คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4431/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่งซึ่งกฎหมายรับรอง และคุ้มครองไว้โดยเฉพาะ ไม่มีรูปร่าง ทั้งไม่อาจยึดถือครอบครองได้อย่างทรัพย์สินทั่วไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้อง แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของเครื่องหมายการค้า เมื่อจำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้องไปแล้ว ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าในสินค้าที่ได้จำหน่ายไปได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องหมายการค้านั้นจากราคาสินค้าที่จำหน่ายไปเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้จำเลยที่ 1 ผู้ซื้อสินค้าซึ่งประกอบการค้าปกตินำสินค้านั้นออกจำหน่ายอีกต่อไปเท่านั้น การซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้องไปดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่จำเลยที่ 1 ในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้อง การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปเพชรในกรอบสี่เหลี่ยมฟ้องจำเลยทั้งสามให้ระงับหรือเลิกใช้เครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยพร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย จึงไม่ใช่การก่อการรบกวนสิทธิของจำเลยทั้งสามผู้ซื้อในอันจะครอบครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะโจทก์มีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขาย อันผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 475 ที่จะเป็นเหตุให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ขายสามารถสอดเข้ามาในคดีเพื่อปฏิเสธการเรียกร้องของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 478 ได้
ส่วนปัญหาว่าใครจะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปเพชรดีกว่ากัน เป็นข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ซึ่งมี พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 บัญญัติคุ้มครองเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว และปรากฏตามคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ว่า ผู้ร้องได้ฟ้องโจทก์โดยอ้างว่ามีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปเพชรดีกว่าโจทก์ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีของผู้ร้องขาดอายุความแล้วพิพากษายืนให้ยกฟ้องของผู้ร้อง ผู้ร้องซึ่งเป็นคู่ความเดียวกับโจทก์จะรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันไม่ได้ ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 148 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องสอดของผู้ร้องมานั้นชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปเพชรเม็ดเดียว จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการมีอำนาจจัดการแทนได้ร่วมกันนำเข้าและจำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์จึงร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสามการกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 25,000,000 บาท พร้อมค่าเสียหายอีกเดือนละ 2,000,000 บาท จนกว่าจำเลยทั้งสามจะระงับหรือเลิกใช้เครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันที่จำหน่ายทั่วราชอาณาจักรไม่น้อยกว่า 3 ฉบับ ติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปเพชรบริษัทต้านอง พรีซิชั่น เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอยู่ในดินแดนไต้หวันเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปเพชร จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าของบริษัทดังกล่าวมาขายในประเทศไทยตลอดมาจนกระทั่งปัจจุปัน จำเลยที่ 1 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปเครื่องหมายการค้า โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต เจตนากลั่นแกล้งจำเลยทั้งสามให้ถูกดำเนินคดีอาญา ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุมและขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาบริษัทต้านอง พรีซิชั่น เทคโนโลยี จำกัด ยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนตามกฎหมายของดินแดนไต้หวันผู้ร้องเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปเพชรใช้กับสินค้าจำพวกเครื่องจักรและเครื่องมือทางการเกษตร โดยใช้ประกอบอักษรจีนสำหรับสินค้าที่จำหน่ายในประเทศ และประกอบอักษรคำว่า DIAMOND สำหรับสินค้าที่ส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ ผู้ร้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในหลายประเทศรวมทั้งในประเทศไทย ซึ่งจดทะเบียนไว้เมื่อ ปี 2520 เดิมผู้ร้องแต่งตั้งโจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าในประเทศไทย ต่อมาผู้ร้องแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าแทน โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปเพชรในกรอบสี่เหลี่ยมเมื่อปี 2524 โดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นเครื่องหมายที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้ร้องซึ่งจดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว โจทก์เคยฟ้องแย้งต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เรียกค่าเสียหายจากผู้ร้อง คดีถึงที่สุดโดยศาลเห็นว่า คดีฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และการใช้สิทธิของผู้ร้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปเพชรในกรอบสี่เหลี่ยมโดยไม่สุจริต ผู้ร้องมีอำนาจร้องสอดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 478 จึงฟ้องแย้งให้ห้ามโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้ารูปเพชรในกรอบสี่เหลี่ยมกับสินค้าท้ายคำร้อง สินค้าประเภทเครื่องปั๊มน้ำ เครื่องสูบฉีดน้ำ และเครื่องฉีดพ่นยาฆ่าแมลง และโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวัน 3 ฉบับ คือ ไทยรัฐ เดลินิวส์ และมติชนเป็นเวลา 15 วัน
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาคำร้องแล้ววินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเพื่อบังคับมิให้โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 478 มีคำสั่งยกคำร้องสอด ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…เครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่งซึ่งกฎหมายรับรองและคุ้มครองไว้โดยเฉพาะ ไม่มีรูปร่าง ทั้งไม่อาจยึดถือครอบครองได้อย่างทรัพย์สินทั่วไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้อง แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของเจ้าของเครื่องหมายการค้า เมื่อจำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้องไปแล้ว ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าในสินค้าที่ได้จำหน่ายไปได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องหมายการค้านั้นจากราคาสินค้าที่จำหน่ายไปเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้จำเลยที่ 1 ผู้ซื้อสินค้าซึ่งประกอบการค้าปกตินำสินค้านั้นออกจำหน่ายอีกต่อไปเท่านั้น การซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้องไปดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่จำเลยที่ 1 ในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้อง การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปเพชรในกรอบสี่เหลี่ยมฟ้องจำเลยทั้งสามให้ระงับหรือเลิกใช้เครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยพร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายโดยจำเลยทั้งสามให้การว่าซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้องมาขาย จึงไม่ใช่การก่อการรบกวนสิทธิของจำเลยทั้งสามผู้ซื้อในอันจะครอบครองทรัพย์สินโดยปกติสุขเพราะโจทก์มีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายอันผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 ที่จะเป็นเหตุให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ขายสามารถสอดเข้ามาในคดีเพื่อปฏิเสธการเรียกร้องของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 478 ได้ ส่วนปัญหาว่าใครจะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปเพชรดีกว่ากันเป็นข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ซึ่งมีพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 บัญญัติคุ้มครองเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว และปรากฏตามคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ว่า ผู้ร้องได้ฟ้องโจทก์โดยอ้างว่ามีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปเพชรดีกว่าโจทก์ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยในประเด็นเรื่องเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ว่า คดีของผู้ร้องขาดอายุความ แล้วพิพากษายืนให้ยกฟ้องของผู้ร้อง ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3846/2546 ระหว่าง บริษัททานองหรือตานงแอ๊กกริคัลเจอรัลแมชชีน จำกัด (ซึ่งเป็นชื่อเดิมของบริษัทผู้ร้องในคดีนี้) โจทก์ห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. กิติ – วัฒนา กับพวก จำเลย ผู้ร้องซึ่งเป็นคู่ความเดียวกับโจทก์จะรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันไม่ได้ ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งยกคำร้องสอดของผู้ร้องมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้ผู้ร้องใช้ค่าทนายความในชั้นนี้จำนวน 1,500 บาท แทนโจทก์

Share