตั้ง หรือ (ข) ยื่นคำร้องให้สมาคมเป็นผู้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการตามที่กำหนดไว้ในกฎข้อ 3.6 เมื่อคู่กรณีได้รับแจ้งถึงการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการดังกล่าว จะต้องกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ฯลฯ คือ รับการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการให้เป็นอนุญาโตตุลาการแต่ผู้เดียวสำหรับข้อพิพาทนั้น หรือแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการรายที่สองขึ้น ข้อ 3.2 เมื่อได้มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นสองรายเรียบร้อยแล้ว อนุญาโตตุลาการทั้งสองจะร่วมกันแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการรายที่สามขึ้น ฯลฯ อนุญาโตตุลาการรายที่สามนี้จะเป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการผู้นี้ ฯลฯ ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบโต้แย้งหรือแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่ากฎของแก๊ฟต้าว่าด้วยอนุญาโตตุลาการเลขที่ 125 รวมอยู่ในสัญญาซื้อขายรายนี้ด้วยดังที่จำเลยนำสืบมา
เรื่องจำเลยยื่นเรื่องราวไปยังอนุญาโตตุลาการในกรุงลอนดอนเพื่อพิจารณาข้อพิพาทเรื่องนี้ โดยแต่งตั้งนายเอ.จี.สก็อต เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายจำเลย และได้มีโทรสารแจ้งเรื่องราวการเสนอข้อพิพาทไปยังโจทก์ให้ทราบแล้วเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2535 วันที่ 11กรกฎาคม 2535 โจทก์มีโทรสารแจ้งมายังจำเลยว่า ได้แต่งตั้งให้นายเอ็ม.พี.เมโดวส์ เป็นอนุญาโตตุลาการของโจทก์ ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2535 อนุญาโตตุลาการทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันแต่งตั้งนางเจ.ลีบระ เป็นอนุญาโตตุลาการคนที่สาม คือประธานคณะอนุญาโตตุลาการ และบรรจุข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยเป็นคดีที่ 11146 ซึ่งเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามกฎข้อบังคับอนุญาโตตุลาการเลขที่ 125 แล้ว และคณะอนุญาโตตุลาการยังมิได้ชี้ขาดซึ่งตามกฎของแก๊ฟต้าที่ 119 ข้อ 27 (ข) ให้ถือเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนสำหรับสิทธิของคู่สัญญาในการที่จะยื่นฟ้องต่อศาล ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องคดีโดยมิได้มีคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการการก่อน จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎดังกล่าว กรณีต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530
ประเทศไทยและประเทศอังกฤษล้วนเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือ และการใช้บังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ (อนุสัญญานิวยอร์ค ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2501) โดยประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2518 ตามเอกสารหมายล.12 ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของ จำเลยวันที่ 9พฤศจิกายน 2535 จำเลยส่งเอกสารทั้งสองที่จะใช้อ้างอิงในคดี รวมทั้งเอกสารหมาย ล.14 ด้วยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2535 อันเป็นการยื่นเอกสารต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน ถึงแก้จะเป็นการไต่สวนคำร้องก็ตาม แต่โจทก์ก็ไม่คัดค้านเอกสารดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องอย่างไร หรือไม่ได้ส่งสำเนาให้แก่ตนทั้งมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ศาลย่อมฟังเอกสารนั้นได้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ประเทศไทยและประเทศอังกฤษล้วนเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับการชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ซึ่งใช้บังคับได้ในประเทศตามอนุสัญญากรุงนิวยอร์ค เอกสารหมาย ล.12 ดังที่จำเลยนำสืบมาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวย่อมได้รับการรับรองและใช้บังคับในประเทศไทย ตามบทบัญญัติมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530
เมื่อจำเลยยื่นเรื่องราวไปยังอนุญาโตตุลาการในกรุงลอนดอนและแต่งตั้งนายเอ.จี.สก๊อต เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายจำเลยแล้ว โจทก์ก็ได้แต่งตั้งนายเอ็ม.พี.เมโดวส์ เป็นอนุญาโตตุลาการของโจทก์ แล้วอนุญาโตตุลาการทั้งสองฝ่ายได้แต่งตั้งนางเจ.ลีบระ เป็นประธานอนุญาโตตุลาการ และบรรจุข้อพิพาทเป็นคดีที่ 11146 เพื่อพิจารณาจึงถือได้ว่าโจทก์ได้ยอมปฏิบัติและยอมรับในกระบวนพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษตามสัญญาระหว่างโจทก์ จำเลยแล้ว ซึ่งหากคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวชี้ขาดให้โจทก์ชนะ แล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามโจทก์ก็สามารถนำคำวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวมาฟ้องร้องบังคับ จำเลยได้อยู่แล้ว แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลไทยเสียก่อน ทั้ง ๆ ที่อนุญาโตตุลาการยังมิได้ชี้ขาดจึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง และมิใช่การตัดสิทธิศาลไทยแต่อย่างใด
พิพากษายืน