คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1187/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวันที่ 27 กันยายน 2523 แล้ว โจทก์ยังคงยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินและจำเลยที่ 1 ก็นำเงินเข้าหักทอนบัญชีต่อมาอีกหลายครั้ง ถือว่ามีการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาแต่ต่อมาปรากฏตามบัญชีว่า โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1ถอนเงินโดยการโอนครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2526หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1เบิกหรือถอนเงินต่อไป ส่วนจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้นำเงินเข้าหักทอนบัญชีอีก ดังนี้ แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ว่าไม่ประสงค์จะให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างกันต่อไป และหลังจากโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 ถอนเงินครั้งสุดท้ายดังกล่าวแล้ว ต่อมาโจทก์ได้คิดหักทอนบัญชีในวันที่ 28 ตุลาคม 2526 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เป็นเงิน 1,878,616.82 บาทซึ่งถือได้ว่าเป็นการคิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายภายหลังจากที่ไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อกัน พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่มีต่อกันสิ้นสุดลงในวันที่ 28 ตุลาคม 2526 โจทก์ย่อมบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2526 เป็นต้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 26 สิงหาคม 2537 ซึ่งเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 กับที่ 3ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงขาดอายุความ จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประกันหนี้จำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ในวงเงิน 555,000 บาทและยอมให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงินที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3จดทะเบียนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประกันหนี้จำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในวงเงิน 445,000 บาท และยอมให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เมื่อบังคับจำนองเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองขายทอดตลาดได้เงินน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมรับผิดใช้เงินที่ขาดจำนวนให้โจทก์จนครบ ดังนี้แม้หนี้ของจำเลยที่ 1ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำนองทรัพย์สินเป็นประกันจะขาดอายุความ แต่กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27และมาตรา 745 กล่าวคือโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้เมื่อหนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังเกินกว่าห้าปีไม่ได้โจทก์จึงยังมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจำนองได้ แต่คงบังคับได้เฉพาะจากทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จำนองแก่โจทก์ไว้เท่านั้น จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นอีกหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 9,871,813.53 บาท ให้โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน 8,424,624.59 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จสิ้น ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 819,958.90 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 700,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จสิ้นและให้จำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ไถ่ถอนจำนองทรัพย์ที่จำนองไปจากโจทก์โดยการชำระเงินตามฟ้อง หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติให้ยึดทรัพย์สินจำนองของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ให้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้จำเลยทั้งสามชดใช้ส่วนที่ยังขาดอยู่จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีนี้ สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีกำหนดเวลาสิ้นสุดไว้แน่ชัด และจำเลยที่ 1 เดินสะพัดทางบัญชีครั้งสุดท้ายวันที่30 พฤษภาคม 2526 หลังจากนั้นไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีอีกเลย ต้องเริ่มนับอายุความแต่วันดังกล่าว แต่โจทก์มาฟ้องคดีนี้เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี คดีขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันชำระเงิน 9,871,813.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปีของต้นเงิน 8,424,624.59 บาท และให้จำเลยที่ 3ร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 819,958.90 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 700,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ให้นำทรัพย์จำนองคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 2,3, 4, 5 และ 27 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 288พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้จำเลยทั้งสามชำระส่วนที่ยังขาดจนครบ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามฎีกาข้อเดียวว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะโจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 10 ปี นับแต่วันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงข้อนี้นายศุภชัย ญาณประภาส พยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อครบกำหนดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้วจำเลยที่ 1 ยังเบิกเงินเกินบัญชีต่อไป และเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านว่า ตามสำเนาบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2526 จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าฝากครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นไม่มีรายการฝากเงินอีกจนถึงวันฟ้องเช่นเดียวกับเอกสารหมาย จ.20 นายเชาวลิต พุทธภิญโญพยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าตามบัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.20 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีครั้งสุดท้ายวันที่ 30 พฤษภาคม 2526 และมีการโอนเงินถอนออกจากบัญชีครั้งสุดท้ายวันที่ 26 ตุลาคม 2526ส่วนจำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2518จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันกับธนาคารโจทก์ สาขาประตูท่าแพโดยวิธีฝากและถอนเงินด้วยเช็ค บัญชีของจำเลยที่ 1 เดินสะพัดตลอดมา จนถึงครั้งสุดท้ายวันที่ 30 พฤษภาคม 2526 จำเลยที่ 1นำเงินเข้าบัญชี 60,000 บาท หลังจากนั้นไม่มีการฝากหรือถอนเงินจากบัญชีอีกเลย ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.20 เห็นว่าตามบัญชีเดินสะพัดเอกสารหมาย จ.20 หรือ ล.1 เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.4 ในวันที่ 27 กันยายน 2523 แล้ว โจทก์ยังคงยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินและจำเลยที่ 1 ก็นำเงินเข้าหักทอนบัญชีต่อมาอีกหลายครั้งถือว่ามีการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาแต่ต่อมาปรากฏตามบัญชีเอกสารหมาย จ.20 ว่าโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 ถอนเงินโดยการโอนครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่26 ตุลาคม 2526 หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1เบิกหรือถอนเงินต่อไป ส่วนจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้นำเงินเข้าหักทอนบัญชีอีก ดังนี้แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ว่าไม่ประสงค์จะให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างกันต่อไปและหลังจากโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 ถอนเงินครั้งสุดท้ายดังกล่าวแล้วต่อมาโจทก์ได้คิดหักทอนบัญชีในวันที่ 28 ตุลาคม 2526ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เป็นเงิน 1,878,616.82 บาทซึ่งถือได้ว่าเป็นการคิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายภายหลังจากที่ไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อกัน พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่มีต่อกันสิ้นสุดลงในวันที่ 28 ตุลาคม 2526 โจทก์ย่อมบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่29 ตุลาคม 2526 เป็นต้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ วันที่ 26 สิงหาคม 2537 ซึ่งเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงขาดอายุความ
แต่สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ทำสัญญาจำนองทรัพย์สินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 นั้น ปรากฏว่าในชั้นอุทธรณ์โจทก์อุทธรณ์ด้วยว่า หนี้รายนี้มีการจำนองทรัพย์สินเป็นหลักประกันแม้จะจำนองกันมานานเกิน 10 ปี หลักประกันจำนองก็ยังมีอยู่จนกว่าจะได้มีการไถ่ถอนจำนอง คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความแต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังไม่ได้วินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษาใหม่ปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบโดยจำเลยที่ 2และที่ 3 ไม่ได้นำสืบโต้แย้งว่า จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประกันหนี้จำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ในวงเงิน555,000 บาท และยอมให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงินที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประกันหนี้จำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในวงเงิน 445,000 บาท และยอมให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี จากต้นเงินที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ เมื่อบังคับจำนองเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองขายทอดตลาดได้เงินน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมรับผิดใช้เงินที่ขาดจำนวนให้โจทก์จนครบ เห็นว่าแม้หนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2และที่ 3 จำนองทรัพย์สินเป็นประกันจะขาดอายุความตามที่วินิจฉัยข้างต้น แต่กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/27 และมาตรา 745 กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้เมื่อหนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังเกินกว่าห้าปีไม่ได้ โจทก์จึงยังมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจำนองได้ แต่คงบังคับได้เฉพาะจากทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จำนองแก่โจทก์ไว้เท่านั้น ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นจะบังคับจากทรัพย์สินอื่นอีกหาได้ไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 555,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลาห้าปีกับนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ และให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน445,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลาห้าปีกับนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ชำระ ให้ยึดเฉพาะทรัพย์จำนองคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 2, 3, 4, 5 และ 27 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 288 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1

Share