คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5697/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่มีเจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป และมาตรา 1375 วรรคสอง การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ในกรณีเช่นนี้จะถือว่าจำเลยทั้งสองได้แย่งการครอบครองก็ต่อเมื่อได้เปลี่ยนลักษณะการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ผู้ครอบครองว่า ตนไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์ต่อไป ดังนั้น การที่ก่อนปี 2539 ระหว่างแนวเขตที่ดินพิพาทมีการปลูกต้นยูคาลิปตัสและนาย จ. บอกฝ่ายจำเลยให้รื้อถอนต้นยูคาลิปตัสกับรั้วลวดหนามออก ไม่ใช่การบอกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือไปยังโจทก์ จึงไม่เป็นการแย่งการครอบครอง แต่เมื่อประมาณกลางเดือนมกราคม 2541 จำเลยทั้งสองได้ทำรั้วลวดหนามอ้างว่าทำขึ้นทดแทนรั้วเดิมซึ่งทรุดโทรมไปแล้วและโจทก์เห็นว่ารั้วดังกล่าวสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ จึงมีการเจรจากับจำเลยทั้งสองให้รื้อรั้วออกไป แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอม ต่อมาโจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้บอกกล่าวไปยังโจทก์ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนมกราคม 2541 แล้วว่าได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจากการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์เป็นการยึดถือครอบครองเพื่อตนเองซึ่งเข้าลักษณะแย่งการครอบครอง เมื่อโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้เพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2542 จึงเป็นการฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์และต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนรั้วออกไปจากที่ดินของโจทก์ และห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกหากไม่สามารถคืนที่ดินได้ให้ใช้ราคาแทน 50,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทห้ามโจทก์เข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทอีก
โจทก์ให้การและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่ความตาย นางสาวสุดใจ ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนออกไปจากที่ดินพิพาทและห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายปีละ 500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะรื้อถอนรั้วออกไปจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท คำขออื่นให้ยกและให้ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนรั้วออกจากที่ดินพิพาท เนื้อที่ 43 ตารางวา ตามแผนที่พิพาทของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมฟ้องและฟ้องแย้งทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน จำเลยที่ 2 เป็นสามีของจำเลยที่ 1 เดิมนายสูน บิดาโจทก์และจำเลยที่ 1 ยกที่ดินมีแบบแจ้งการครอบอครองที่ดิน (ส.ค.1) ให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 โดยที่ดินของโจทก์มีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินของจำเลยทั้งสองทางด้านทิศเหนือ ต่อมาปี 2514 จำเลยที่ 1 ได้ขอออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 64 เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 36 ตารางวา ปี 2519 โจทก์ได้ขอออกหนังสือรับรองทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 132 เนื้อที่ 6 ไร่ 45 ตารางวา วันที่ 23 มีนาคม 2541 ช่างรังวัด กรมที่ดิน ทำการรังวัดที่ดินดังกล่าวซึ่งมีข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองปรากฏตามแนวเขตรั้วเส้นสีเขียวที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ เนื้อที่ 43 ตารางวา ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์
ปัญหาข้อแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยฟังคำเบิกความของนางสาวสุดใจ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และนายขบวน พี่โจทก์ที่เบิกความลอยๆ ว่า โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ แต่ไม่ได้ความว่าเข้าไปทำอะไร อย่างไร ตั้งแต่เมื่อไร ส่วนคำเบิกความของนายเพลิน อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลบ่อนอก ก็ไม่มีตอนใดระบุว่าจำเลยทั้งสองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและเบิกความว่า ตั้งแต่ปี 2513 โจทก์ จำเลยที่ 1 และนายขบวนมีเรื่องพิพาทเกี่ยวกับที่ดินและไม่เคยพูดจากันจนกระทั่งปัจจุบัน จึงเป็นไปไม่ได้ตามที่นางสาวสุดใจเบิกความว่า จำเลยที่ 1 เจรจากับโจทก์ขอทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แสดงว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มีนางสาวสุดใจเป็นพยานเบิกความว่า ปี 2519 โจทก์มาดูเจ้าหน้าที่รังวัดเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) จำเลยที่ 1 เจรจากับโจทก์ขอใช้ที่ดินทำประโยชน์อ้างว่าจะช่วยปลูกต้นมะพร้าวเก็บผลมะพร้าวขายแล้วส่งเงินให้โจทก์เป็นงวดๆ ทำนาในที่ดินพิพาทและเลี้ยงวัว จนถึงประมาณกลางเดือนมกราคม 2541 โจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ทำรั้วรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ และโจทก์มีนายขบวนเบิกความสนับสนุนว่า หลังจากนายขบวนออกไปจากที่ดินของโจทก์ โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 ทำกินในที่ดินโจทก์ ส่วนนายเพลินก็ได้เบิกความยืนยันว่า เมื่อนายขบวนออกจากการอยู่อาศัยในที่ดินของโจทก์ที่นาซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของจำเลยที่ 1 ได้ให้จำเลยทั้งสองดูแล แนวเขตเดิมเป็นคันนากว้างประมาณ 1 เมตร มีแนวต้นมะพร้าวเอนเข้ามาฝั่งของโจทก์ แต่ปัจจุบันคันนามีขนาดเล็กลงจากการถากคันนาฝั่งของจำเลยที่ 1 ต้นมะพร้าวบางส่วนก็ตาม จำเลยที่ 1 ตกลงจะปลูกต้นมะพร้าวให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ทำรั้วพิพาทล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ดังนั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ความแล้วว่า จำเลยทั้งสองเข้าไปทำอะไร อย่างไรตั้งแต่เมื่อไร นอกจากนี้นายสมชาย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลบ่อนอก ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ดินพิพาท พยานจำเลยทั้งสองเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับรองว่าที่ดินที่เป็นสวนมะพร้าวที่พิพาทโจทก์ให้จำเลยทั้งสองทั้งสองเก็บผลมะพร้าวและแบ่งผลประโยชน์ให้แก่โจทก์ เป็นการสนับสนุนให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์อนุญาตให้จำเลยทั้งสองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสองเป็นการครอบครองแทนโจทก์จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อใด จำเลยทั้งสองฎีกาว่า หลังจากบิดาแบ่งที่ดินให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 แล้ว มีการตกลงแบ่งเขตแดนกันแน่นอนไม่มีข้อโต้แย้งกัน หลังจากนั้นมีการทำรั้วลวดหนามกั้นเขตแดน ต่อมาจำเลยที่ 1 ปลูกต้นยูคาลิปตัสตรงแนวรั้วลวดหนาม ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของนายจงกล พยานโจทก์และเป็นบุตรของโจทก์คนที่ 2 ว่าในช่วงปี 2539 พยานใช้ประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ระหว่างแนวเขตที่ดินมีการปลูกต้นยูคาลิปตัสต้นยังเล็กและพยานเคยไปบอกฝ่ายจำเลยให้รื้อถอนต้นยูคาลิปตัสกับรั้วลวดหนามออกไปหลายครั้งก่อนปี 2539 ทั้งพยานดังกล่าวเบิกความอีกว่า ที่ดินของโจทก์ก่อนที่พยานจะเข้าทำประโยชน์นั้นมีญาติทำประโยชน์อยู่ก่อน แต่จำชื่อไม่ได้ แสดงให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ก่อนปี 2539 จำเลยทั้งสองได้แสดงเจตนายึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตนเองหาใช่เพิ่งจะแสดงเจตนายึดถือเพื่อตนเมื่อกลางเดือนมกราคม 2541 ส่วนที่ดินของโจทก์มีญาติโจทก์ทำประโยชน์ ไม่ใช่จำเลยทั้งสองนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้แก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป และมาตรา 1375 วรรคสอง การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครอง ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ในกรณีเช่นนี้จะถือว่าจำเลยทั้งสองได้แย่งการครอบครองก็ต่อเมื่อได้เปลี่ยนลักษณะการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ผู้ครอบครองว่า ตนไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์ต่อไป ดังนั้น การที่ก่อนปี 2539 ระหว่างแนวเขตที่ดินพิพาทมีการปลูกต้นยูคาลิปตัสและนายจงกลบอกฝ่ายจำเลยให้รื้อถอนต้นยูคาลิปตัสกับรั้วลวดหนามออกไม่ใช่การบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือไปยังโจทก์ จึงไม่เป็นการแย่งการครอบครองแต่เมื่อประมาณกลางเดือนมกราคม 2541 จำเลยทั้งสองได้ทำรั้วลวดหนามอ้างว่าทำขึ้นทดแทนรั้วเดิมซึ่งทรุดโทรมไปแล้วและโจทก์เห็นว่ารั้วดังกล่าวสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ จึงมีการเจรจากับจำเลยทั้งสองให้รื้อรั้วออกไป แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมต่อมาโจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้บอกกล่าวไปยังโจทก์ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนมกราคม 2541 แล้วว่าได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจากการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ เป็นการยึดถือครอบครองเพื่อตนเองซึ่งเข้าลักษณะแย่งการครอบครองเมื่อโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้เพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2542 จึงเป็นการฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์และต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share