คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6343/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกรถพิพาทคืนจากจำเลยหรือไม่ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว ส่วนคดีก่อนอีกคดีหนึ่งจำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลย ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลย (โจทก์คดีนี้) ต้องรับผิดใช้เงินที่โจทก์ (จำเลยคดีนี้) ชำระหนี้แทนจำเลย (โจทก์คดีนี้) ต่อธนาคารโดยมาฟ้องไล่เบี้ยได้หรือไม่ ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยคดีนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยฟ้องให้โจทก์ชำระเงินที่จำเลยทดรองจ่ายไปก่อน หลังจากหักกลบลบหนี้แล้ว ซึ่งปรากฏว่าโจทก์ยังติดค้างหนี้จำเลยอยู่ ดังนั้น คดีทั้งสองกับคดีนี้ มีประเด็นข้อพิพาทแตกต่างกัน หาใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำและฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และ 148 ไม่
แม้เอกสารพิพาทจำเลยทำขึ้นฝ่ายเดียวโดยโจทก์มิได้รับรอง ทั้งยังเป็นสำเนาเอกสารก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าในขณะที่จำเลยอ้างเอกสารดังกล่าวต่อศาล โจทก์มิได้คัดค้านว่าไม่มีต้นฉบับหรือสำเนาเอกสารนั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ ทั้งได้ความว่าต้นฉบับเอกสารดังกล่าวคู่ความได้อ้างส่งไว้ในสำนวนคดีแพ่งอีกเรื่องหนึ่งของศาลชั้นต้น ศาลจึงมีอำนาจรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวนั้นได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93
การที่โจทก์ยอมให้จำเลยหักเงินจำนวนที่โจทก์เบิกล่วงหน้าจากเงินค่างานที่กรมทางหลวงจะจ่ายให้แก่จำเลยตามผลงานที่โจทก์ทำได้และส่งมอบให้กรมทางหลวงและโจทก์ยอมให้จำเลยคิดดอกเบี้ยในหนี้เงินที่เบิกล่วงหน้าแต่ละคราวในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี บ้าง ร้อยละ 17 ต่อปี บ้าง และร้อยละ 15 ต่อปี บ้าง เท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารคิดจากจำเลยผู้กู้นั้นมีลักษณะเป็นบัญชีเดินสะพัด อัตราดอกเบี้ยของจำนวนเงินที่เบิกล่วงหน้าแต่ละยอดที่โจทก์ได้ตกลงยินยอมเสียให้แก่จำเลยย่อมหมดไปเมื่อมีการตัดทอนบัญชีแต่ละคราว มิใช่เป็นข้อสัญญาหรือนิติกรรมที่โจทก์ต้องผูกพันยอมให้จำเลยคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวได้ตลอดไป เมื่อปรากฎจากบันทึกข้อตกลงในสัญญารับช่วงงานว่ามีการกำหนดดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ซึ่งเกินกว่ากฎหมายกำหนด ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์รับผิดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันตัดทอนบัญชีในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 นั้น จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประมูลงานสร้างทางหลวงและตกลงให้โจทก์รับช่วงงานสร้างทางทั้งหมด โดยโจทก์ตัดผลประโยชน์ให้จำเลยในอัตราร้อยละ 6 ของราคาก่อสร้าง แต่จำเลยต้องโอนสิทธิการรับเงินจากกรมทางหลวงแก่ธนาคาร และตกลงกับธนาคารว่าเมื่อธนาคารรับเงินจากกรมทางหลวงแล้วให้นำเงินเข้าบัญชีจำเลยโดยให้จำเลยทำหนังสือยินยอมให้ธนาคารโอนเงินดังกล่าวให้โจทก์ทันทีเพื่อที่ธนาคารจะได้หักหนี้ที่โจทก์มีต่อธนาคาร ระหว่างก่อสร้างจำเลยโอนสิทธิการรับเงินจากกรมทางหลวงให้ธนาคารทหารไทย จำกัด แต่มิได้ทำหนังสือยินยอมให้ธนาคารมีอำนาจโอนเงินดังกล่าวให้โจทก์ แต่จำเลยกลับรับเงินไปเสียเอง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 8,433,847 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2529 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,265,077 บาท รวมเป็นเงิน 9,698,924 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 8,433,847 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องโจทก์และบังคับให้โจทก์ชำระเงิน 12,108,759.97 บาท แก่จำเลย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 7,377,166.04 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในต้นเงิน 1,800,978.81 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงิน 7,609,142.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย คำขออื่นให้ยกและให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 23943/2530 หมายเลขแดงที่ 9070/2534 และฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 12988/2534 ของศาลชั้นต้น หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 23943/2530 หมายเลขแดงที่ 9070/2534 ของศาลชั้นต้น โจทก์คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกรถพิพาทคืนจากจำเลยหรือไม่ ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ ส่วนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 8687/2533 หมายเลขแดงที่ 12988/2534 ของศาลชั้นต้น จำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลย ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลย (โจทก์คดีนี้) ต้องรับผิดใช้เงินที่โจทก์ (จำเลยคดีนี้) ชำระหนี้แทนจำเลย (โจทก์คดีนี้) ต่อธนาคารโดยมาฟ้องไล่เบี้ยได้หรือไม่ ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยคดีนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยฟ้องให้โจทก์ชำระเงินที่จำเลยทดรองจ่ายไปก่อน หลังจากหักกลบลบหนี้แล้ว ซึ่งปรากฏว่าโจทก์ยังติดค้างหนี้จำเลยอยู่ จึงเห็นได้ชัดแจ้งว่า คดีทั้งสองกับคดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทแตกต่างกัน หาใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำและฟ้องซ้ำดังที่โจทก์อ้างไม่
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อที่สองว่า โจทก์หรือจำเลยจะต้องเป็นฝ่ายชำระหนี้แก่กันหรือไม่เพียงใด ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ฟังได้ว่า โจทก์เป็นหนี้จำเลยที่เบิกเงินค่าจ้างล่วงหน้าไป และหลังจากตัดทอนบัญชีกันแล้วโจทก์เป็นหนี้จำเลยจำนวน 7,609,142.85 บาท โจทก์จึงต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลย ส่วนที่โจทก์นำสืบอ้างว่าจำเลยยังติดค้างหนี้ค่าจ้างแก่โจทก์ตามสัญญารับช่วงงาน เป็นเงิน 8,433,847 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่เชื่อถือได้มานำสืบสนับสนุน ข้ออ้างของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้
ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลรับฟังเอกสารหมาย ล. 62 และ ล. 14 ทั้ง 2 ปึก เพื่อให้โจทก์รับผิดใช้เงินแก่จำเลยเป็นการไม่ชอบ เพราะเอกสารดังกล่าวจำเลยทำขึ้นฝ่ายเดียวโดยโจทก์มิได้รับรอง ทั้งยังเป็นสำเนาเอกสารนั้น เห็นว่า ในขณะที่จำเลยอ้างเอกสารดังกล่าวต่อศาล โจทก์มิได้คัดค้านว่าไม่มีต้นฉบับหรือสำเนาเอกสารนั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ ทั้งได้ความว่าต้นฉบับเอกสารดังกล่าวคู่ความได้อ้างส่งไว้ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 9070/2534 ของศาลชั้นต้น ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวนั้นได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์รับผิดใช้ดอกเบี้ยแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ยอมให้จำเลยหักเงินจำนวนที่เบิกล่วงหน้าจากเงินค่างานที่กรมทางหลวงจะจ่ายให้แก่จำเลยตามผลงานที่โจทก์ทำได้และส่งมอบให้กรมทางหลวงโดยยอมให้คิดดอกเบี้ยในหนี้เงินที่เบิกล่วงหน้าจากจำเลย ซึ่งจำเลยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี บ้าง ร้อยละ 17 ต่อปี บ้าง และร้อยละ 15 ต่อปี บ้าง เท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารคิดจากจำเลยผู้กู้นั้นมีลักษณะเป็นบัญชีเดินสะพัด อัตราดอกเบี้ยของจำนวนเงินที่เบิกล่วงหน้าแต่ละยอดที่โจทก์ได้ตกลงยินยอมเสียให้แก่จำเลยย่อมหมดไปเมื่อมีการตัดทอนบัญชีแต่ละคราว มิใช่เป็นข้อสัญญาหรือนิติกรรมที่โจทก์ต้องผูกพันยอมให้จำเลยคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวได้ตลอดไป เมื่อปรากฏจากบันทึกข้อตกลงในสัญญารับช่วงงานว่า มีการกำหนดดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ซึ่งเกินกว่ากฎหมายกำหนด ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์รับผิดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันตัดทอนบัญชีในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น เป็นการชอบแล้ว และที่จำเลยฎีกาว่า การที่โจทก์ยอมใช้ดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นพฤติการณ์พิเศษและเป็นค่าเสียหายที่จำเลยพิสูจน์ได้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวจำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share