คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 699/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้หมายเรียก จำเลยร่วมที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลย เพราะบุคคลทั้งสี่อ้างว่าเป็นญาติและบริวารของจำเลยได้บุกรุกเข้าไปปลูกบ้านเรือนในที่ดินพิพาทคนละหลัง ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้หมายเรียกบุคคลทั้งสี่เข้ามาเป็นจำเลยร่วมโดยกำหนดให้ยื่นคำให้การแก้คดีภายในกำหนด 15 วัน ในการส่งหมายเรียกดังกล่าวเจ้าพนักงานศาลได้นำหมายเรียกและสำเนาคำร้องสอดไปส่งให้แก่จำเลยร่วมที่ 1 โดยจำเลยร่วมที่ 1 ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำร้องสอดไว้แทนจำเลยร่วมที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 แต่จำเลยร่วมที่ 4 มีบ้านอยู่ต่างหากจากบ้านของจำเลยร่วมที่ 1 ดังนี้เมื่อจำเลยร่วมที่ 4 ถูกหมายเรียกให้เข้ามาในคดีตามคำร้องขอของโจทก์ เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนตาม ป.วิ.พ.มาตรา 57 (3) ดังนั้น จำเลยร่วมที่ 4 จึงมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ทั้งมีสิทธิที่อาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดงคัดค้านเอกสารที่ได้ยื่นไว้ ถามค้านพยานที่ได้สืบมาแล้ว และคัดค้านพยานหลักฐานของโจทก์ที่ได้สืบไปแล้วก่อนที่ตนได้ร้องสอด ตามมาตรา 58 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยร่วมที่ 4 มิได้แต่งตั้ง ส.ให้เป็นทนายความของตน การที่ ส.ได้แถลงยอมรับว่าจำเลยร่วมที่ 4 เป็นบริวารของจำเลยและแถลงไม่ติดใจสืบพยานจึงย่อมไม่มีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นและในศาลอุทธรณ์แทนจำเลยร่วมที่ 4 ได้ และเมื่อการกระทำของ ส.ดังกล่าวเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นเชื่อว่า ส.มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยร่วมที่ 4 ได้ อันเป็นการไม่ชอบ จึงไม่ได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยร่วมที่ 4 ทราบต่อ ๆ มาอีก กรณีจึงถือได้ว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์และจำเลยร่วมที่ 4 โดยให้จำเลยร่วมที่ 4 ยื่นคำให้การใหม่แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตามมาตรา 243 (2)ประกอบมาตรา 247
แม้โจทก์จะเคยเป็นทนายความแก้ต่างให้แก่ น.ในคดีที่จำเลยฟ้อง น.กับพวกขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่คดีดังกล่าวจำเลยถอนฟ้อง น.ไปแล้ว และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นฟ้อง น.ในภายหลังเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก ซึ่งแสดงว่าจำเลยไม่ติดใจโต้แย้งสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินแปลงพิพาทของ น.อีกต่อไป การที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทของ น.ในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลในกรณีเช่นว่านี้ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต โจทก์จึงได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ.มาตรา 1330

Share