แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญากู้ตามฟ้องจำเลยลงชื่อเป็นผู้ให้กู้ กับมี ภ. กับ น. ลงลายมือชื่อในฐานะผู้กู้จริง สัญญากู้ดังกล่าวจึงเป็นเอกสารของจำเลย และเมื่อจำเลยไม่ได้ปลอมว่าเป็นเอกสารของผู้ใด สัญญากู้นั้นจึงไม่ใช่เอกสารปลอม
กรมตำรวจยื่นฟ้องจ่าสิบตำรวจ ภ. กับพวกเป็นจำเลยในคดีแพ่งบังคับให้ชำระเงินฐานทุจริตและละเมิด ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษายึดทรัพย์รถยนต์ของจ่าสิบตำรวจ ภ. ออกขายทอดตลาดโดยเก็บรักษาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไว้ เมื่อทรัพย์ที่กรมตำรวจขอให้ศาลยึดไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาดังกล่าวนั้น ก็เพื่อป้องกันการจำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา ทรัพย์ดังกล่าวจึงมิใช่ทรัพย์ที่ส่งไว้ต่อศาล หรือที่ศาลรักษาไว้ในการพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 185
จำเลยในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่ง แม้จะเป็นหนี้ที่ไม่มีมูลหนี้ต่อกันจริง จำเลยก็ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้และเมื่อศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ดังนี้ การที่จำเลยดำเนินการบังคับคดีแก่จ่าสิบตำรวจภ. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยขออายัดเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวที่ผู้เสียหายขอให้ศาลสั่งยึดไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาในคดีนั้นมาชำระหนี้จำเลยในคดีนี้จึงมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยมีเจตนาเอาทรัพย์ดังกล่าวไปโดยพลการ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265และมาตรา 185,187 ประกอบมาตรา 80,350 เรียงกระทงลงโทษฐานปลอมเอกสารสิทธิจำคุก 1 ปี ฐานพยายามเอาไปซึ่งทรัพย์ที่ส่งไว้ต่อศาล หรือที่ศาลได้รักษาไว้ในการพิจารณาคดี จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 3 ปี ข้อหาอื่นให้ยก โจทก์ไม่อุทธรณ์ ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 185,187,90 และ 265 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 เมื่อการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 แต่ศาลชั้นต้นได้กำหนดโทษจำเลยตามข้อหาความผิดฐานพยายามเอาไปซึ่งทรัพย์ที่ส่งไว้ต่อศาลหรือที่ศาลได้รักษาไว้ในการพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 185ซึ่งเป็นบทหนักจึงมิได้กำหนดโทษจำเลยตามมาตรา 350 ไว้นั้น หากเมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยคงมีความผิดตามมาตรา 350 เพียงฐานเดียวเช่นนี้ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง บัญญัติว่าเมื่อศาลเห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดและไม่มีการยกเว้นโทษตามกฎหมาย ให้ศาลลงโทษแก่จำเลยตามความผิด และมาตรา 186(7) และ (8) บัญญัติให้คำพิพากษาต้องมีบทมาตราที่ยกขึ้นปรับ และคำชี้ขาดให้ยกฟ้องหรือลงโทษ ซึ่งหมายความว่า เมื่อศาลเห็นว่าจำเลยกระทำผิดและไม่มีการยกเว้นโทษตามกฎหมายให้ศาลลงโทษแก่จำเลยตามความผิดโดยอ้างว่ากระทำผิดบทมาตราใด และมีคำชี้ขาดหรือคำพิพากษาให้ลงโทษไปตามนั้น ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ไม่มีคำชี้ขาดหรือคำพิพากษาให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 จึงเป็นการมิชอบ และกรณีเช่นนี้มิใช่เป็นกรณีที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 212 เพราะมิใช่เป็นกรณีที่ศาลพิพากษาเพิ่มเติมโทษของจำเลยแต่อย่างใดเมื่อโจทก์ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงมีอำนาจกำหนดโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทราบว่าคดีที่กรมตำรวจยื่นฟ้องจ่าสิบตำรวจภัทรพลสุธำรงเดช ให้ชดใช้เงินจำนวน 27,275,927.55 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1013-1015/2530 ของศาลชั้นต้น ศาลได้ยึดทรัพย์สินของจ่าสิบตำรวจภัทรพลกับพวกไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาและนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาเก็บรักษาไว้ แต่จำเลยได้ร่วมกับจ่าสิบตำรวจภัทรพล นางนุชนารถ และนายโกวิทซึ่งไม่ได้ตัวมาฟ้อง ปลอมสัญญากู้เงินขึ้นทั้งฉบับ โดยจำเลยลงชื่อเป็นผู้ให้กู้ นางนุชนารถและจ่าสิบตำรวจภัทรพลลงชื่อเป็นผู้กู้ เพื่อเป็นหลักฐานว่าจำเลยให้กู้เงินตามสัญญาดังกล่าว โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และเป็นการแกล้งให้จ่าสิบตำรวจภัทรพลเป็นหนี้จำเลยอันไม่เป็นความจริง เพื่อมิให้กรมตำรวจเจ้าหนี้ที่แท้จริงของจ่าสิบตำรวจภัทรพลได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน ต่อมาจำเลยได้นำสัญญากู้ดังกล่าวฟ้องนางนุชนารถและจ่าสิบตำรวจภัทรพลต่อศาลชั้นต้น แล้วแกล้งทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันให้ศาลพิพากษาตามยอม โดยผู้ถูกฟ้องยอมชดใช้เงินตามฟ้อง และจำเลยกับพวกดังกล่าวได้พยายามใช้วิธีหลอกลวงเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องให้เชื่อว่าจำเลยเป็นเจ้าหนี้ที่แท้จริงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเพื่อเอาไปซึ่งเงินจำนวน 172,000บาท ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เก็บรักษาไว้เนื่องจากการยึดทรัพย์ของจ่าสิบตำรวจภัทรพลชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาในคดีแพ่งอันเป็นการโกงเจ้าหนี้ที่แท้จริงมิให้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน จำเลยลงมือกระทำความผิดแล้วแต่ไม่บรรลุผลเพราะเจ้าพนักงานตำรวจทราบเสียก่อน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180, 185, 187,80, 264, 265, 350
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265และมาตรา 185, 187 ประกอบมาตรา 80, 350 เรียงกระทงลงโทษ ฐานปลอมเอกสารสิทธิ จำคุก 1 ปี ฐานพยายามเอาไปซึ่งทรัพย์ที่ได้ส่งไว้ต่อศาลหรือที่ศาลให้รักษาไว้ในการพิจารณาคดี จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 3 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 185, 187, 80 และ 265 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า สัญญากู้ตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 เป็นเอกสารของจำเลยเองโดยจำเลยลงชื่อเป็นผู้ให้กู้ จ่าสิบตำรวจภัทรพลและนางนุชนารถลงชื่อในฐานะผู้กู้เป็นลายมือชื่อจริง สัญญากู้ดังกล่าวจึงเป็นเอกสารของจำเลยเอง ไม่ได้ปลอมว่าเป็นเอกสารของผู้ใด เอกสารดังกล่าวไม่ใช่เอกสารปลอม จำเลยจึงไม่มีความผิดในข้อหาดังกล่าว
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 185 และ187 ประกอบมาตรา 80 หรือไม่ ข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า กรมตำรวจยื่นฟ้องจ่าสิบตำรวจภัทรพลกับพวกเป็นจำเลยในคดีแพ่งบังคับให้ชำระเงินฐานทุจริตและละเมิด ตามสำนวนคดีแพ่งของศาลชั้นต้นหมายเลขดำที่ 1013-1015/2530 ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษายึดทรัพย์ของจ่าสิบตำรวจภัทรพล ซึ่งเป็นรถยนต์ออกขายทอดตลาด โดยเก็บรักษาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไว้ และจำเลยในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1319/2534 ของศาลชั้นต้นดำเนินการบังคับคดีโดยขออายัดเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ของจ่าสิบตำรวจภัทรพล แต่กรมตำรวจได้ยื่นคำคัดค้าน จำเลยจึงขอถอนการบังคับคดี เห็นว่า ทรัพย์ที่กรมตำรวจขอให้ศาลยึดไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษานั้นก็เพื่อป้องกันการจำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์ เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา ทรัพย์ดังกล่าวจึงมิใช่ทรัพย์ที่ส่งไว้ต่อศาล หรือที่ศาลรักษาไว้ในการพิจารณาคดี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 80 แต่อย่างใด
ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187 ประกอบมาตรา 80 นั้นเห็นว่า จำเลยในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1319/2534 ของศาลชั้นต้น มีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์ของลูกหนี้ได้ และศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินของจ่าสิบตำรวจภัทรพลลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยอาศัยและตามคำสั่งศาลในชั้นบังคับคดีเพื่อนำเงินที่ศาลสั่งยึดไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษามาชำระหนี้จำเลย มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยมีเจตนาเอาทรัพย์ดังกล่าวไปโดยพลการ จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187 ประกอบมาตรา 80 เช่นเดียวกัน
ปัญหาสุดท้ายมีว่า ในข้อหาความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้กำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยไว้นั้น ศาลฎีกาจะกำหนดโทษได้หรือไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 และมาตรา 185, 187 ประกอบมาตรา 80, 350เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปลอมเอกสารสิทธิจำคุก1 ปี ฐานพยายามเอาไปซึ่งทรัพย์ที่ส่งไว้ต่อศาลหรือที่ศาลได้รักษาไว้ในการพิจารณาคดีจำคุก 2 ปี รวมจำคุก 3 ปี ข้อหาอื่นให้ยก โจทก์ไม่อุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 185, 187, 90 และ 265 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้แต่เห็นว่าศาลชั้นต้นมิได้กำหนดโทษสำหรับความผิดข้อหาดังกล่าว ทั้งโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานนี้ได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 212 ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 แต่ศาลชั้นต้นได้กำหนดโทษจำเลยตามข้อหาความผิดฐานพยายามเอาไปซึ่งทรัพย์ที่ส่งไว้ต่อศาลหรือที่ศาลได้รักษาไว้ในการพิจารณาคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 185 ซึ่งเป็นบทหนัก จึงมิได้กำหนดโทษจำเลยตามมาตรา 350 ไว้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยคงมีความผิดตามมาตรา 350 เพียงฐานเดียว แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ไม่กำหนดโทษจำเลยในฐานนี้อีกโดยอ้างว่าโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่อาจลงโทษในข้อหาความผิดฐานนี้เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212เช่นนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง บัญญัติว่า”เมื่อศาลเห็นว่าจำเลยได้กระทำผิด และไม่มีการยกเว้นโทษตามกฎหมาย ให้ศาลลงโทษแก่จำเลยตามความผิด แต่เมื่อเห็นสมควรศาลจะปล่อยจำเลยชั่วคราว ระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้” มาตรา 186 บัญญัติว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งต้องมีข้อสำคัญเหล่านี้เป็นอย่างน้อย
ฯลฯ
(7) บทมาตราที่ยกขึ้นปรับ
(8) คำชี้ขาดให้ยกฟ้องหรือลงโทษ” ซึ่งหมายความว่า เมื่อได้ความว่าจำเลยกระทำผิดและไม่มีการยกเว้นโทษตามกฎหมายให้ศาลลงโทษแก่จำเลยตามความผิดโดยอ้างว่ากระทำผิดบทมาตราใด และมีคำชี้ขาดหรือคำพิพากษาให้ลงโทษไปตามนั้น ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 แล้ว แต่ไม่มีคำชี้ขาดหรือคำพิพากษาให้ลงโทษจำเลยจึงเป็นการมิชอบ และกรณีเช่นนี้มิใช่เป็นกรณีที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 เพราะมิใช่เป็นกรณีที่ศาลพิพากษาเพิ่มเติมโทษของจำเลยแต่อย่างใด ศาลฎีกาจึงมีอำนาจกำหนดโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350มีกำหนด 1 ปี แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ให้คุมความประพฤติจำเลยโดยให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติกับจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 6 เดือน ต่อครั้งภายในเวลาที่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1