คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6960/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การทำงานของโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขับรถขนส่งน้ำมันให้จำเลยแม้จะไม่ได้กำหนดเวลาทำงานไว้แต่ก็กำหนดโดยใช้ผลงานเป็นเกณฑ์ ซึ่งการจะทำผลงานให้ได้ตามเกณฑ์ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 45 เที่ยว โจทก์จะต้องมาทำงานภายในช่วงเวลาทำงานที่จำเลยกำหนดไว้นั่นเอง มิได้มีอิสระที่จะปฏิบัติงานในเวลาใดหรือไม่ก็ได้ สินจ้างที่โจทก์ได้รับเป็นรายเที่ยวก็เป็นผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 60 โจทก์จึงเป็นลูกจ้างจำเลยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 และตามสัญญาจ้างแรงงาน และแม้ว่าตามสัญญาขนส่งน้ำมันจะเรียกโจทก์ว่า “ผู้รับจ้าง” และเรียกจำเลยว่า “ผู้ว่าจ้าง” ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างตามกฎหมายไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2542 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งพนักงานขับรถขนส่งน้ำมันโดยจำเลยไม่มีค่าจ้างให้โจทก์ แต่จำเลยจ่ายเพียงค่าตอบแทนในการทำงานเป็นเงินรางวัลพิเศษ เรียกว่า ค่าเที่ยว ซึ่งกำหนดตามระยะทางใกล้ไกลของการปฏิบัติงานแต่ละที่ กำหนดจ่ายเงินดังกล่าวทุกวันที่ 15 และวันที่ 30 จำเลยมีกำหนดวันเวลาทำงานตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ เวลา 15 นาฬิกา เป็นต้นไป จนกว่าจะปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายเสร็จสิ้น นับแต่จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง จำเลยไม่เคยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ จำเลยจ่ายเงินค่าเที่ยวให้แก่โจทก์เท่านั้น ค่าเที่ยวดังกล่าวโจทก์ถือว่ามิใช่ค่าจ้าง ครั้นวันที่ 23 สิงหาคม 2545 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด และจำเลยไม่จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างปกติในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นเงิน 165 บาทต่อวันนับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2542 อันเป็นวันที่โจทก์เริ่มเข้าทำงานกับจำเลยจนถึงวันเลิกจ้าง เป็นเวลา 968 วัน เป็นเงินรวม 159,720 โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาเป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 14,850 บาท มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 22 วัน เป็นเงิน 3,630 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เป็นเงิน 14,850 บาท นอกจากนี้จำเลยต้องคืนเงินประกันการทำงานหรือความเสียหายที่จำเลยได้เรียกหรือรับไว้จากโจทก์นับแต่โจทก์เริ่มเข้าทำงานกับจำเลยจนถึงวันเลิกจ้างจำนวน 46,800 บาท เนื่องจากในระหว่างที่โจทก์ทำงานให้จำเลยนั้นโจทก์ไม่ได้ทำความเสียหายในการทำงานแก่จำเลย อีกทั้งจำเลยยังค้างจ่ายเงินตอบแทนในการทำงาน (ค่าเที่ยว) ของเดือนสิงหาคม 2545 จำนวน 3,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างตามกฎหมาย รวมทั้งจ่ายค่าเที่ยวให้แก่โจทก์ตามอัตราเดิมขณะเลิกจ้าง หากศาลเห็นว่าโจทก์และจำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ เป็นเงิน 14,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยจ่ายค่าค้างรวม 159,720 บาท ค่าชดเชย 14,850บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 3,630 บาท เงินประกัน 46,800 บาท เงินตอบแทนการทำงาน (ค่าเที่ยว) ของเดือนสิงหาคม 2545 จำนวน 3,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินค่าจ้าง ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเงินประกันและเงินตอบแทนการทำงาน (ค่าเที่ยว) ดังกล่าวข้างต้นนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่มีฐานะเป็นนายจ้างจึงไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานโดยจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำและค่าชดเชยหรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยเงินประกัน เงินตอบแทนการทำงาน (ค่าเที่ยว) และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง แต่ได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดจึงขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่วงล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อันเป็นการเรียกร้องสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นิยามคำว่า “นายจ้าง” หมายความถึง ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเจ้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ซึ่งรวมทั้งบุคคลตาม (1) ถึง (3) ด้วย และนิยามคำว่า “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรอันมีความหมายเช่นเดียวกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ซึ่งระบุลักษณะของสัญญาจ้างแรงงานว่า คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ซึ่งมีความหมายว่าลูกจ้างจะต้องตกลงทำงานให้นายจ้างโดยสมัครใจเพื่อแลกเปลี่ยนกับค่าจ้างที่นายจ้างเป็นผู้จ่ายให้เป็นการตอบแทนแก่แรงงานของลูกจ้างนั้น แต่การพิจารณาว่าโจทก์และจำเลยเป็นนายจ้างและลูกจ้างกันหรือไม่นั้นนอกจากจะพิจารณาว่าโจทก์และจำเลยมีความสัมพันธ์กันดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ดั่งว่ามาแล้ว ยังจะต้องปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่าโจทก์อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาโดยต้องปฏิบัติตามคำสั่งระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ด้วย ดังนั้นแม้ศาลแรงงานกลางจะฟังข้อเท็จจริง ในทางปฏิบัติของการทำงานจะเรียกโจทก์หรือพนักงานขับรถบรรทุกขนส่งน้ำมันรายอื่นๆ ว่า “ผู้บริการจัดส่งน้ำมัน” หรือ “ผบจ.” ซึ่งมีวิธีทำงานในแต่ละวันผู้บริการขนส่งน้ำมันจะมาลงชื่อที่คลังน้ำมันของบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่เวลาประมาณ 18 นาฬิกา โดยมีลูกจ้างจำเลยทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจนับผู้บริการขนส่งน้ำมันเพื่อจับฉลากรับงานขนส่งน้ำมันตามที่บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ออกใบสั่งงานให้แก่จำเลย ผู้บริการขนส่งน้ำมันแต่ละรายจะได้เที่ยวงานมากน้อยแตกต่างกันไปตามที่จับฉลากได้ และสามารถแลกเปลี่ยนงานกับผู้บริการขนส่งน้ำมันรถยนต์อื่นได้ อัตราค่าเที่ยวขนส่งขั้นต่ำเที่ยวละ 250 บาท วันใดที่ไม่มาทำงานจะต้องแจ้งเพื่อให้จำเลยทราบและบันทึกในสมุดแจ้งการหยุดงาน แต่ไม่ต้องยื่นใบลาตามแบบการลาของจำเลย โดยจำเลยมิได้กำหนดให้หยุดงานสัปดาห์หรือปีละกี่วัน แต่ยังปรากฏข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางว่า ในการทำงานโจทก์จะต้องเขียนใบสมัครงานตามเอกสารหมาย ล.7 แล้วจำเลยจะตรวจสอบเอกสารเบื้องต้นว่ามีความเหมาะสมที่จะป็นผู้บริการจัดส่งน้ำมันหรือไม่ จากนั้นจะต้องทำสัญญาขนส่งน้ำมันตามเอกสารหมาย ล.3 การทำงานจำเลยจะแจ้งให้โจทก์ปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมัน ของส่วนคลังและขนส่ง บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เอกสารหมาย ล.4 ซึ่งจะได้รับแจกหลังจากผ่านการอบรมจากส่วนคลังและขนส่ง บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) แล้ว และจะต้องปฏิบัติงานภายใต้ประกาศบริษัทบางจากกรีนไลน์ จำกัด เรื่องระเบียบปฏิบัติและบทลงโทษสำหรับผู้บริการจัดส่งเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาวันที่ 1 มกราคม 2546 จำเลยประกาศใช้ขัอบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งเมื่อพิจารณาใบสมัครงานเอกสารหมาย จ.7 หน้า 4 มีข้อความระบุว่า “หากข้าพเจ้าได้ทำงานในบริษัทบางจากกรีนไลน์ จำกัด แล้วและข้าพเจ้าต้องพ้นจากงานไม่ว่ากรณีใดๆ ข้าพเจ้ายินยอมให้บริษัทบางจากกรีนไลน์ จำกัด หักเงินที่ข้าพเจ้ามีสิทธิได้รับชดใช้หนี้สินให้แก่บริษัทบางจากกรีนไลน์ จำกัด” และมีข้อความระบุต่อไปว่า “ข้าพเจ้าขอรับรองว่า ก. จะปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของบริษัทบางจากกรีนไลน์ จำกัด ที่ใช้บังคับอยู่แล้ว หรือที่จะออกใช้บังคับต่อไปภายหน้าโดยเคร่งครัด ข. ข้อความที่แจ้งในใบสมัครนี้เป็นความจริงทุกประการ หากสืบทราบภายหลังว่าข้อความที่แจ้งไว้ข้างต้นข้อหนึ่งข้อใดไม่เป็นความจริงข้าพเจ้ายินยอมให้เลิกจ้างได้โดยทันที โดยข้าพเจ้าไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้น” ตามใบสมัครงานเอกงานหมาย ล.7 ดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่าโจทก์จะต้องทำงานภายใต้ระเบียบและคำสั่งของจำเลยที่ใช้บังคับอยู่ในขณะสมัครงานหรือที่จะออกใช้บังคับต่อไปของจำเลย นอกจากนั้นสัญญาขนส่งน้ำมันเอกสารหมาย ล.3 ข้อ 1.2 และข้อ 3.4 ยังระบุข้อความทำนองเดียวกันว่าผู้รับจ้างยินยอมปฎิบัติตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์หรือระเบียบในการปฏิบัติงานอันเกี่ยวกับการขับรถขนส่งน้ำมันตามสัญญานี้ หรือที่จะได้กำหนดเพิ่มเติมต่อไปภายหน้า เป็นการแสดงให้เห็นว่าในการปฏิบัติงานของโจทก์มิได้ปฏิบัติได้โดยอิสระแต่ยังคงต้องอยู่ภายใต้ระเบียบ คำสั่งกฎเกณฑ์ ข้อบังคับของจำเลยทั้งที่ระบุไว้ในขณะทำสัญญาซึ่งหมายถึงเงื่อนไขของสัญญาขนส่งน้ำมันเอกสารหมาย ล.3 ดังกล่าวและที่จำเลยจะใช้บังคับต่อไปด้วย ซึ่งหมายความรวมถึงการปฏิบัติงานภายใต้ระเบียบปฏิบัติการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมัน ส่วนคลังและขนส่ง บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เอกสารหมาย ล.4 ซึ่งแม้จะเป็นระเบียบปฏิบัติที่ออกโดยบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) แต่ระเบียบดังกล่าวจะต้องใช้บังคับแก่ผู้บริการจัดส่งน้ำมันทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วย และจำเลยได้แจ้งให้ผู้บริการจัดส่งน้ำมันยึดถือปฏิบัติโดยถือเสมือนว่าเป็นระเบียบที่จำเลยออกใช้บังคับแก่ผู้บริการจัดส่งน้ำมันเอง และในรายละเอียดของระเบียบดังกล่าวระบุบังคับการปฏิบัติตนของผู้บริการจัดส่งน้ำมันไม่เพียงแต่ขั้นตอนการปฏิบัติงานทั่วไปแต่ยังรวมถึงความประพฤติส่วนตัว อาทิ ห้ามการเล่นการพนัน ทะเลาะวิวาทหรือต้องมีกริยามารยาทที่เรียบร้อยในการทำงาน และจำเลยยังได้นำความจากระเบียบปฏิบัติการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมัน ส่วนคลังและขนส่ง บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เอกสารหมาย ล.4 ในข้อสำคัญมากำหนดเป็นระเบียบที่ใช้บังคับแก่ผู้บริการจัดส่งน้ำมันอีกด้วยตามประกาศบริษัทบางจากกรีนไลน์ จำกัด (มหาชน) เรื่อง ระเบียบปฏิบัติและบทลงโทษสำหรับผู้บริการจัดส่ง เอกสารหมาย จ.3 นอกจากนั้นตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย จ.8 ที่จำเลยประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม 2546 ก็ระบุถึงลูกจ้างงานขนส่งที่มีการปฏิบัติงานลักษณะเดียวกันกับผู้บริการจัดส่งน้ำมันไว้ด้วย ดังนั้น การทำงานของโจทก์ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้บริการจัดส่งน้ำมันจึงอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของจำเลยทั้งโดยระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยโดยตรงและภายใต้ระเบียบปฏิบัติของบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่จำเลยให้ใช้บังคับแก่ผู้บริการจัดส่งน้ำมันด้วย ส่วนที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่มีเวลาทำงานปกติจะเข้าทำงานหรือไม่ก็ได้ หากขาด ลา มาสาย ก็ไม่มีมาตรการลงโทษอย่างไรนั้น ก็ปรากฏตามสัญญาขนส่งน้ำมันเอกสารหมาย ล.3 ข้อ 5.3 วรรคสอง ที่ผู้บริการจัดส่งน้ำมันจะต้องขนส่งน้ำมันได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 45 เที่ยว มิฉะนั้นจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ดังนั้นการทำงานของโจทก์แม้จะไม่ได้กำหนดเวลาทำงานไว้แต่ก็กำหนดโดยใช้ผลงานเป็นเกณฑ์ ซึ่งการจะทำผลงานให้ได้ตามเกณฑ์ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 45 เที่ยว โจทก์ก็จะต้องมาทำงานภายในช่วงเวลาทำงานที่จำเลยกำหนดไว้นั่นเอง มิได้มีอิสระที่จะปฏิบัติงานในเวลาใดหรือไม่ก็ได้แต่อย่างใด สินจ้างที่โจทก์ได้รับเป็นรายเที่ยวก็เป็นผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 60 โจทก์จึงเป็นลูกจ้างจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 และตามสัญญาจ้างแรงงาน และแม้ว่าตามสัญญาขนส่งน้ำมันจะเรียกโจทก์ว่า “ผู้รับจ้าง” และเรียกจำเลยว่า “ผู้ว่าจ้าง” ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างตามกฎหมายไปได้ สำหรับปัญหาว่าจำเลยจะต้องจ่ายค่าจ้างค้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เงินประกัน เงินตอบแทนการทำงาน (ค่าเที่ยว) และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่นั้น จำเลยให้การว่าโจทก์มีพฤติกรรมและมารยาทไม่เหมาะสมและส่งมอบน้ำมันผิดสถานที่ลงน้ำมันผิดถังทำให้จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ลูกค้านั้น ศาลแรงงานกลางยังมิได้ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยในปัญหานี้เห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงหรือสืบพยานโจทก์จำเลยเพื่อฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31″
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงในปัญหาที่ยังมิได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share